posttoday

ฝ่าพายุดิจิทัล

22 กุมภาพันธ์ 2562

ทุกวันนี้เราอยู่กลางพายุดิจิทัลภิวัฒน์ (Digitalization) ที่กำลังพัดพาแรงงานมนุษย์ให้หายไป โดยเทคโนโลยี (Disruptive Technology)

เรื่อง กัปตัน ป.

ทุกวันนี้เราอยู่กลางพายุดิจิทัลภิวัฒน์ (Digitalization) ที่กำลังพัดพาแรงงานมนุษย์ให้หายไป โดยเทคโนโลยี (Disruptive Technology) จะเข้ามาทำงานแทนคนและเครื่องจักร ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว จึงเป็นที่มาของ “หมู่บ้านมั่นคงแรงงานสังคมเพื่อน” อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี

เพราะรู้ว่าชะตากรรมการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมจะเป็นไปเช่นไร หรือบางอาชีพที่ถูกเทคโนโลยีปฏิวัติเงียบไปแล้วโดยไม่รู้ตัว นั้นคือสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ เทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสาร 4จี ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไปผนวกกับเทคโนโลยีด้านการสื่อสารต้นทุนต่ำ รวดเร็วและปราศจากค่าใช้จ่ายโดยข้อมูลต่างๆ แปลงไปเป็นดิจิทัล

ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเครื่องจักรทำงานแทนคน แต่ยุคปฏิวัติดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ทำงานแทนทั้งคนและเครื่องจักร พายุแห่งการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีย่อมทิ้งไว้ซึ่งร่องรอยแห่ง “โอกาส” และ “สิ่งท้าทาย” ต่อมนุษย์ว่าจะเอาตัวรอดได้อย่างไร?

ในอนาคตแห่งการทำงาน Future of Work สิ่งที่แรงงานมนุษย์ต้องปรับตัวคือด้านการศึกษาตลอดชีวิต ต้องลงทุนพัฒนาและสร้างโอกาสให้คนได้เรียนรู้ตลอดอายุงาน ตั้งแต่เยาว์วัย (ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน) ประถม และมัธยม ต้องรู้ภาษาดิจิทัลและแนวโน้มวิชาชีพใดที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ต้องเรียนรู้ เพราะมนุษย์ต้องคุมและใช้ประโยชน์เทคโนโลยี และระหว่าง (เข้าสู่ตลาดแรงงาน)

ไม่ว่าจะอาชีพใดต้องมี 1 วิถี 2 การผลิต คือต้องทำงานประจำแบบรับเงินเดือน พร้อมๆ กับต้องเป็นผู้ผลิตและบริโภคเองด้วย ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Home Economy เพื่อสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ Green Health กินเพื่ออยู่ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน

ตัวอย่างเช่น รอบๆ บ้านปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษไว้บริโภค หรือพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งรวมเงินกันเช่าที่ชาวนา และจ้างปลูกข้าวปลอดสารพิษแบ่งปันกันระหว่างชาวนาที่ได้ค่าเช่า ส่วนพนักงานออฟฟิศ ช่วยด้านการตลาดและเทคโนโลยี ได้ข้าวกินและแถมได้บุญอีกด้วย โมเดลธุรกิจนี้เรียกว่า Sharing Economy เพื่อการแบ่งปันสุขภาพที่ดีระหว่างคนในเมือง และแบ่งปันรายได้ให้แก่ชุมชน

หรือ Second Jobs ต้องมีอาชีพเสริมรองรับในรูปแบบธุรกิจส่วนตัวหรือเข้าช่วงเกษียณ (ออกจากตลาดแรงงาน) ไปแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการจะได้รับการช่วยเหลือดูแล “คนแก่ต้องอยู่กันเป็นกลุ่ม” ถึงจะเข้าถึงสิทธิความช่วยเหลือด้านอาชีพ การดูแลสุขภาพ หรือความคุ้มครอง
ทางสังคมอื่นๆ เพื่อรับมือโลกที่เปลี่ยนไปจากสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)

งานในอนาคตต้องมี “คน” เป็นศูนย์กลางผู้ใช้หรือคุมเทคโนโลยี ดังนั้นเศรษฐกิจหรือธุรกิจควรส่งเสริมคุณค่าของคน โดยต้องมีการคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็ง (Social Protection) เพื่อให้ทุกกลุ่มคนหรืออาชีพกลุ่มเสี่ยง Disruptive มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่าน เช่น นโยบายด้านการเงินเพื่อการกู้ยืมเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ พัฒนาทักษะ หรือส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริมหรือนโยบายด้านภาษีแก่ผู้ประกอบการที่ส่งเสริมการจ้างงานคนควบคู่ไอที เป็นต้น

คุณค่าของคนไม่ใช่แค่กำลังแรงกับกำลังสมอง ที่ไร้ค่าเมื่อเทคโนโลยีมาทดแทน แต่คุณค่าของคนหมายรวมถึงชีวิตและจิตใจของคนในครอบครัวพ่อแม่ลูกหรือญาติพี่น้องอีกหลายๆ ชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนปากกัดตีนถีบไปด้วยกัน