posttoday

ชาวพุทธไทย นอร์เวย์ เปิดวัดทำบุญ

07 สิงหาคม 2554

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2554 เวลา 13.00-15.00 น. พระจงหัชพัฒน์ กุลธโร พรรษา 10 อายุ 33 ปี

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2554 เวลา 13.00-15.00 น. พระจงหัชพัฒน์ กุลธโร พรรษา 10 อายุ 33 ปี

เปิดวัดพระธรรมกายเขต Hillestad นอร์เวย์ ให้ชาวนอร์เวย์และชาวไทยมาแสดงความไว้อาลัยแด่ประชาชนชาวนอร์เวย์ที่เสียชีวิตจากการระเบิดอาคารศูนย์ราชการนอร์เวย์และสังหารหมู่ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 76 คน เป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในดินแดนที่สงบสุข เป็นสถานที่ที่ประกาศและมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่มีชื่อเสียงเป็นเวลา 100 กว่าปีมาแล้ว

โศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดจากการกระทำของชาวนอร์เวย์เพียงคนเดียว คือนายเบห์ริง เบรวิก แต่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก ชาวพุทธจึงไม่นิ่งนอนใจ จัดทำบุญเปิดวัดเพื่อแสดงความอาลัยแก่ผู้เสียชีวิต โดยผู้ร่วมไว้อาลัยมีทั้งชาวไทยและนอร์เวย์ ทำให้วัดและชุมชนชาวไทย ชาวพุทธเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

พระจงหัชพัฒน์ กุลธโร ซึ่งทำหน้าที่เจ้าอาวาส มีความสามารถในการใช้ภาษานอร์เวย์และภาษาอังกฤษอย่างดีได้กล่าวคำไว้อาลัย และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนำไปรายงานมีความว่า พวกเราเชื่อว่าผู้กระทำความผิดขาดความสงบสุขและสันติภาพภายในใจ หากมนุษย์มีความสงบและสามารถควบคุมจิตใจตนเองได้ ก็จะไม่เกิดการกระทำเช่นนี้

รายงานที่พระจงหัชพัฒน์ กุลธโร จัดทำและส่งมาให้เฉพาะ นสพ.โพสต์ทูเดย์ มีความว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา วัดพระธรรมกายนอร์เวย์จัดงานไว้อาลัยและอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์ในเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมา

โดยเปิดโอกาสให้ชาวนอร์เวย์และชาวไทยได้มาร่วมวางดอกไม้ จุดเทียน ในบริเวณงานได้มีป้ายแสดงภาพผู้เสียชีวิตและข้อความแสดงการไว้อาลัยว่า

Hvil i Fred หรือ Rest in peace หมายถึง ขอให้จากไปอย่างสงบ หรือไปสู่สุคติ

Vi vil at dere skal vite at vaํre tanker er hos dere. หมายความว่า ขอให้เธอ (ผู้วายชนม์) ได้รับรู้ว่า ใจของพวกเรายังคงระลึกถึงพวกเธออยู่

รวมทั้งบอร์ดสำหรับลงชื่อผู้มาร่วมงาน

ในงานนี้ สาธุชนชาวพุทธได้ให้การต้อนรับชาวนอร์เวย์และผู้มาร่วมงานทุกท่านเป็นอย่างดี ได้แก่ การจัดเลี้ยงอาหารไทยซึ่งเป็นที่นิยม เช่น เปาะเปี๊ยะทอด เส้นหมี่ผัด เป็นต้น รวมทั้งพาชมโบสถ์ สถานที่พักรับรอง และห้องสมุดของวัด ทำให้บรรยากาศในการต้อนรับเต็มไปด้วยความอบอุ่นและประทับใจ

 

ชาวพุทธไทย นอร์เวย์ เปิดวัดทำบุญ

บุคคลสำคัญมาร่วมงานนี้หลายท่าน ได้แก่ ผู้บริหารอาคารเดิม เป็นหัวหน้าคณะกรรมการของโบสถ์คริสต์ในเมืองโฮลเมสแตรนด์ ที่ขายอาคารและที่ดินให้กับวัดพระธรรมกายนอร์เวย์

