posttoday

ฤดูล่าที่ไม่สิ้นสุด

11 ตุลาคม 2561

เห็นข่าวล่าหมีขอล่าสุด ได้แต่ถอนหายใจ เรื่องเสือดำ คงยังไม่ลืมกัน

โดย...มะกะโรนี

เห็นข่าวล่าหมีขอล่าสุด ได้แต่ถอนหายใจ เรื่องเสือดำ คงยังไม่ลืมกัน เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นยิ่งสะท้อนว่า ฤดูล่านั้นไม่มีวันสิ้นสุดลงง่ายๆ

สถิติที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชบันทึกไว้ ตั้งแต่ปี 2552-2559 มีคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า 4,665 คดี ผู้กระทำผิด 5,428 คน ยึดสัตว์ป่าของกลางได้ทั้งหมด 106,988 ตัว แน่นอน ตัวเลขดังกล่าวกำลังบอกกับเราว่า ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งนิยมชมชอบการล่าสัตว์

อย่างไรก็ดี แม้จะยังไม่ได้จำแนกลงไปในรายละเอียด แต่ในจำนวนนี้น่าจะล่าด้วยเหตุผลหลักๆ เพียงสองข้อเท่านั้น นั่นคือ ล่าเพื่อยังชีพ และล่าเพราะนิยมชมชอบในเรื่องนี้

ข้อแรกออกจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สะท้อนถึงปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะความยากจน ขณะที่ข้อหลังนั้นน่าเศร้าใจแทนสัตว์ที่ถูกล่าเพราะคนกลุ่มนี้ ล่าเพราะยึดติดเป็นไลฟ์สไตล์ จะด้วยสืบทอดต่อๆ มาจากครอบครัวที่ชื่นชอบในการล่าสัตว์แปลกๆ มาบริโภคตามความเชื่อ เอาบางชิ้นส่วนมาเป็นยาโด๊ป หรือยาแก้โรคบกพร่องอะไรสักอย่าง หรือ
นำมาเป็นเครื่องรางของขลัง บ้างสะสมชิ้นส่วน ซึ่งหลายคนคงจะคุ้นตาอยู่บ้างกับบ้านที่ประดับผนังด้วย หนัง เขา หัว ของสัตว์ หรือกระทั่งทั้งตัว ประเด็นหลังนั้นกลายเป็นเครื่องแสดงความร่ำรวยได้อีกด้วย

ประเด็นหลังนี่เองที่ทำให้ การล่าสัตว์ป่า ทั้งจับเป็นและจับตาย ถูกพัฒนาเป็นการค้า หรือกระทั่งเป็นอุตสาหกรรมในบางประเทศ ได้ส่งผลให้สัตว์ที่เป็นเป้าหมายการล่าถึงกับสูญพันธุ์หรือจัดอยู่ในประเภทที่เสี่ยงสูญพันธุ์ไปจากโลก

ไมเคิล แพเทอร์นิที นักเขียนสารคดีจากนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เขียนเล่าข้อมูลที่น่าสนใจไว้เมื่อปี 2560 ว่า ในแอฟริกาใต้อุตสาหกรรมล่าสิงโตเลี้ยงเติบโตจนกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ มีไร่หรือฟาร์มกว่า 200 แห่ง เพาะเลี้ยงสัตว์ในตระกูลแมวนักล่าขนาดใหญ่จนคาดการณ์ว่า มีถึงประมาณ 6,000 ตัว เพื่อใช้สังเวยในอุตสาหกรรมนี้

ขณะที่ฟาร์มสำหรับล่าสัตว์ในสหรัฐอเมริกาใช่ย่อย มีสัตว์ชนิดพันธุ์จากภูมิภาคอื่นหลายสิบชนิด ตั้งแต่ม้าลายและจามรี ไปจนถึงโอริกซ์เขาดาบ ซึ่งสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว

การล่าสัตว์ที่เลี้ยงมาเพื่อล่าโดยเฉพาะนี้ ส่งผลกระทบเลวร้ายอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ขณะที่พรานได้ผืนหนังและหัวสัตว์ไปเชยชม ทุกวันนี้ แม้แต่กระดูกก็กลายเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะสามารถส่งไปขายในตลาดเอเชียเพื่อปรุงเป็นยาแผนโบราณหรือยาโป๊

ปี 2017 แอฟริกาใต้อนุญาตให้ส่งออกโครงกระดูกสิงโตมากถึง 800 โครง นักชีววิทยา กลุ่มนักอนุรักษ์ และนักรณรงค์ด้านสิทธิสัตว์แสดงความวิตกว่า กรณีอนุญาตให้ค้าและทำให้การค้าชิ้นส่วนสิงโตเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์หรือความต้องการกระดูกสิงโตมากขึ้น และอาจทำให้สิงโตในธรรมชาติที่เหลืออยู่ประมาณ 2 หมื่นตัว ถูกลักลอบฆ่ามากขึ้นตามไปด้วย

กลับมาที่เมืองไทยบ้านเรา แม้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะพยายามอย่างหนักในการปราบปรามป้องกันการล่าในทุกกรณีอย่างหนัก แต่ค่าหัวและค่าตัวของสัตว์ป่าหลายชนิด ซึ่งเปลี่ยนเป็นเงินทองแล้วก็ถือว่าไม่น้อย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรานน้อยใหญ่ ยอมเสี่ยงทำผิดกฎหมาย

เกิดเป็นสัตว์ป่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของมุมโลก ในสังคมยุคใหม่นั้นนับว่าเป็นความอาภัพ โชคร้ายอย่างยิ่ง นอกจากถูกล่าแล้ว พื้นที่ป่าซึ่งเป็นถิ่นอาศัยกำลังหายไปทุกวันๆ เสี่ยงสูญพันธุ์ในไม่นานนี้