posttoday

อนาคตผู้สูงวัย

08 พฤศจิกายน 2561

ไม่ว่าปัญหาการเมืองในบ้านเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะลงเอยและจบลงอย่างไร แต่เส้นทางปัญหาด้านอื่นๆ หลายๆ ด้านดูจะล้ำหน้าและได้เดินทางไปดักรอคนไทยอยู่แล้วในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดย...มะกะโรนี

ไม่ว่าปัญหาการเมืองในบ้านเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะลงเอยและจบลงอย่างไร แต่เส้นทางปัญหาด้านอื่นๆ หลายๆ ด้านดูจะล้ำหน้าและได้เดินทางไปดักรอคนไทยอยู่แล้วในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรื่องหนึ่งที่หนีไม่พ้น คือเรื่องสังคมสูงวัย ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดบางประการยิ่งน่าวิตกเพราะปัจจุบัน หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้จะวางแผนล่วงหน้ามานาน แต่เมื่อต้องเจอปัญหาที่เพิ่มขึ้นๆ ก็เริ่มอ่วม แบกปัญหาอย่างยากลำบาก หลายประเทศถึงกับพยายามเปลี่ยนกลยุทธ์ในการวางแผนรับมือสังคมสูงวัยใหม่เลยทีเดียว

ผู้รู้ในเรื่องนี้ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า หลายประเทศต้องเปลี่ยนแผนรับมือ เพราะเริ่มตระหนักว่า ลำพังการเตรียมระบบสวัสดิการ เตรียมระบบการออมเงินไว้รองรับ เตรียมสถานที่ดูแลผู้สูงวัย เริ่มจะไม่เพียงพอ

ว่ากันว่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งประเทศที่ระบบการเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยดีมาก เป็นต้นแบบของประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับสังคมสูงวัย เริ่มยอมรับแล้วว่า แผนที่เตรียมไว้ เริ่มไม่เท่าทันกับปัญหาที่เกินคาดเพราะนอกจาก รัฐต้องทุ่มงบประมาณสูงมาก แต่ละครอบครัวหรือกระทั่งตัวผู้สูงวัยเองก็แบกภาระค่าใช้จ่ายมากโข ไหนจะเรื่องทรัพยากรบุคคลที่เข้ามาช่วยดูแลเริ่มไม่เพียงพอ

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีการปรับแผนให้ผู้สูงวัยอยู่บ้านและสถานดูแลของชุมชน ริเริ่มโครงการใหม่ๆ เช่น การให้องค์กรท้องถิ่นเป็นผู้ประสานงานสถานบริบาล ให้เทศบาลแต่ละแห่ง สำรวจผู้สูงอายุในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อปฏิบัติตามแผน รวมทั้งมีการจัดทำแผนปฏิบัติการของแต่ละเขต ซึ่งช่วยให้ประชาชนให้ความสนใจและเป็นโอกาสให้สามารถผลักดันนโยบายระดับชาติ

แต่แล้ว แผนซึ่งเคยเรียกกันว่า “แผนทองคำ” ก็รับมือกับปัญหาไม่ไหว เพราะทั้งงบประมาณและจำนวนผู้สูงอายุที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นเริ่มไม่สมมาตรกัน การให้บริการที่ปล่อยให้ชุมชนดูแล หลายแห่งเริ่มประสบปัญหา เพราะข้าราชการส่วนท้องถิ่นไม่มีความรู้มากพอที่จะรับมือกับปัญหา

ประเทศซึ่งไม่ได้เตรียมพร้อม แค่เรื่อง ระบบประกันสังคมและมาตรการดูและผู้สูงวัย ถึงกับต้องออกกฎหมายเพื่อสร้างสังคมที่ประชาชนทุกกลุ่มอายุสามารถดำรงชีพได้ตลอดชีวิตอย่างมั่นคง ออกกฎหมายส่งเสริมให้ภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น กระทั่งเปิดช่องให้นายจ้างสามารถลดเงินเดือนพนักงานที่สูงอายุได้ เฟ้นหาไอเดียมากมาย มาส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับโอกาสพึ่งตนเองมากขึ้นและนานขึ้น

แค่นั้นยังไม่พอ ถึงกับปรับแผนให้รองรับอนาคตมากขึ้น ด้วยการเริ่มสอนคนให้มีทักษะชีวิต สามารถใช้ชีวิตแบบพึ่งพาคนอื่นให้น้อยที่สุด ตั้งแต่ยังเด็ก คนมีอายุ 30-50 ปีในปัจจุบัน หรือกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ผู้สูงอายุสำรอง” ถูกปลูกฝังให้เริ่มดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อจะเตรียมร่างกายให้พร้อมรับมือกับโลกยุคใหม่ที่มีสารพัดนวัตกรรม

แม้จะเตรียมพร้อมมากมาย ยังต้องยอมรับว่าปัญหาสาหัสกว่าที่คาดไว้ กรณีนี้ย่อมกลายเป็นคำถามสำคัญว่าประเทศที่การเมืองยังวุ่นวายไม่เลิก ได้เตรียมการเรื่องนี้ไปแล้วถึงไหน

ประเทศซึ่งยังมีรถประจำทางที่ทางขึ้นสูงจนคนหนุ่มสาวแทบตะเกียกตะกายขึ้นไปใช้บริการ ไหนจะยังมีพนักงานเก็บค่าโดยสารที่ปฏิบัติต่อผู้สูงวัยที่ควักบัตรแสดงสิทธิลดค่าโดยสารเหมือนกำลังทำผิดอะไรสักอย่าง ยังไม่รวมเรื่องการให้บริการอื่นๆ อีกมากมาย

หลายเรื่อง เห็นแล้วต้องถอนหายใจ อย่าไปนับความพร้อมของระบบต่างๆ ให้ขุ่นใจเลยครับ แค่ปรับทัศนคติที่มีต่อผู้สูงวัยใหม่ที่ไม่ใช่อยู่กันไปแบบหน้าไหว้หลังหลอกก็เหนื่อยแล้ว