posttoday

การศึกษาเศรษฐศาสตร์ในเชิงวิถีพุทธ (ตอน ๑๒)

13 กันยายน 2554

จะทำอย่างไรจึงจะสังเคราะห์เศรษฐ ศาสตร์ในเชิงวิถีพุทธ

 โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : จะทำอย่างไรจึงจะสังเคราะห์เศรษฐ ศาสตร์ในเชิงวิถีพุทธ ว่าพระพุทธศาสนามีโครงสร้างหลักธรรมอย่างไรและจะชี้ให้เห็นโครงสร้างความสัมพันธ์ของพุทธศาสน์กับปรัชญาการดำเนินชีวิต เพื่อความพรั่งพร้อมแห่งสุขภาวะของมนุษย์ได้อย่างไร เพื่อให้เราสามารถนำเศรษฐศาสตร์ไปสู่เศรษฐธรรมสำหรับสรรค์สร้างสังคมให้ได้มีความสุขอย่างยั่งยืน

ขออาราธนาหลวงพ่อได้วิสัชนาให้สาธุชนทั้งหลายได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันด้วยค่ะ

ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร

รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิสัชนา : บริหารคน :

การบริหารคนใช้กระบวนธรรมจากพระสูตรต่างๆ อันได้แก่ อปริหานิยธรรมและสาราณียธรรม โดยมีผลสัมฤทธิ์ของการบริหารคน คือ ความยุติธรรม ให้คนเข้าถึงซึ่งนิยามเบื้องต้นของความสามัคคีและมีส่วนร่วมของภาคสังคมสูงขึ้น ในเชิงเอื้ออาทรมากขึ้น กล่าวคือ คนจะมีความใจกว้างสังวิภาโค มีความเมตตา มีไมตรีจิตต่อกัน ทำให้บุคคลคำนึงถึงความสุขขององค์กรร่วมขึ้น คือหลักความสงเคราะห์ต่อกัน ประชาคมรู้จักหลักแห่งการสงเคราะห์โดยธรรมยิ่งขึ้น ตามหลักสังคหวัตถุ แม้ประชาชนจะมั่งมีอยู่ในวัตถุ สังคมก็จะอยู่ร่วมกันได้

บริหารงาน :

ในการบริหารงานต้องใช้ความสัมพันธ์ทั้งสองฐาน เพื่อจัดกระบวนการสำหรับการบริหารตนและบริหารคน โดยการสร้างดุลยภาพของการบริหารงานเพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการนี้คือ หลักแห่งความสันโดษ ที่เข้าไปสู่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยธรรมที่ใช้คือ หลักสิงคาลกสุตตังและมังคลสุตตัง และควบคุมโดยหัวใจธรรม คือ ปาติโมกข์ เท่ากับว่าตรงนี้คือพระธรรมวินัย

โดยสภาพของเครื่องมือการปฏิบัติ ใช้หลักมัชฌิมาปฏิปทา ในความหมายที่สร้างสรรค์กับโลก คือไม่สุดโต่งกับโลก ไม่ยึดกับส่วนใดส่วนหนึ่ง มีความพอดี มีความหมายคือ แบ่งปัน เฉลี่ย การกระจายรายได้ กระจายโอกาสของตนเอง แม้กระทั่งในนามธรรม คือ กระจายโอกาสให้กับผู้อื่น สิ่งหนึ่งที่พระพุทธศาสนาสอนมากคือการกระจายโอกาสให้กับผู้อื่น นี่คือสิ่งที่ทางโลกไม่ค่อยสอนกัน

แต่พระพุทธศาสนาที่เน้นการกระจายและให้โอกาสกับผู้อื่น ซึ่งสร้างสรรค์และก่อให้เกิดดุลยภาพขึ้นในสังคม มิเช่นนั้น ก็จะกดทับให้เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ฉะนั้น ในการกระจายโอกาสนั้น ใช้พลังธรรมที่เรียกว่า พละ ๕ ซึ่งกระจายความเสมอภาคระหว่างความศรัทธากับปัญญา ระหว่างวิริยะ ตั้งมั่นกับสมาธิ ตั้งแต่วิริยะ ตั้งมั่น ถ้าศรัทธามากไป ปัญญาจะตก ถ้าสมาธิมากไป ความเพียรก็จะตก การกระจายอย่างมีความสมดุลนี้ เป็นการเผื่อแผ่เจือจานผู้อื่น เมื่อเรามีความรู้สึกที่ดี มีความรู้ มีอาหารก็แบ่งปัน มีสิ่งดีๆ ก็ต้องแบ่งปัน กระจายกันไป

นั่นคือ กระบวนการสังคหวัตถุ คือการให้เมื่อกล่าวว่า “งาน” คือ งานที่สร้างสรรค์สังคมให้ประโยชน์ สุขต่อภาคสังคม โดยรวมแล้วผลสัมฤทธิ์ของการ บริหารงานคือ เป็นงานที่สร้างสรรค์เชิงอนุรักษ์ เป็นงานที่ทำให้เกิดพัฒนาการอย่างยั่งยืน เป็นกระบวนการพัฒนาการเชิงอนุรักษ์และยั่งยืน ฉะนั้น งานนี้จึงสร้างสรรค์ชีวิตให้เข้าใจถึงสภาพธรรมที่เป็นจริง นั่นคือ เป็นงานที่ให้ผลตอบแทนคืนกลับ คือ การสร้างสรรค์เพื่อความสันติสุข

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้