posttoday

กรรมฐานใหญ่ พระอาจารย์บุญจันทร์ กมโล สมถวิปัสสนาภาวนา (1 )

31 กรกฎาคม 2554

วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ เป็นวันอันพุทธบริษัททั้งหลายมุ่งหน้าเข้ามาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติคุณงามความดี

วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ เป็นวันอันพุทธบริษัททั้งหลายมุ่งหน้าเข้ามาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติคุณงามความดี

คือ มีทาน ท่านเราก็ได้ให้ไปแล้ว ศีลเราก็ได้วิรัติ เจตนาวิรัติเอาแล้ว ทั้งสองอย่างนี้ ก็พากันกระทำมาแล้ว เพราะเหตุอะไร พวกเราจึงได้ทำทาน จึงอยากจะทำทาน จึงอยากรักษาศีล อันนี้เป็นเบื้องต้นของเรา ที่เรามีความปรารถนาอยากจะฝึกหัดดัดกาย วาจา และใจของตน เพื่อให้เป็นแนวทางที่จะไปสู่สุคติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่างคนต่างละบ้านช่องของตนออกมา แม้จะมีกิจการมากเท่าไรก็ตาม ก็อุตส่าห์พยายามปลีกตัวออกมา เพื่อจะบำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญภาวนา ว่าอย่างนั้น

ทานคือสิ่งที่เป็นวัตถุภายนอก ได้แก่ ข้าว น้ำ โภชนา อาหาร หรือเครื่องใช้สอยต่างๆ มีผ้านุ่งผ้าห่ม เป็นต้น นี่เรียกว่าเป็นการให้ทาน ส่วนการรักษาศีล ก็มีรักษากาย วาจา ใจ ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าท่านกล่าวไว้ มีหลายประเภทสำหรับศีล เบญศีล นี่อย่างหนึ่ง

เบญจศีลก็คือ ศีลห้า ที่เราเคยสมาทานกันมาแล้ว หรือผู้ที่ไม่สมาทาน จะเจตนาวิรัติเอาก็ได้ เจตนาวิรัตินั้นว่าอย่างไร เจตนาหัง ภิกขะเว สีลัง วันทามี วันนี้ข้าพเจ้าจะรักษาศีล แล้วแต่ความประสงค์ของเรา จะวิรัติเอาศีล เบญจศีลก็ได้ คือ ศีลห้า หรือจะวิรัติเอาศีลอุโบสถคือศีลแปดก็ได้

นี้ไม่ยาก ถ้าหากว่าเรามีความประสงค์ที่จะฝึกหัดดัดตน หรือชำระจิตใจของตนให้ผ่องใส

ส่วนสำคัญก็มีใจนั่นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านว่า ศีล 227 นี้ เป็นศีลของพระปาฏิโมกข์ ศีลของพระ ศีล 10 เป็นศีลของสามเณร ศีล 8 เป็นศีลของฆราวาส หรือเป็นของแม่ชีก็ได้ เป็นของอุบาสก อุบาสิกา นี่เป็นหน้าที่ของพวกเรา ที่ไม่มีความสามารถที่จะรักษาศีล 227 ได้ เราได้แค่นี้ก็ยังเป็นการดี นี่แหละพวกเราได้พากันกระทำมาเป็นนิตย์ หรือทุกวันพระ ที่เราพากันกระทำมาอย่างที่ว่า ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ชำระจิตใจของพวกเราทั้งสิ้น

การให้ทานก็ชำระมัจฉริยะความตระหนี่ความเหนียวแน่น ไม่อยากจะบริจาคทาน คือ มันหวงแหน ไม่อยากให้ทาน เรียกว่า มัจฉริยะ ความตระหนี่ที่มีอยู่ภายในจิตใจของพวกเรา ทุกคนย่อมมี หรือบางคนก็ให้ง่าย บางคนก็ให้ยาก นี่เป็นอย่างนี้ เวลามันเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็อยากจะชำระความตระหนี่นั้นออกจากใจของเรา ไม่ให้มี เพื่อให้ใจของเรานั้นผ่องใส ไม่ให้ถืออยู่ในมัจฉริยะความตระหนี่นั้น

ส่วนศีลก็เหมือนกัน ศีลนี่ก็เป็นการชำระจิตใจของพวกเราเหมือนกัน คือเว้นจากบาป บาปปาปะธรรม เว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น จนตลอดถึงที่สุดที่เรียกว่า อุจจาสะยะนะ นั้น ไม่นั่งนอนเตียงตั่ง หรือฟูกเบาะที่ยัดด้วยนุ่นหรือสำลี นี่เว้นจากสิ่งเหล่านี้ อันนี้ก็เรื่องการชำระจิตใจของพวกเราเหมือนกัน เวลามันติดอยู่ในสัมผัส สัมผัสที่อ่อนแข็งนี่เราติด เมื่อเวลานิ่มก็รู้สึกว่าสบายใจ นี่มันติดอยู่ในที่นี่ ก็พยายามชำระไม่ให้มี เพื่อจะรักษาศีล ชำระจิตใจของตน