คุณโคเระ อา รีเอะ นักแปล แต่งหนังสือและเขียนบทความธรรม ที่มีผลงานมากที่สุดในนอร์เวย์ ได้นำหนังสือมาบริจาคให้ ซึ่งนับว่ามีมูลค่ามาก และอนุญาตให้ใช้คำหรือข้อความที่เคยแปลไว้ในหนังสือได้เท่าที่ต้องการ หากจะผลิตสื่อธรรมเล่มอื่นๆ ในนามของวัดพระธรรมกายนอร์เวย์

คุณครูชาวนอร์เวย์ชื่อ เกรตเตอร์ ซึ่งช่วยส่งเสริมให้พระจงหัชพัฒน์ กุลธโร ได้สอบผ่านระดับสูงสุดของภาษานอร์เวย์สำหรับผู้ใหญ่ในเวลาเพียง 6 เดือน และครูก็เกษียณไปหลังจากนั้น มาพร้อมกับบุตรสาวซึ่งสนใจการนั่งสมาธิ

ชาวนอร์เวย์ที่อยู่ในละแวกข้างเคียงหลายท่านก็ได้พาบุตรหลานมากันทั้งครอบครัว ตลอดจนสามีและญาติมิตรของคนไทยอีกหลายท่าน รวมทั้งคุณปาลิตา ซิเวสเซน ผู้เขียนหนังสือพจนานุกรมไทยนอร์เวย์ ซึ่งได้วางจำหน่ายทั่วประเทศนอร์เวย์ในขณะนี้

นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ชาวนอร์เวย์ทุกท่านได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมกับทางวัดในพระพุทธศาสนาของเรา ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่จะสร้างความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศนอร์เวย์ และทำให้ชุมชนชาวไทยพุทธได้รับการยอมรับในสังคมนอร์เวย์ยิ่งๆ ขึ้นไป

วัดพระธรรมกายนอร์เวย์ เป็นวัดชาวพุทธก่อตั้งเมื่อไม่นาน ห่างจากออสโล เมืองหลวง ใช้เวลาขับรถประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าไม่ไกล สภาพทั่วไปของวัดผู้คนไม่พลุกพล่าน เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม เป็นอาคาร 2 ชั้น มีที่พักญาติโยมผู้ปฏิบัติธรรม ที่พักของพระสงฆ์ อุโบสถ และเป็นห้องประชุมด้วย ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 400 ตารางเมตร แวดล้อมด้วยเพื่อนบ้านที่เป็นกัลยาณมิตร แต่ก่อนที่ทางวัดจะซื้อที่แปลงเป็นวัดนั้น สถานที่ตรงนี้เคยเป็นคลับของชุมชนมาก่อน เมื่อจัดกิจกรรม งานสร้างบุญสร้างกุศลมีผู้คนมาก จึงไม่มีปัญหาขัดข้องใดๆ ทั้งจากกฎระเบียบราชการและเพื่อนบ้าน

พระจงหัชพัฒน์ กุลธโร เกิดวันที่ 17 เม.ย. 2521 อุปสมบท 4 ก.ค. 2544 หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยปฏิบัติศาสนกิจที่ญี่ปุ่นระยะหนึ่ง และมาอยู่ที่นอร์เวย์จนถึงปัจจุบัน กล่าวว่า ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่เงียบสงบ ได้รับจัดอันอันดับว่าเป็นประเทศที่มีสันติภาพอันดับ 1 ของโลกหลายปีติดต่อกัน แต่มาตกอันดับเมื่อมีผู้อพยพเข้ามามาก เนื่องจากนอร์เวย์หลังจากปี ค.ศ. 1967 เขาค้นพบน้ำมันและไม่เป็นเมืองขึ้นของเดนมาร์กและสวีเดน จึงเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก ประกอบกับเปิด เชนเกน (Schengen) ทำให้ชาวยุโรปจากประเทศที่ยากจนกว่าเข้ามามาก เริ่มมีปัญหาอาชญากรรมและโจรกรรมมากขึ้น จากประเทศที่มีสันติภาพเป็นอันดับ 1 ก็ต้องตกอันดับลงมาเรื่อยๆ

นอกจากวัดพระธรรมกายแล้ว ยังมีวัดไทยนอร์เวย์ สาขาวัดสระเกศ อยู่อีก 1 วัด ตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2540