posttoday

เริ่มต้นสร้างความดีให้กับชีวิตในเทศกาลเข้าพรรษาปี’๕๔ (ตอน ๔)

28 กรกฎาคม 2554

ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์อารยะวังโส

โดย..พระอาจารย์อารยะวังโส

เพื่อขอธัมมานุสติเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาปี ๒๕๕๔ เพื่อชีวิตที่ดี...มีความสงบสุขสืบต่อไป

กราบนมัสการค่ะ

รจนา

วิสัชนา : มีการใช้ปากหรือคำพูดเป็นเหมือนหอก...ดาบไว้ทำร้าย ทิ่มแทงผู้อื่น ...ผู้กล้าพูดเลวร้าย ประดิดประดอยคำพูดให้มันประหลาดๆ เกินกว่าคนดีจะพูดได้ กลายเป็นคนที่สังคมให้ความสนใจ...ข่าวสารสื่อมวลชนนำมาตีพิมพ์พูดถึง จนกลายเป็นค่านิยมของสังคมไทยที่เบี่ยงเบน...ไม่ปกติ แสดงถึงความวิบัติในทิฐิ ที่เรียกว่า ทิฐิวิบัติ เมื่อความคิดความเห็นวิบัติ จึงสื่อออกมาด้วยคำพูดที่เป็นทุจริต การพูดเท็จ การพูดส่อเสียดติฉินนินทา ด่าว่า กล่าวร้ายใส่ความกัน การพูดคำหยาบ การพูดจาเหลวไหลไร้สาระ จึงเติบโตเหมือนดอกเห็ดในฤดูกาลต้นฝน สังคมไทยจึงแตกแยกและมีความแตกต่างของชนในสังคมกันมากยิ่ง แสดงถึงความวิบัติในศีลที่เรียกว่า สีลวิบัติ ซึ่งแม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะกล่าวว่า เขาเป็นคนไทยเหมือนกัน...เป็นชาวพุทธเหมือนกัน แต่ก็หาได้ประพฤติปฏิบัติตนไปในแนวเดียวกันไม่... จนขาดเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทยในวิถีพุทธดั่งที่ควร จึงให้เห็นสังคมไทยมีหลายมาตรฐาน จริงๆ อย่างน้อยก็สองมาตรฐาน แน่นอนคือ พวกหนึ่งยังมั่นคงอยู่ในศีลธรรมตามวิถีพุทธ ซึ่งปัจจุบันมีน้อยลง...กำลังในสังคมจึงลดลง เริ่มกลายเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ค่อยมีปากมีเสียง

ส่วนอีกพวกหนึ่งปฏิเสธศาสนา ไม่ตั้งมั่นอยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม...ล้มเลิกการถือปฏิบัติสืบต่อในวัฒนธรรมของวิถีพุทธ ด้วยอ้างเป็นคนรุ่นใหม่...เป็นบัณฑิตในยุคเทคโนโลยี ซึ่งสำคัญตนว่าก้าวหน้า นำสมัยยิ่งกว่าบัณฑิตผู้รู้ ปัญญาชนคนดีในยุคก่อน ที่ดูออกจะล้าหลัง คร่ำครึอยู่กับนวัตกรรมโบราณๆ ...คนพวกนี้มีมากในสังคมไทยปัจจุบัน มีความกล้าหาญ กล้าแสดงออก และกล้าที่จะแย่งชิงการนำในสังคมโลกาภิวัตน์ เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ การมีบทบาทในสังคมที่อาศัยเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสินถึงความชอบธรรมในการมีบทบาท โดยไม่คำนึงถึง ความชอบธรรม...ที่เป็นธรรม และมีคุณภาพ

สังคมไทยในยุคเสื่อมถอยคุณธรรม...ห่างไกลศีลธรรม และจริยธรรมเริ่มสูญหาย จึงเป็นยุคที่ความวิบัติทั้งในการกระทำและความเห็นสูงมาก ดังข่าวสารที่ปรากฏออกมาให้เห็นในหลากหลายเรื่องราว โดยเฉพาะในกระแสการเมืองภาคสังคมที่ขับเคลื่อนอย่างรุนแรง จากคนในสังคมของยุคเสื่อมจากวิถีพุทธ จึงให้คุณค่าความสำคัญอยู่ที่ความเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งรับอิทธิพลจากวัตถุกาม...กิเลสกามเป็นสำคัญ

เครื่องประกอบในการอำนวยความสะดวกในชีวิต เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญอันสูงสุดในชีวิตของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในยุคนี้ ซึ่งเป็นยุควัตถุนิยม คือ การให้ความสำคัญกับวัตถุเป็นใหญ่ เชื่อมั่นว่าชีวิตจะมีความสุขได้นั้นต้องอิงวัตถุ หรือปัจจัยสี่เป็นสำคัญ จึงปฏิเสธหลักธรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาจิต เพื่อยกระดับความสำนึกของสัตว์ให้คิดพูดทำอย่างมีอารยธรรมที่ดี แสดงความสำคัญของชีวิตว่าอยู่ที่คุณภาพจิตใจ อันเป็นความสุขเกิดจากภายในที่ประณีตกว่า ดังที่พุทธศาสนามีหลักคำสอนอยู่ที่การยกระดับจิตให้สูงด้วยศีลธรรม เพื่อนำไปสู่ความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ชอบโดยธรรม ที่ชี้แสดงให้เห็นโทษภัยของวัตถุนิยมที่มีอิทธิพลคุกคามให้จิตตกเป็นทาส จนสูญเสียความเป็นอิสรภาพ ยากยิ่งที่จะพบกับสันติ...ความสุขอย่างแท้จริง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนั้นเป็นฝ่ายจิตนิยม

ในอดีตสังคมของมนุษยชาติก็ดำรงอยู่ระหว่างค่านิยม ๒ ตัวนี้มาโดยตลอด คือ สมัยใดวัตถุนิยมมีอำนาจอิทธิพลมาก ฝ่ายจิตนิยมก็ลดบทบาทลง ...ในสมัยใดกลุ่มจิตนิยมมีกำลังการขับเคลื่อนสูง แผ่กว้างไปในหมู่ชน อำนาจวัตถุนิยมก็จะลดกำลังลงไป ซึ่งสอดคล้องกับอำนาจธรรมในภาพรวมทางสังคมว่า หากวัตถุนิยมมีกำลังสูง ชนในสังคมก็จะวุ่นวาย เร่าร้อน เบียดเบียนกันมาก ก็ด้วยฤทธิ์อำนาจแห่งความทะยานอยาก หรือตัณหาเป็นปัจจัย ซึ่งหมายถึงอำนาจฝ่ายต่ำก็จะมีมากในจิตใจของกลุ่มชน ธรรมฝ่ายดำจะเจริญ ธรรมฝ่ายขาวก็จะถดถอยกำลังลง ภาพรวมทางสังคมจะให้ความเจริญทางด้านวัตถุเป็นสำคัญ ค่าของคนอยู่ที่ความมั่งมีในปัจจัยสี่เป็นสำคัญ การเลือกผู้นำของสังคมจึงมุ่งไปสู่ภาพลักษณ์ของผู้เพียบพร้อมด้วยวัตถุกามว่าเป็นผู้มีความสำเร็จ ...เป็นผู้ถึงพร้อมควรแก่การเป็นผู้นำของหมู่ชน เพื่อความหวังที่จะได้รับการเจือจานแบ่งปันในวัตถุจากบุคคลที่มั่งมีในสมบัติเหล่านั้น