posttoday

ฝุ่นเล็กปัญหาใหญ่

24 มกราคม 2562

วิกฤตปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานใน กทม.และปริมณฑลยังคงกลายเป็นประเด็นที่พูดถึงกันทั้งบ้านทั้งเมือง มีมุมมองจากทุกสารทิศ

เรื่องมะกะโรนี

วิกฤตปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานใน กทม.และปริมณฑลยังคงกลายเป็นประเด็นที่พูดถึงกันทั้งบ้านทั้งเมือง มีมุมมองจากทุกสารทิศ

ถึงวันนี้ รัฐบาลย่อมทราบดีแล้วว่า พิษฝุ่นละออง PM2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาไอเสีย ยานพาหนะ อันเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานจนสร้างมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่า ตราบใดที่ไม่มีมาตรการคุมจำนวนรถยนต์ รถเก่า รถเมล์พ่นควันดำก่อมลพิษอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปัญหานี้ก็ยังอยู่หรือกลับมาหนักหนาสาหัสเมื่อสภาพอากาศอำนวย

ทุกวันนี้ใครๆ ก็รู้ว่า พิษฝุ่นละออง PM2.5 นั้นอาละวาดไปทั่วโลก ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนถึงกับผุดงานวิจัยที่สำรวจลึกถึงปัญหานี้ในทุกมิติ ถึงกับระบุกันว่า ระดับมลพิษฝุ่นที่สูงขึ้นทำให้ความสุขของคนจีนที่มีประชากรมากที่สุดในโลกลดลง

อากาศปนเปื้อนมลพิษนี้ยังส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยพุ่งสูงขึ้น การสุ่มสำรวจดัชนีความสุขของประชาชนในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศ แสดงให้เห็นชัดว่าล้วนแต่มีความคิดเห็นในทางลบ หรืออาจกล่าวได้ว่าดัชนีมลพิษและค่าความสุขนั้นพุ่งสวนทางกันมากยิ่งขึ้นทุกที ใครที่มีฐานะดีหน่อย ก็ย้ายไปอยู่อาศัยในเมืองชนบทห่างไกลที่มีอากาศดีกว่า

มีรายงานข่าวด้วยว่า กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมจีนได้เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพอากาศ โดยรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายที่จะลดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย์ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรงลงอีก 3% จากปีที่แล้ว

ทว่า ในช่วงวันที่ 1 ต.ค. 2561-31 มี.ค. 2562 แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 จนถึงวันที่ 19 ม.ค. 2562 ยังพบว่าพื้นที่เป้าหมายยังมีค่าฝุ่นเพิ่มขึ้นถึง 9.2% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันย้อนหลังไปอีก 1 ปี แม้จะมีมาตรการเข้มข้นมากมาย ลงดาบเอาผิดกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษในเมืองมาแล้วหลายปีติดต่อกัน แต่จนถึงขนาดนี้ ก็ยังไม่สามารถควบคุมคุณภาพอากาศได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ขณะที่ เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่รับเคราะห์มลภาวะจากจีนไปด้วย ก็กำลังหาสารพัดมาตรการบรรเทาปัญหาสภาพอากาศ มีการจัดตั้งระบบเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก กระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ถึงกับต้องจัดการประชุมร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่จากจีน เพื่อประสานงานหารือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศกันเลยทีเดียว

ชัดเจนว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ประเทศที่เผชิญปัญหานี้ต่างขยับแก้หายนะอย่างต่อเนื่อง โดยพุ่งเป้าไปที่ลดปริมาณรถยนต์และหันมาใช้พลังงานสะอาด มาตรการคุมเข้มรถยนต์ในเมืองก็ประกาศใช้กันโดยไม่กลัวกระทบคะแนนเสียงหรือเสียงต่อต้าน

ข้อมูลจากรัฐบาล ระบุว่า กทม.นั้นมีจำนวนรถยนต์สะสมกว่า 6.6 ล้านคัน (ไม่รวมทะเบียนต่างจังหวัด) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ต่อปี มีรถจดทะเบียนใหม่ทุกวัน มากถึงวันละ 700 คัน รถจักรยานยนต์ก็สูงถึง 400 คัน

ก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายที่จะเสร็จสิ้นในอีก 2-3 ปี และหวังกันว่าจะสามารถลดปัญหาฝุ่นละอองได้นั้น อาจจะเป็นเพียงแนวคิดที่เลื่อนลอย เพราะชัดเจนอยู่แล้วว่า ตราบใดที่ยังมีปัญหารถติด ฝุ่นก็ยังมีอยู่ต่อไป

ปัญหาและมาตรการจัดการฝุ่นพิษของเราเพิ่งเริ่ม ประเทศอื่นๆ ขยับแก้เรื่องนี้มานานก็ยังได้ผลลัพธ์เป็นความล้มเหลว ปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะเพิกเฉยได้