posttoday

ยุติธรรมอำพราง

20 กรกฎาคม 2561

ความล่าช้า คือ ความไม่ยุติธรรม เป็นประโยคเด็ดที่ผู้ใดได้ยินแล้วต้องเจ็บอกเจ็บหัวใจ

โดย...นาย ป.

ความล่าช้า คือ ความไม่ยุติธรรม เป็นประโยคเด็ดที่ผู้ใดได้ยินแล้วต้องเจ็บอกเจ็บหัวใจ แต่ใช่ว่าระบบยุติธรรมจะเป็นต้นเหตุ เปล่าเลยระบบยุติธรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แค่กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าแล้วทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม แต่เป็นทั้งกระบวนการระบบราชการทั้งหมด เรื่องความไม่ยุติธรรมมักจะมาลงเอยแค่ไม่กี่ระบบ กล่าวง่ายๆ ถ้าไม่ใช่แค่ตำรวจ อัยการ หรือ ศาล แล้วจะไปโทษใครถ้าไม่ใช่ระบบราชการไทย

ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรยกเครื่องไม่ใช่แค่ระบบยุติธรรม แต่คือ การกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการระบบราชการที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่าคดีของตัวเองจะได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า เช่น ร้องทุกข์ กล่าวโทษ ณ สถานีตำรวจแห่งใดก็ได้ สร้างระบบป้องกันการแทรกแซงหรือครอบงำการใช้ดุลพินิจในการทำสำนวนของพนักงานสอบสวน และจัดตั้งหน่วยงานในสำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่วิเคราะห์คำพิพากษาเพื่อให้เกิดการให้ความเป็นธรรมแก่ทุกๆ ฝ่าย นั่นแค่ตัวอย่าง

เอาเข้าจริงเราต้องสร้างกระบวนการที่สามารถบอกวันเวลาและผลสัมฤทธิ์แก่ประชาชนให้ได้เห็น เช่น กำหนดไปเลยระยะเวลาในการส่งสำนวนการสอบสวนต่ออัยการ ที่สำคัญต้องมีระบบการประเมินหรือแจ้งความคืบหน้าว่าได้ตอบสนองต่อสิ่งที่ประชาชนเดือดร้อนได้อย่างไรจะได้เลิกบ่นกันเสียที เรื่องดองคดีจนหมดอายุความ

จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพระบบราชการเพื่อให้บริการประชาชน เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะคดีร้อน หรือสุ่มเสี่ยงจะถูกตัดตอน เราก็ต้องมีระบบคุ้มครองพยานที่สร้างความไว้วางใจได้เหมือนในต่างประเทศแก่ผู้ต้องหา จำเลย หรือโจทก์ เพราะระหว่างการดำเนินคดีอาจเกิดอุบัติเหตุโดยจงใจ เพื่อให้คดีเบี่ยงเบนไปจากความยุติธรรมที่ควรจะได้รับ

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเราก็ควรมี ทนายอาสา เพราะมีความจำเป็นอย่างมากที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือคดี ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนที่ควรทำ คือ ปรับปรุงระบบประกันตัว อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าปัจจุบันคดีรกโรงรกศาลจำนวนมาก เช่น คดีทะเลาะวิวาท คดีชกชิงวิ่งราว คดีผัวๆ เมียๆ หรือคดีหนี้นอกระบบ เป็นต้น ดังนั้นระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจึงควรมีการยกเครื่อง โดยเฉพาะการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อระบบยุติธรรมเองที่จะได้ทุ่มเวลาและกำลังเต็มที่กับคดีใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสังคมสูง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในระบบยุติธรรมมีคดีมากมายหลากหลาย บางคดีอาจไม่จำเป็นต้องรอ กระบวนการทางศาล อาจใช้วิธีการอื่นๆ แทน เช่น การเรียกทรัพย์สินเป็นหลักประกัน เพิ่มมาตรการลงโทษที่หลากหลาย เช่น นำโทษปรับมาแทนโทษจำคุก หรือเรียกค่าปรับตามความสามารถในการชำระมาใช้ และแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องหนี้และสัญญาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพราะต้นทุนของประชาชนสูงต่ำต่างกัน

เช่น การเสนอให้ทบทวนการจำแนก ประเภทคดียาเสพติดและพัฒนาระบบบำบัดผู้ติดยาเสพติด เพื่อลดอุปสรรคในการกลับคืนสู่สังคมของ ผู้พ้นโทษ เพราะผู้ต้องหาบางรายอาจหลงผิด ดังนั้นต้องมีระบบการกำหนดโทษที่โปร่งใสและได้สัดส่วนกับความผิด การเรียกร้องโทษประหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญในระบบยุติคดีอาญา คือ การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม และบูรณาการฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำผิด

ไม่ว่าผู้กระทำผิดนั้นทำผิดแค่ขโมยเห็ดในป่า หรือคดีฆ่าคนตายยกครัว อย่างที่บอกฆ่าโจรนับร้อย คือฮีโร่แต่ถ้าฆ่าผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว คือ ฆาตกร