posttoday

ปรับเกณฑ์รับคดีพิเศษ

20 กุมภาพันธ์ 2562

ตั้งแต่ก่อตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปี 2545 จนตอนนี้หน่วยงานนี้มีอายุกว่า 16 ปี

เรื่อง สลาตัน

ตั้งแต่ก่อตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปี 2545 จนตอนนี้หน่วยงานนี้มีอายุกว่า 16 ปี ดำเนินการสืบสวนปราบปรามคดีอาชญากรรมสำคัญของประเทศมาจำนวนไม่น้อย มีบทบาทสำคัญในเชิงสอบสวนสืบสวน พรั่งพร้อมด้วยเครื่องมืออุปกรณ์การทำงานทันสมัยทัดเทียมนานาประเทศ อำนวยความสะดวกให้การทำงานราบรื่นและง่ายขึ้น จนมีการยกหน่วยงานนี้เทียบเคียงหน่วย FBI สหรัฐอเมริกา

ในเชิงรูปแบบโครงสร้างหน่วยงานดีเอสไอมีลักษณะการทำงานคล้ายตำรวจ เพียงแต่การรับเป็นคดีพิเศษต้องเข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในเชิงความเสียหายของคดีที่มีกรอบกำหนดอย่างชัดเจน อีกทั้งยังต้องผ่านการพิจารณาประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษว่าจะมีมติรับพิจารณาเข้ากระบวนการความเป็นคดีพิเศษหรือไม่

ในข้อถกเถียงหลายฝ่ายมองว่าการทำงานระหว่างตำรวจกับดีเอสไออาจดูซ้ำซ้อนกันในบางส่วน จนล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 32ง เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ประกาศ ณ วันที่ 8 ม.ค. 2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การรับคดีพิเศษของดีเอสไอใหม่

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการปฏิรูปการทำงานตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในการทบทวนบทบาทภารกิจและงานในความรับผิดชอบให้มีความสอดคล้องกับสภาพของอาชญากรรมในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปและเป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งหน่วยงานที่มุ่งเน้นการสืบสวนสอบสวนคดีความผิดทางอาญาที่ความซับซ้อน ต้องใช้วิธีการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเป็นพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

สำหรับสาระสำคัญของประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จะเป็นการกำหนดรายละเอียดของความผิดที่เป็นคดีพิเศษที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษใหม่ให้มีความชัดเจน สามารถพิจารณาได้ในเบื้องต้นว่าคดีใดจะเป็นคดีพิเศษ โดยบัญชีท้ายประกาศดังกล่าวจะกำหนดชื่อกฎหมาย มาตรา และรายละเอียดที่ใช้ประกอบการพิจารณา ซึ่งกำหนดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวนผู้เสียหาย หรือพฤติการณ์ในการกระทำความผิด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปยังสามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตำรวจในท้องที่เกิดเหตุได้ตามปกติโดยไม่ต้องกังวลเรื่องรายละเอียดตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ.ดังกล่าว หากภายหลังพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความพบว่าเป็นความผิดที่เข้าข่ายอาจเป็นคดีพิเศษ ก็จะเป็นผู้ประสานงานมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเอง ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการคดีพิเศษ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2547

ส่วนคดีอาญาอื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามประกาศ กคพ.นี้ หากมีเหตุผลความจำเป็น เช่น มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศในมิติต่างๆ หรือมีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษในการดำเนินคดี คณะกรรมการคดีพิเศษก็อาจหยิบยกขึ้นพิจารณาเพื่อมีมติให้เป็นคดีพิเศษได้อีก ตาม
พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งจะเป็นไปตามเหตุผลและความจำเป็นในแต่ละเรื่องไป

สิ่งที่เห็นชัดเจนคือมีการคืนอำนาจการสอบสวนบางส่วนให้ตำรวจพิจารณาได้ ถือว่าช่วยลดขั้นตอนการทำงานในกระบวนการทำคดีได้รวดเร็วขึ้น เมื่อขั้นตอนทำงานชัดเจนความซับซ้อนลดทอนลงไปได้ หวังว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับปรับปรุงนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป