posttoday

สูญพันธุ์

17 สิงหาคม 2561

เกิดปรากฏการณ์ทางการศึกษาที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เมื่อมหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มมีการปิดคณะเศรษฐศาสตร์

โดย..นาย ป.

เกิดปรากฏการณ์ทางการศึกษาที่เห็นข้อมูลแล้วรู้สึกน่าเป็นห่วงอย่างมาก เมื่อมหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มมีการปิดคณะเศรษฐศาสตร์กันเป็นแถวๆ เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น

เพราะนักเรียนหรือนักศึกษาจบใหม่ๆ ไม่นิยมเรียน ไม่ว่าจะระดับปริญญาตรี โท หรือเอก บางมหาวิทยาลัยเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเรียนไม่ถึงครึ่งห้องเสียด้วยซ้ำ แต่โดยรวมนักเรียนนักศึกษาลดลงไปราวๆ 30%

มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งต้องยอมปิดตัว เพราะหากทนเปิดสอนต่อไปมีแต่จะขาดทุน แต่เหตุผลที่สำคัญไปกว่านั้น คือ เรียนจบแล้วสมัครงานยาก เพราะผู้ประกอบการหรือนายจ้างต้องการบัณฑิตจบใหม่ที่มีความรู้เฉพาะทางหรือเฉพาะด้านมากขึ้น

อย่างเช่น นักบัญชี นักการเงิน และต้องมีความรู้รอบตัวเรื่องเทคโนโลยีอีกด้วย กลายเป็นว่าวิชาเศรษฐศาสตร์กลายเป็นวิชาพื้นฐานในการต่อยอดเรียนสาขาต่างๆ จากเดิมเศรษฐศาสตร์เป็นคณะ หรือหลักสูตรสาขา

แน่นอนไม่ใช่ว่านักเศรษฐศาสตร์กำลังจะสูญพันธุ์อีกในไม่ช้า แต่รวมถึงมหาวิทยาลัยหลายแห่งกำลังล้มตายจากภาวะการแข่งขันแย่งชิงนักศึกษารุนแรง

มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งแห่กันปรับรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อรองรับการแข่งขัน เช่น การลดค่าเทอมลง 20-30% หรือปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กให้มากที่สุด

เช่น สาขาด้านอี-คอมเมิร์ซ สาขาด้านโลจิสติกส์ หรือหลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ 4.0 หรือสตาร์ทอัพ รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล

แม้แต่ธุรกิจเกมก็ยังเปิดการเรียนการสอน เพราะเด็กนักเรียนได้เปลี่ยนวิธีคิดที่จะไปเป็นผู้ประกอบการมากกว่าการเป็นลูกจ้างของบริษัท หรือแม้แต่อาชีพรับราชการคนรุ่นใหม่ไม่นิยมสนใจอยากรับราชการอีกด้วย

ไม่ใช่เฉพาะสาขาเศรษฐศาสตร์ที่เด็กรุ่นใหม่ไม่นิยม รวมไปถึงคณะนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชน ในยุคกระดาษที่เคยเฟื่องฟู เป็นสาขาที่เคยฮิตเรียนกันเมื่อก่อน ตอนนี้เงียบเหงาซบเซาสุดๆ ต่างจากสาขาดิจิทัล หรืออี-คอมเมิร์ซ คนรุ่นใหม่ฮิตเรียนกันเป็นจำนวนมาก

ที่สำคัญสร้างรายได้ดีเป็นอย่างมากกับมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน ยิ่งรัฐบาลสนับสนุนธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจสตาร์ทอัพ ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่อยากเรียนเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์

อีกสาขาวิชาที่ได้รับความนิยมสูง คือ ภาษาศาสตร์ เช่น เกาหลี อาหรับ ญี่ปุ่น หรือจีน เป็นต้น เพราะเป็นประตูไปสู่การค้าขายการลงทุนระหว่างประเทศ หรือไปทำงานในต่างประเทศ

ดังนั้น ตอนนี้นับนิ้วได้เลยว่ามีเพียงไม่กี่มหาวิทยาลัยที่ยังเปิดสอนและผลิตนักเศรษฐศาสตร์อยู่ ซึ่งน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยภาครัฐ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ในอนาคตความรู้หรือทักษะของนักศึกษาจะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และเป้าหมายชีวิตหวังร่ำรวยจากการเป็นผู้ประกอบการ แต่อาจจะขาดทักษะด้านการมองแบบรอบด้านโดยเฉพาะเศรษฐกิจในภาพรวม

รวมถึงมุมมองด้านการเมือง วัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แล้วแบบนี้ใครจะมากำหนดนโยบายเศรษฐกิจระดับประเทศ ในเมื่อคนรุ่นใหม่มีความคิดเป็นของตัวเองสูงมากกว่าความคิดในเชิงสาธารณะ หรือสังคม

แล้วแบบนี้เราจะฝากความหวังของประเทศในอนาคตไว้กับใครกันดี จึงน่าเป็นห่วงอนาคตเศรษฐกิจไทย