posttoday

เข้มงวดกฎหมาย

17 กรกฎาคม 2561

ปัญหาขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้ายังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนไม่เว้นแต่ละวัน

โดย...แสงตะเกียง

ปัญหาขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้ายังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนในตอนเช้าและตอนเย็นที่มีผู้ใช้รถใช้ถนนสัญจรเดินทางเป็นจำนวนมาก

เมื่อพิจารณาให้ดีปัญหาไม่ได้อยู่ที่ช่วงระยะเวลาเร่งด่วนหรือถนนกว้างไม่เพียงพอ หากแต่เป็นจิตสำนึกของผู้ขับขี่ที่ขาดตกบกพร่อง ไม่สนใจคำนึงถึงสิทธิความปลอดภัยของผู้อื่นที่อาจได้รับความเดือดร้อนทั้งทางกายและทรัพย์สิน

แม้จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนขับขี่อย่างถูกต้องตามกฎจราจรมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเกิดการกระทำความผิดใช้ทางเท้าผิดประเภท จนมีการร้องเรียนจากประชาชนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ผ่านช่องทางร้องเรียนต่างๆทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องหาแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างเด็ดขาด

โดยดำเนินโครงการ 3 ประสาน ซึ่งเป็นการร่วมมือดูแลพื้นที่ทางสาธารณะระหว่าง เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ กทม. เพื่อดูแลพื้นที่ถนนสายหลักที่มักเกิดปัญหาต่อการสัญจร ไปจนถึงคูคลองต่างๆ ป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำซาก

ทั้งนี้หลัก 3 ประสานมุ่งเน้นเฝ้าดูแล สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน หากพบเห็นผู้กระทำผิดขับขี่รถจักรยานยนต์ จอดรถบนทางเท้า หรือขับขี่รถย้อนศรผิดกฎจราจร จะเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายจับปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของ
บ้านเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่เทศกิจมีอำนาจในการจับปรับ โดยหากเป็นการกระทำผิดครั้งแรกจะตักเตือนก่อน แต่เมื่อมีการกระทำผิดซ้ำ กทม.จำเป็นต้องเริ่มจับปรับแบบอัตราขั้นบันไดเริ่มต้นที่ 500 บาท และต่อเนื่องไปที่ 1,000-5,000 บาท 

อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดให้มีการตั้งโต๊ะจับปรับเหตุกระทำผิดซึ่งหน้าตามจุดจับปรับนำร่องในถนนสายหลักจำนวน 115 จุด ทั่วพื้นที่ 50 เขต เริ่มดำเนินการดีเดย์ในวันที่ 12 ก.ค.นี้เป็นต้นไป

สำหรับจุดกวดขันตั้งโต๊ะจับปรับ อาทิ ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินกลาง ถนนหลานหลวง ถนนรัชดาภิเษกบริเวณสี่แยกพระราม 9 เขตห้วยขวาง ถนนศรีอยุธยา ถนนลาดพร้าวปากซอย 79 ปากซอยแจ้งวัฒนะ 12-ปากซอยแจ้งวัฒนะ 14  เขตดอนเมือง และถนนประชาอุทิศทั้งสองฝั่งตั้งแต่แยกนาหลวง-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการตาสับปะรดร่วมจับมือกับวินมอเตอร์ไซค์ให้ช่วยสอดส่องดูแลทางเท้าและสร้างความร่วมมือให้คนขับรถรับจ้างไม่ขับรถบนทางเท้าเสียเอง เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้ขับขี่อื่นๆ อีกด้วย คาดว่าภายในระยะเวลา 1 เดือน ประชาชนจะเริ่มเข้าใจถึงการเคารพกฎหมาย การใช้พื้นที่ทางเท้าอย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันสำนักเทศกิจอยู่ระหว่างทดลองระบบการใช้แอพพลิเคชั่นรางวัลนำจับ ซึ่งได้พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด โดยแอพพลิเคชั่นนี้มีความแตกต่างจากการรับแจ้งผ่านไลน์ หรือช่องทางอื่นๆ ที่ต้องมีเจ้าหน้าที่นั่งประจำรอตรวจสอบข้อมูล มีความสามารถช่วยคัดกรองตรวจสอบข้อมูลอัตโนมัติ หากเอกสารหลักฐานครบองค์ประกอบการรับแจ้งจะมีการส่งต่อข้อมูลไปยังพื้นที่ที่เขตรับผิดชอบทันที นับเป็นการทำงานเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดังนั้น ใครคิดฝ่าฝืนไม่แยแสกฎหมายเตรียมเงินค่าปรับอัตราขั้นต่ำ 500 บาทไว้ให้พร้อม ปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งทางออกเดียวที่สามารถจัดการกับเรื่องนี้ได้อย่างยั่งยืนที่สุด คงหนีไม่พ้นการทำงานของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดก็ยากที่ใครจะฝ่าฝืนต่อไปได้