posttoday

แก้ปัญหาปลายท่อ

15 มีนาคม 2562

วิกฤตฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน หรือ PM2.5 ภาครัฐกำลังจะเพิ่มภาษีรถเก่าเพื่อกระตุ้นและจูงใจให้ประชาชนผู้ใช้รถได้เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า

เรื่อง กัปตัน ป.

วิกฤตฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน หรือ PM2.5 ภาครัฐกำลังจะเพิ่มภาษีรถเก่าเพื่อกระตุ้นและจูงใจให้ประชาชนผู้ใช้รถได้เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า นับเป็นนโยบายดีๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะส่งผลดีต่อการลดโลกร้อนและเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ให้เราได้หายใจ

แต่สำหรับรถเก่าบนท้องถนนอาจแบ่งได้สองกลุ่ม คือ รถเก่าเพราะหมดสภาพการใช้งานจริงๆ กับรถเก่าคลาสสิกที่นิยมเล่นกันในกลุ่มเฉพาะ

คนส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบขับรถเก่า เชื่อว่าคนเหล่านี้ล้วนมีรสนิยมคล้ายๆ กัน คือ ชอบความแตกต่าง ความเป็นตำนาน หรือรูปทรงดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของรถที่ต่างจากรถตลาดๆ ทั่วไป มิได้ต้องการอยากปล่อยควันพิษทำลายโลก

จริงๆ พวกรสนิยมชอบความแตกต่างมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรก กำลังปานกลางเล่นได้ก็แค่รถเก่าๆ ราคาซื้อขายไม่แพงนัก กับอีกกลุ่มคนที่ร่ำรวยๆ ระดับขับซูเปอร์คาร์ ราคารถหลักสิบล้านบาท รถเหล่านี้ใช้น้ำมันเบนซินแท้ๆ จากฟอสซิล เครื่องตั้งแต่ v8 ถึง v12 ขึ้นไป

นอกจากเพิ่มภาษีรถเก่าควรมีนโยบายแบบนี้บ้าง อาทิ ควรกำหนดพื้นที่หรือโซนนิ่งกันไปเลยว่าพื้นที่ใด PM เกินค่ามาตรฐานห้ามรถเก่าเข้าไปเฉียด ปัจจุบันมีกฎหมายควบคุมเจ้าของรถที่เครื่องยนต์เผาไหม้ไม่สมบรูณ์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทางท่อไอเสียเกินกำหนดต้องถูกจับปรับอยู่แล้ว ตรงนี้ภาครัฐต้องเข้มงวด เพื่อให้ผู้ใช้รถได้สำนึกตรวจสอบและดูแลสุภาพเครื่องยนต์ให้ดูดีอยู่เสมอ

รถที่เครื่องยนต์ต่ำกว่า 2,000 ซีซี ควรสนับสนุนให้เปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้า เชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นรถเก๋งขนาดเล็ก เน้นให้วิ่งในเขตเมือง ภาษีและราคาต้องจูงใจให้เปลี่ยนรถหรือรถที่เครื่องยนต์เกิน 2,000 ซีซี อันนี้ต้องคิดหนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นพวกปิกอัพกินดีเซล บรรทุก ฉุด ลาก มักใช้งานหนักด้านขนส่งเครื่องมือทำมาหากินของพ่อค้าแม่ค้า เช่น รถพุ่มพ่วง (กระบะท้ายห้อยๆ เร่ขายของชำ)

รถเก่าประเภทนี้นโยบายก็ต้องเอาให้ชัดและควรสนับสนุนให้มีนวัตกรรมด้านกำจัดสารมลพิษในไอเสียสำหรับรถเก่า เพื่อลดเสียง เขม่า ควันดำ หรือ ฝุ่น ฯลฯ ตรงนี้ต้องสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสะอาด เช่น สนับสนุนเปลี่ยน “แคตตาไลติกคอนเวอร์เตอร์” อุปกรณ์กรองไอเสีย มักนำเข้าในราคาสูง จึงควรลดราคาและภาษีเพื่อจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยน

มาตรการนี้ภาครัฐจัดการปัญหาแบบ “ปลายท่อ” เน้นควบคุมที่ปลายปล่อง (อากาศ) หรือปลายท่อ (ท่อน้ำเสีย) หรือขยะ ใช้วิธี ฝัง เผา หรือแอบทิ้ง แตกต่างจากต่างประเทศต้องมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด เช่น เปิดเผยข้อมูลขยะหรือสารพิษ มาตรการเข้มข้นในการตรวจวัดค่า PM2.5 แต่ประเทศไทยไม่เน้นมาตรการเชิงป้องกัน กลับไปเน้นการแก้ปัญหาที่ปลายท่อหรือปลายปล่อง โดยไม่เน้นที่ต้นตอกระบวนการผลิตด้วยการเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สะอาดหรือการเข้มงวดในเขตนิคมอุตสาหกรรม

ยิ่งปัจจุบันเป็นเรื่องยากในการตรวจสอบว่าโรงงานใดต้นเหตุการปล่อยมลพิษ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลในการปล่อยสารพิษ ตัวอย่างเช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ดำเนินการเอาผิดใดๆ ต่อโรงงานที่ปล่อยควัญพิษหรือทิ้งขยะอันตราย ด้วยการแอบฝังลงดิน ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ในภาคเกษตรไม่อาจปลูกพืชผักหรือผลไม้ได้

เหตุผลที่โรงงานไม่รีไซเคิลหรือกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่เป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เพราะต้นทุนกำจัดสูงมาก แต่หากฝังลงใต้ดินต้นทุนต่ำ

สรุป PM2.5 มาตรการภาษีอย่างเดียวคงไม่พอ!