กรรมฐานใหญ่ พระอาจารย์บุญจันทร์ กมโล สมถวิปัสสนาภาวนา (1 )

และทีนี้ส่วนการภาวนานั้นก็เหมือนกัน เป็นเรื่องที่ชำระจิตใจเหมือนกัน ให้เกิดให้มีเรียกว่า การภาวนา สิ่งที่ไม่เกิดก็ให้เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ก็รักษาเอาไว้ เหมือนอย่างภาษิตที่ท่านกล่าวไว้ว่า สักกายะ อัตตาโน สาธุ ละวะนัง โลนะ ตังยะถา ท่านว่า พึงรักษาคุณความดีของตนไว้เหมือนดั่งเกลือรักษาความเค็ม ความดีนั้นคืออะไร? อธิบายว่า ความดีนั้นก็คือ สิ่งที่ปราศจากโทษ สิ่งที่ไม่มีโทษ นั่นแหละเป็นความดี เป็นความบริสุทธิ์ สิ่งใดที่เป็นโทษที่เราลงมือทำหรือผู้ใดที่มีโทษเกิดจากทางกายก็มี เกิดขึ้นทางใจก็มี

สำหรับโทษเกิดขึ้นทางกาย คือ การกระทำทางกายของพวกเรา มีการทำลายชีวิตของเขาอย่างนี้ เป็นต้น นี่เรียกว่า บาปเกิดขึ้นทางกาย ความชั่วเกิดขึ้นทางใจ ส่วนที่เกิดขึ้นทางใจของพวกนั้นก็คือ อิจฉา พยาบาทหรือเบียดเบียนคนอื่น เหล่านี้เรียกว่าเกิดขึ้นทางใจ

นี่บาปมันเกิดขึ้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้รักษาคุณงามความดีของตน รักษาจิตของตน ไม่ส่งไปในอารมณ์ต่างๆ นี่เป็นส่วนหนึ่ง จะเรียกว่าภายในก็ได้ หรือจะเรียกว่าภายนอกก็ได้ ส่วนอันเป็นภายในอันแท้จริงนั้นก็คือใจนั่นแหละ รักษาใจอย่างเดียว นี่มีสติรักษาอยู่เสมอ มันจะคิดนึกในสัญญาอารมณ์อะไร คิดถึงบ้านถึงช่อง ถึงลูกถึงหลาน เราก็ห้ามไว้ไม่ให้มันคิดไป เราจะรักษาให้อยู่กับคำบริกรรมที่เรียกนึกอยู่ในใจนั้นว่า พุทโธๆ นั่นเอง อันนี้เป็นเบื้องต้น ต่อแต่นี้ไปจะไม่พูดมาก เราจะต้องทำหน้าที่ของเราต่อไป คือ นั่งสมาธิให้มีสติประคับประคองใจของเรา

อย่าให้มันฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ

ใครสบายอย่างไรก็นั่ง มันต้องพลิกหาดู มันจะสบายอย่างไร ถ้าหากว่ามันสบายแล้วก็ตั้งใจ ตั้งกายให้ตรง อย่าให้เอียงไปข้างซ้าย ข้างขวา หรือข้างหน้า ข้างหลัง อย่าก้มนัก เงยนัก ก้มนักเหมือนหอยนาหน้าต่ำ เงยนักเหมือนนกกระแต้นอนหงาย ท่านว่า ให้ดูพระพุทธรูปเป็นตัวอย่าง ทำให้อกผายไหล่ผึ่งแล้วก็ตั้งสติของตนไว้ให้ดี ให้สำรวมจิตของตนอยู่ แล้วก็นึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 จบ แล้วนึกบริกรรมเอาคำเดียว นึก พุทโธๆ อยู่อย่างนั้น แล้วคำบริกรรมกับใจของเรานั้นให้เป็นอันเดียวกัน ให้อยู่ด้วยกัน ไม่ให้เขวออกจากใจของเรา

