posttoday

พิจารณาคดีลับหลัง

30 มิถุนายน 2560

การพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยเป็นประเด็นทางกฎหมายที่มีการถกเถียงกันอยู่มากในช่วงนี้ว่าทำได้หรือไม่ได้

โดย...นายปกรณ์ นิลประพันธ์

การพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยเป็นประเด็นทางกฎหมายที่มีการถกเถียงกันอยู่มากในช่วงนี้ว่าทำได้หรือไม่ได้ บ้างก็ว่าขัดหลักสากล ทำไม่ได้ บ้างก็ว่าทำได้ ผู้เขียนเองก็สงสัยไม่น้อย จึงแอบลองไปสืบค้นดู

พบว่าเหตุแห่งปัญหาน่าจะอยู่ที่ความของข้อ 14 (3) (ดี) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองInternational Covenant on Civil and Political Right (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีครับ

ข้อ 14 (3) (ดี) [1] เขาเขียนว่า ในคดีอาญานั้น บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าตน แน่นอนครับ ถ้าอ่านเพียงเท่านี้ก็จะพานเข้าใจไปว่าการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยนั้นทำไม่ได้

แต่เมื่อผู้เขียนไปสืบเสาะลึกๆ ลงไป พบว่ามันมีข้อยกเว้นอยู่ครับว่าการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยมันมีข้อยกเว้นอยู่ครับว่าการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย (Trial in Absentia) นั้น “ทำได้”

ข้อยกเว้นที่ว่านี้เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงครับ บางกรณีจำเลยไม่ยอมมาศาลเพราะเห็นว่าตัวเองไม่ผิด จะต้องมาศาลทำไม แต่คนแบบนี้มีน้อยมากครับ ส่วนใหญ่แล้วจำเลยจะหลบหนีครับ

ดังนั้น กฎหมายของหลายประเทศจึงมีข้อยกเว้นให้พิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยได้ครับ แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากล (Human Right Committee) เอง เขาก็ยอมรับข้อยกเว้นนี้ครับ เขากลัวว่าศาลจะพิพากษาลงโทษ หนีไปก่อนเลยโดยเฉพาะพวกมีสตางค์ หมดอายุความแล้วค่อยกลับมา คราวนี้ตำรวจก็จับตัวมาเอาผิดไม่ได้ เพราะคดีขาดอายุความไปแล้ว

ในคดี Mbenge v Zaire (1977) [2] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากลวางหลักว่า ตามข้อ 14 (3) ของ ICCPR นั้นบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดี (อาญา) ต่อหน้าตน และมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีด้วยตนเองหรือผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายที่ตนเป็นผู้เลือก ถ้ากฎหมายให้หลักประกันสิทธิเช่นว่านี้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธที่จะใช้สิทธิดังกล่าวเอง เช่น ไม่ยอมมาศาล หรือหลบหนีคดีไปเอง เป็นต้น

การพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยก็สามารถทำได้ ถ้าได้มีการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพและแห่งความผิดที่ถูกกล่าวหากับวันที่และสถานที่ที่จะดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาให้จำเลยทราบอย่างชัดเจนแล้ว เปิดโอกาสให้จำเลยมีเวลาเตรียมตัวต่อสู้คดีพอสมควร และเปิดโอกาสให้จำเลยได้มาศาลเพื่อต่อสู้คดี และต่อมาในคดี Maleki v Italy (1996) [3] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากลก็ยืนยันหลักดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ ในปี 2007 (2553) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากลได้ออก General Comment ฉบับที่ 32 ยืนยันหลักการดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน และเพิ่มเติมด้วยว่าในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญา หากมีข้อเท็จจริงใหม่อันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการดำเนินกระบวนยุติธรรมนั้นดำเนินไปโดยไม่ชอบ บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิขอให้มีการพิจารณาคดีนั้นใหม่ ได้ตามข้อ 14 (6) ของ ICCPR ดังนั้น หากมีการพิจารณาและพิพากษาคดีอาญาลับหลังจำเลย ถ้าผู้ต้องคำพิพากษามีข้อเท็จจริงใหม่อันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการดำเนินกระบวนยุติธรรมนั้นดำเนินไปโดยไม่ชอบ เขาย่อมมีสิทธิขอให้มีการพิจารณาคดีนั้นใหม่ได้

กล่าวโดยสรุป การพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย (Trial in Absentia) นั้น “ทำได้” และเป็น “หลักสากล” แต่ไม่ใช่ว่าจะทำอย่างไรก็ได้ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมันอยู่ดังกล่าวแล้วในคดี Mbenge v Zaire และคดีMaleki v Italy รวมทั้ง General Comment ฉบับที่ 32 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากลดังกล่าวข้างต้น

เป็นอันว่าเราเข้าใจตรงกันแล้วนะครับ