posttoday

สงครามโซเชียล

19 ตุลาคม 2561

สมรภูมิรบใหม่ในการขับเคี่ยวทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง 2562

โดย...กัปตัน ป.

ต้องยอมรับว่า พื้นที่หรือสมรภูมิใหม่ในการต่อสู้ขับเคี่ยวกันทางการเมืองเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งและเข้าสู่อำนาจที่กำลังจะถึงในปีหน้า 2562 คือการใช้สื่อโซเชียลมีเดียสูงมาก

การใช้สื่อโซเชียลมีเดียสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและตรงจุดมุ่งหมายที่อยากนำเสนอ ทั้งภาพ ข้อความหรือคลิป ซึ่งผู้นำทั่วโลกนิยมใช้

อาทิ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ชอบทวิตเตอร์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองนำไปสู่การออกข่าวดังไปทั่วโลก หรือ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีประเทศแคนาดา ที่ชอบใช้เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมเป็นช่องทางในการสื่อสารของตัวเองให้ประชาชนได้ติดตาม หรือปลุกกระแสความนิยมนั่นเอง

โซเชียลมีเดียนับเป็นช่องทางการสื่อสารตรงระหว่างประชาชนกับผู้นำประเทศ เพราะแม้แต่ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา หรือนายกรัฐมนตรีไทยในอดีตหลายๆ คน ยังใช้เฟซบุ๊ก

เป้าหมายการสื่อสารส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นกลาง อาทิ ข้าราชการ นักธุรกิจ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการติดต่อสื่อสารและรับข้อมูลข่าวสารทางการเมือง คิดเป็นตัวเลขที่มีการบันทึกราวๆ 18 ล้านบัญชีของผู้ใช้ไลน์ รือเฟซบุ๊ก เป็นช่องทางในการสื่อสาร หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทรงพลังอย่างมากในยุคนี้

ดังนั้น เมื่อนักการเมืองอยากจะประกาศนโยบายใหม่ๆ หรือเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ รวมทั้งการตอบโต้ทางการเมืองต่อฝ่ายตรงข้ามแบบเร็วทันใจ รวมถึงต้องการสื่อสารกับสื่อมวลชนโดยตรง ก็ใช้โซเชียล มีเดียเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อในการนำข้อความที่ผู้สื่อสาร หรือนักการเมืองต้องการส่งนำไปเผยแพร่ต่อแบบไม่ตัดตอนเนื้อหา และยังมีทั้งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอประกอบด้วย เพื่อสร้างความน่าสนใจต่อประชาชนให้เข้ามาติดตาม คลิกไลค์ หรือฟอลโลว์ ในตัวผู้นำ

นักการเมืองระดับชาติที่นิยมใช้ เช่น สุเทพ เทือกสุบรรณ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตร หรืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ไม่ใช่แค่นั้น แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังเปิดอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อสื่อสารกับประชาชนในช่วงโค้งสุดท้ายของการอยู่ในอำนาจก่อนจะผลัดเปลี่ยนไปสู่การเลือกตั้ง เพราะอิทธิพลของสื่อโซเชียลมีผลโดยตรงต่อคะแนนนิยม ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาเล่นเอง ลำพังจะใช้สื่อภาครัฐคงใช้การไม่ได้อีกแล้ว

การใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือสื่อโซเชียล เผยแพร่ในทางการเมือง นับเป็นประโยชน์ต่อสังคมถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ผู้บริโภคข่าวสารพึงระวังและพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนด้วย

เพราะการสื่อสารบางอย่างอาจเป็นแค่การโฆษณาเกินจริง เหมือนการขายสินค้าก็แค่กลยุทธ์ทางการตลาด ไม่ใช่เฉพาะการบริโภคข้อมูลข่าวสารทางการเมืองเพียงอย่างเดียว นับรวมไปถึงการบริโภคข่าวสารด้านอื่นๆ ด้วย

อย่าตกเป็นเหยื่อทางสื่อโซเชียล เพราะบางครั้งเรื่องราวบางเรื่องที่เกิดขึ้น อาจเป็นแค่สร้างกระแสโดยปราศจากข้อเท็จจริง หรือหลักฐาน อย่าเอาแต่โหนกระแสกระหน่ำซ้ำเติมด้วยความสะใจ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ซึ่งไม่ต่างจากการใช้สื่อในทางผิดๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ใช้สื่อเพื่อแบ่งแยก หรือสร้างความเกลียดชัง

เมื่อวันนี้การเข้าถึงข้อมูลโดยง่าย ควรใช้สื่อไปในทางที่ถูกต้อง ต้องรอบคอบอย่างมีสติปราศจากอคติ