สำหรับพุทโธ กับใจของเรานั้น อย่าให้แยกออกจากกัน

ต่อแต่นี้ไปก็ให้สงบตั้งใจทุกคน จึงจะสมกับเราที่ตั้งใจมาชำระความชั่วออกจากใจของเรา ในระยะชั่วเวลา ก่อนที่เราจะได้กระทำอย่างนี้เป็นของยากที่สุด แล้วก็มีกิจการงานมายุ่ง กิจการงานทางราชการก็มี กิจการงานทางทำงานส่วนอื่น มีการทำไร่ ทำนา เป็นต้น เราต้องทำกิจการงานนี้ จนเราไม่สามารถออกมาบำเพ็ญตนได้ เพราะอุปสรรคเหล่านี้ขัดข้องอยู่เสมอ จะหาเวลาที่จะปลีกตัวออกมานั้นยากที่สุด เพราะฉะนั้น ในวันนี้เรามีเวลาหรือมีโอกาสดีแล้ว อุตส่าห์พยายามทำ ตั้งอกตั้งใจทำ จะเป็นตายอย่างไรขอบูชาพระรัตนตรัย เอากายบูชา เอาใจของเราบูชา นึกพุทโธๆ บูชาพระพุทธเจ้า บูชาพระธรรม บูชาพระอริยสงฆ์

ทั้ง 3 อย่างนี้ เรียกว่า ไตรสรณคมน์ หรือพระรัตนตรัย นี่ให้เราเข้าใจอย่างนั้น

เอ้า ต่อแต่นี้ไปก็เมื่อหากว่าจิตของเราสงบ ขาดจากสัญญาอารมณ์แล้ว มันจะรวม บางคนก็จะมีอาการเย็นสบายลงไปเลยก็มี นี่ให้สังเกตให้ดี ให้สังเกตจิตของตนให้ดี บางคนก็มีอาการวูบวาบลงไปก็มี นี่ลักษณะของจิตเราที่ขาดจากสัญญาอารมณ์ มันจะรวมในเบื้องต้น บางทีก็มีอาการวับแวบเข้าไปก็มี บางทีปรากฏว่ากายของเราลอยไปในอากาศก็มี นี่อาการหนึ่ง

บางทีเมื่อหากว่า ใจของเรามันจมลงไปเหมือนลงในที่ลึก จนเราตกประหม่า เป็นอย่างนั้น

เมื่อหากว่าเป็นเช่นนั้น เราอย่าเพิ่งไปตกใจ ไม่ต้องตกใจ ทำความรู้เท่าว่า อาการเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอาการของสิ่งที่มาหลอกลวงให้จิตของเราถอนจากสมาธินั้น

ให้พึงทำความเข้าใจ รู้เท่าอย่างนั้น

บางทีเมื่อเวลาจิตของเรามันรวมลงไป มันเกิดแสงสว่างขึ้นมา เหมือนอย่างแสงไฟนีออนนั่น แจ้งสว่างอยู่อย่างนั้น อันนี้อย่าเพิ่งไปลืมตาดู ให้พึงทำความรู้เท่าว่า เอ้า ในขณะนี้ใจของเราจะรวมแล้ว จิตของเรามันรวมลงไปแล้ว มันเกิดแสงประภัสสรขึ้นมาแล้ว ให้รู้เท่า อย่าไปส่งใจไปตามแสงนั้น ให้รู้จักรู้เท่า เอ้า ใครเป็นคนรู้ ใครเป็นคนเห็นอยู่ในที่นี้ เราหลับตาอยู่ทำไมรู้ ทำไมเห็น ทีนี้เราพึงตั้งสติน้อมเข้าไปหาผู้ที่รู้ก็คือ ใจเรานั้นน่ะ

รู้จากใจ เห็นอยู่ที่ใจนั้นน่ะ นั่นปรากฏว่าอยู่ในที่นั้น ให้น้อมเข้าไปในที่นั้น อย่าส่งไปตาม บางทีเกิดแสงจ้าลอยเข้ามา บางทีอาจจะลืมตัวไปก็ได้ เพราะความอยากคือตัณหา เห็นว่าเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ นึกว่าเป็นแก้วไปจริงๆ เป็นของวิเศษ เดี๋ยวก็จะตะครุบเอา เอื้อมมือ หรือแบมือไปเอาอย่างนั้น

อย่าเพิ่งไปทำอย่างนั้น

เมื่อเวลามันเกิดขึ้นมาแล้วก็ให้ดูอยู่เฉยๆ เมื่อเวลาดูแล้ว เราก็น้อมเข้ามาสู่ใจของเรา มันแจ้งอยู่ที่ไหน อะไร มันเป็นให้น้อมเข้ามาสู่ใจของเรานั้นน่ะ รู้อยู่ที่ใจของเรา อย่าเพิ่งเอื้อมมือไป อย่าเพิ่งลืมตาดู ถ้าหากว่าเราไปนึกขึ้น จะลืมตาดู หรือนึกว่าจะหยิบเอาอย่างนี้ หรือจะกำเอาอย่างนี้ จิตของเรามันถอนจากสมาธิ ก็เลยไม่สงบได้