posttoday

ปลูกต้นไม้กันเถอะ

12 กันยายน 2561

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเอง

โดย..สลาตัน  

เนื่องจากรู้สึกเอิบอิ่มกับนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเอง หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ที่กำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ และอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ป่าไม้ ให้ไม้ทุกชนิดในที่ดินกรรมสิทธิ์ ไม่เป็นไม้หวงห้าม การทำไม้ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่อีกต่อไป

ตอนนี้ทางคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ องค์การมหาชน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการการดำเนินและเข้ามาช่วยศึกษาถึงความเป็นไปได้ในทุกๆ ด้าน เพื่อให้มีความพร้อมรองรับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ใหญ่ โดยเฉพาะเจ้าของ
ที่ดินและเกษตรกรหน้าใหม่ที่หันมาประกอบธุรกิจปลูกไม้มีค่าไว้ยามเกษียณงาน

สิ่งที่ภาครัฐวาดหวังจากนโยบายนี้นั้น ต้องการเห็นประชาชนที่ครอบครองไม้เศรษฐกิจในที่ดินของตัวเองเกิดมูลค่า สามารถนำมาแปรใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจและไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป ตอนนี้ภาครัฐต้องการให้เกิดชุมชนไม้มีค่า 2 หมื่นชุมชน ในกรอบระยะเวลา 10 ปี จะทำให้มีผลกับประชาชนถึง 2.6 ล้านครัวเรือน เฉลี่ยตกครัวเรือนละ 400 ต้น จะได้ต้นไม้รวมกว่า 1,040 ล้านต้น ทั้งยังได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นถึง 26 ล้านไร่ ที่สำคัญที่สุดคือเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 10,400 ล้านบาท/ปี

เป้าหมายที่กางไว้ของภาครัฐฟังดูแล้วชวนหลงใหล เคลิ้มไปด้วยทำให้อยากลุกขึ้นจากเก้าอี้ไปปลูกต้นไม้ในที่ดินของตัวเองเสียจริง เผื่ออนาคตจะใช้ต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่มาแปรสภาพเป็นหลักค้ำประกันทางธุรกิจกับเขาได้บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูโอกาสและความเป็นไปได้ว่ามีมากน้อยขนาดไหน ลองอนุมานเล่นๆ ถ้าทำได้จริงตามคำพูดเราจะมีพื้นป่าและสิ่งต่างๆ กลับมาไม่น้อย ตามเป้าหมายที่ภาครัฐเขียนแผนไว้

ชาวบ้านได้ยินแบบนี้ถึงกับหูผึ่ง ทำนองว่าต่อไปนี้ไม่ต้องกังวลอีกแล้วว่าจะถูกจับกุมหากตัดไม้ในพื้นที่ของตัวเอง แถมยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีก เรียกว่าช่วยทำให้ชาวบ้านตัวเล็กๆ ลืมตาอ้าปากได้ไม่น้อย แต่ก็ต้องดูนโยบายนี้ในระยะยาวว่าจะเป็นเพียงการขายฝันชวนชื่นใจเท่านั้นหรือไม่

แต่ก็ไม่วายต้องมีเรื่องชวนหัวร้อน สร้างความลังเลใจสร้างรอยด่างให้กับนโยบายนี้ เมื่อ “พงศา ชูแนม” หัวหน้าพรรคกรีน ออกมาบอกว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมานี่เอง สมาชิกของธนาคารต้นไม้คนหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นาสัก จ.ชุมพร จับกุม หลังจากตัดไม้จำปาทองที่บิดาปลูกเอาไว้ประมาณ 10 ปี ในข้อหามีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองและนำเคลื่อนที่

สิ่งที่เปิดเผยออกมาก็ว่ากันไปตามกระบวนการทางกฎหมายตามขั้นตอนที่เหมาะสมตามอาญาของแผ่นดิน แต่ในเมื่อรัฐเองต้องการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจในที่ดินของเกษตรกร ที่ปลูกพันธุ์ไม้ดีมีราคาไว้แต่ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจับกุมดำเนินคดี เข้าใจว่ากฎหมายยังไม่ได้ถูกบังคับใช้ ยังเป็นเพียงร่างกฎหมายที่แม้รัฐจะเห็นชอบแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้อย่างถูกต้อง ไหนๆ รัฐพยายามวางเป้าหมายมาชัดเจนแล้ว การเริ่มต้นสร้างมิตรกับชาวสวนน่าจะดีกว่า ส่วนใครที่ตัดไม้หวงห้ามในพื้นที่ของตัวเอง รัฐควรเข้ามาทำความเข้าใจชี้แจงให้ชัดเจน หรืออะลุ้มอล่วยกันน่าจะสวยงาม

นโยบายนี้ไม่ใช่เพียงจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างหลักประกันเกษตรกร สร้างธุรกิจ เท่านั้น แต่เราจะได้ผืนป่าขนาดใหญ่ที่หนาแน่นขึ้นจากภาคประชาชน แม้จะมาด้วยกลไกแรงจูงทางราคาก็ตาม