posttoday

คนเร่ร่อน

10 เมษายน 2561

กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีภาพลักษณ์ที่ดีในทุกด้านได้หรือไม่ คือ คำถามที่แฝงไปด้วยความคาดหวังของคนเมืองทุกคน

โดย...แสงตะเกียง

กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีภาพลักษณ์ที่ดีในทุกด้านได้หรือไม่ คือ คำถามที่แฝงไปด้วยความคาดหวังของคนเมืองทุกคน ที่อยากเห็นมหานครแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งทุกชีวิตได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง แม้ว่านานาประเทศจะให้การยอมรับว่า กทม.เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและแหล่งอารยธรรม วัฒนธรรม ที่มีศิลปะโบราณมาตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์

ทว่าคุณค่าความงามของเมืองแห่งนี้ยังคงมีปัญหาคนเร่ร่อน ขอทาน และค้าประเวณีหมักหมมอยู่และพบเห็นได้ทั่วไป จนกระทั่งต้องมองย้อนกลับมาพิจารณาว่าแท้จริงแล้วการดูแลทุกชีวิตในเมืองกรุงมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย พบว่าผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในปี 2559 จำนวน 3,455 คน แยกเป็นชาย 2,112 คน (61%) และหญิง 1,374 คน (39%) ในเขตพระนครมีมากที่สุด 604 คน (17%) รองลงมา คือ เขตบางซื่อ 301 คน (9%) เขตจตุจักร 249 คน (7%) เขตปทุมวัน 218 คน (6%) เขตสัมพันธวงศ์ 203 คน เขตคลองเตย 152 คน (4%) เขตราชเทวี 149 คน (4%) เขตพญาไท 142 คน (6%) เขตบางกะปิ 140 คน (4%) และเขตบางรัก 136 คน (4%) โดยสถิติที่พบยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่มีทีท่าจะลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม คนเร่ร่อนเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบจากสภาวะทางเศรษฐกิจ จึงหันมาเลือกเป็นขอทาน ซึ่งการขอทานกลายเป็นอาชีพหนึ่งที่อาศัยความน่าสงสารมาเรียกร้องแบมือขอเงินจากผู้ใจดี เข้าทำนองการหลอกลวงประชาชน เนื่องจากขอทานมีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉลี่ยรายได้ของขอทานรายหนึ่งเป็นเงินประมาณ 2,000-5,000 บาท/วัน

ขณะที่รายได้ต่ำสุดที่ได้คือ 500 บาท ยิ่งน่าตกใจเมื่อขอทานที่มีรายได้สูงมักทำให้ตัวเองมีสภาพสกปรกที่สุด น่าสงสารเวทนา บางรายแสร้งทำแผลให้เหวอะหวะ หรือแสร้งทำแขน-ขาด้วนด้วยแล้ว ยิ่งมีรายได้สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงพบว่าขอทานเกลื่อนเมือง โดยเฉพาะในเขตใจกลางเมืองของ กทม.

ปมปัญหานี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระสำคัญในที่ประชุมสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ถึงการจัดระบบการดูแลแก้ปัญหาคนเร่ร่อน ขอทาน เพื่อเสนอต่อผู้บริหาร กทม. ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย อาทิ จัดหาที่พัก อาหาร ฝึกอาชีพ โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 จัดให้คนขอทาน คนไร้ที่พึ่ง และคนค้าประเวณีไปอยู่ในการดูแลในระบบของรัฐ รวมถึงปรับปรุงกฎหมายให้ กทม.
มีอำนาจจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถาวร

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนในสังคมมีข้อเสนอแนะที่ผู้บริหาร กทม.อาจนำไปพิจารณาได้อาทิ แก้ไขปัญหาด้วยการนำตัวส่งสถานสงเคราะห์ จัดหาที่พักชั่วคราวให้หรือส่งกลับภูมิลำเนา พร้อมทั้งประสานให้เกิดความร่วมมือระดับจังหวัดเข้ามาแก้ปัญหานี้ด้วยกัน 

อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามไปมากกว่านี้ เพราะการขอทานไม่ใช่อาชีพที่ขายความน่าสงสาร กลายเป็นการทำบุญแต่ได้บาป หรือปัญหาค้าประเวณีที่กลายเป็นวงจรแพร่กระจายของโรคเอดส์ไม่จบสิ้น ดังนั้นความพยายามหาทางให้พวกเขากลับเข้าสู่สังคมโดยเร็ว จึงเป็นเรื่องที่ กทม.ต้องใส่ใจเพื่อให้ กทม.เป็นเมืองที่ทุกชีวิตได้รับการดูแลโดยแท้จริง