โดย...แสงตะเกียง
แม้ว่าสุดท้าย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ยอมพักรบและยืนยันว่า กทม.ไม่เข้าไปบริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยจะรอจนกว่าสัญญาที่ กทม.มีต่อมูลนิธิฯ สิ้นสุดลงในปี 2564 เพราะแรงต้านจากเครือข่ายศิลปินและภาคประชาชนสังคมศิลปวัฒนธรรม ที่เข้ามายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับไม่ให้ กทม.เข้ามาบริหาร กระทั่งนายกฯ เกรงจะเกิดม็อบบานปลายในช่วงเวลาเช่นนี้ จึงตัดสินใจขอให้ผู้ว่าฯ กทม. พิจารณาตามเสียงประชาชนก่อน
ทว่าการเบรกที่เกิดขึ้น ยังคงทิ้งปมปัญหาไว้ใต้พรมและรอวันปะทุขึ้นมาอีก
มาพิจารณาเหตุผลทางฝั่งของมูลนิธิฯ ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่มูลนิธิฯ บริหารหอศิลป์ มีกิจกรรมจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการและแสดงศิลปะกว่า 100 ครั้ง/ปี ยอดจำนวนผู้เข้าชมมากกว่าปีละ 1 หมื่นคน ทั้งยังจัดหางบประมาณจัดกิจกรรมได้เองนอกเหนือจากที่ กทม.ให้งบอุดหนุนปีละ 40 ล้านบาท ดังนั้นไม่มีคำว่าขาดทุนแน่นอน ตรงกันข้ามมีรายได้เพียงพอ
สำหรับงบประมาณการบริหารจัดการหอศิลป์คิดเป็น 53% มาจากเงินสนับสนุนจาก กทม. ส่วนที่เหลือจัดหามาเองจากการรับบริจาคเป็นเงิน 40 ล้านบาท รวมแล้วแต่ละปีหอศิลป์ใช้เงินราว 80 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเทียบการสนับสนุนจากภาครัฐในประเทศอื่นถือว่าน้อยมาก เช่น สิงคโปร์ สนับสนุนงานหอศิลป์เมืองปีละ 63% ขณะที่ กทม.มีงบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาท ถือเป็นเงินงบประมาณที่เจียดมาให้หอศิลป์แค่ 0.05% เท่านั้น
มาทางฝั่งสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. กันบ้าง ปรากฏว่ากลายเป็นคนละเรื่อง
เพราะเมื่อดูรายรับประจำปีพบว่าทางหอศิลป์ได้รับเงินจากหลายส่วน ทั้งจากเงินบริจาคและเงินสนับสนุนของ กทม. โดยให้เหตุผลระบุการขอเงินมาว่า “หอศิลป์ขาดทุน” ดังนั้นจึงเสนอเรื่องขอเงิน กทม.ปีละ 70 ล้านบาท แต่เมื่อผ่านกระบวนการพิจารณาของสภา กทม. แล้วมีมติให้เงินสนับสนุนปีละ 40 ล้านบาท เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งหอศิลป์ชี้แจงรายจ่ายปีละประมาณ 70-80 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมูลนิธิฯ หามาเอง 30 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนของ กทม. อีก 40 ล้านบาท ผู้บริหารหอศิลป์จึงสรุปว่ามีรายรับเพียงพอต่อรายจ่าย และยังเหลือเงินอีกเล็กน้อยจะขอเก็บไว้เอง ดังนั้นถ้า กทม.ไม่ให้เงินสนับสนุนอีก แสดงว่าหอศิลป์จะขาดทุนทันที
เมื่อลงลึกในสัญญาพบว่า ตามหลักแล้ว กทม.มีหน้าที่ให้เงินสนับสนุนในช่วง 5 ปีแรกของการก่อตั้งเท่านั้น และเมื่อหอศิลป์ตั้งตัวได้แล้ว กทม.ไม่จำเป็นต้องให้เงินอีก เพื่อที่จะจัดสรรเงินจำนวนนี้ไปใช้บริหารจัดการบ้านเมืองในเรื่องอื่นๆ ต่อไป ยิ่งถ้าหอศิลป์ได้กำไรต้องคืนเงินทุกบาททุกสตางค์มาให้ กทม.อีกด้วย แต่ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ แจ้งว่ากำไรหรือเงินที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วขอเก็บไว้เอง ทำให้ตลอดมาที่ประชุมสภา กทม. ทุกยุคทุกสมัยอนุญาตให้มูลนิธิฯ เก็บเงินไว้เอง ถือว่าค้ำจุนกันไป
ท้ายที่สุดประชาชนเห็นแล้วว่าหอศิลป์ยังอยู่ในการดูแลของมูลนิธิฯ ดังนั้นเมื่อนั่งฟังศิลปินชี้แจงการบริหารเงินแล้วคงต้องบอกว่า “พูดให้หมด” แล้วสังคมจะช่วยหาทางออกที่ชัดเจนกว่านี้
ตามหามือปืน เช็กอินงานอาร์ต หอศิลป์ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์
วันที่ 02 ก.ค. 2560
ภาพถ่าย เปิดประวัติศาสตร์ไทย
วันที่ 22 ก.ย. 2559
แกนนำกปปส.ถกแนวทางขวางเลือกตั้ง
วันที่ 24 ม.ค. 2557
"สาทิตย์"นัดรวมพลหน้าหอศิลปฯก่อนบุกสตช.
วันที่ 30 พ.ย. 2556
กรีนมูฟฯเดินรณรงค์ค้านเขื่อนแม่วงก์
วันที่ 02 พ.ย. 2556