posttoday

ถวิล เลิกแตง จากคนทำกราฟฟิกสู่เกษตรกร

15 กรกฎาคม 2560

หนุ่มกราฟฟิกดีไซเนอร์ จิ้น-ถวิล เลิกแตง ได้ทอดทิ้งเมืองหลวงเพื่อกลับไปรับหน้าที่ลูกหลานเกษตรกร จ.สุโขทัย

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : ถวิล เลิกแตง

 หนุ่มกราฟฟิกดีไซเนอร์ จิ้น-ถวิล เลิกแตง ได้ทอดทิ้งเมืองหลวงเพื่อกลับไปรับหน้าที่ลูกหลานเกษตรกร จ.สุโขทัย และพัฒนาที่ดินรกร้างให้กลายเป็น "บ้านเกษตรทนงดิน" ด้วยวิธีเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 

 เขาเริ่มต้นเปลี่ยนชีวิตและพลิกผืนดินในปี 2558 โดยนำทฤษฎีขั้นต้นเรื่องบริหารจัดการน้ำและที่ดินมาปรับใช้กับพื้นที่ ซึ่งกล่าวได้ว่าเกษตรมือใหม่คนนี้เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะไม่มีความรู้ด้านเกษตรกรรม

 "ผมได้แต่อ่านและดูสารคดีเกี่ยวกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จากนั้นก็เริ่มลงมือทำจริง ซึ่งเจอปัญหาเยอะมาก เพราะเราไม่รู้เรื่อง ได้แต่ทำตามเขาไปโดยไม่ปรับให้เข้ากับสภาพดิน สภาพน้ำ และสภาพอากาศของเราเอง ปัญหาจึงเป็นครูให้ผมต้องค้นคว้าหาคำตอบ และปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรไปตลอด จนถึงตอนนี้ 2 ปีกว่าแล้ว เรารู้เรื่องมากขึ้นก็จริงแต่ก็ยังต้องปรับ เพราะธรรมชาติไม่เคยเหมือนเดิมแม้แต่ปีเดียว"

 ปัญหาที่เขาประสบเป็นอันดับแรกคือ ภัยแล้ง ที่แม้ว่าจะมีบ่อกักเก็บน้ำฝน 1 บ่อ แต่ก็ยังไม่พอสำหรับการทำนาทำสวนขนาด 3 ไร่

ถวิล เลิกแตง จากคนทำกราฟฟิกสู่เกษตรกร

 "เพราะสุโขทัยร้อนจัด" จิ้น กล่าวต่อ

 "จากตอนแรกที่คิดว่าจะเลี้ยงสัตว์ก็เลี้ยงไม่ได้ เลี้ยงได้แค่ปลานิล เพราะไม่มีน้ำมากพอสำหรับการเลี้ยงสัตว์บก ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือต้องปลูกพืชทำพันธุ์"

 กล่าวคือ ไม่ใช่การปลูกเพื่อเก็บผลผลิตจำนวนมาก แต่ปลูกเพื่อขายทั้งต้นไว้ทำพันธุ์ต่อไป โดยเขาเลือกมะม่วงและกล้วยเป็นหลัก นอกนั้นจะปลูกพืชอายุสั้นไว้เป็นอาหารของครอบครัว เช่น พริกขี้หนู มะนาว ชะอม ฟักทอง เป็นต้น

 สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งนั้น เวลานี้เขาลงมือขุดบ่อเพิ่ม 2 บ่อ และใช้วิถีธรรมชาติเข้ามาเสริม โดยปล่อยให้หญ้าขึ้นปกคลุมดินเพื่อเก็บกักความชื้นไว้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของเพื่อนบ้านที่ไม่เข้าใจ

 นอกจากนี้ บ้านเกษตรทนงดินยังสามารถปลูกข้าวหอมมะลิได้ปีละ 1 ครั้ง จำนวน 20 ไร่ ซึ่งมากพอให้เก็บไว้กินตลอดปีและเหลือบ้างสำหรับขาย โดยจิ้นเลือกปลูกข้าวแบบอินทรีย์ทั้งหมดจึงทำให้ได้ผลผลิตน้อยกว่านาที่ปลูกแบบใช้เคมี

ถวิล เลิกแตง จากคนทำกราฟฟิกสู่เกษตรกร

 "เราได้ข้าวน้อยแต่ไม่สามารถขายแพงได้ ดังนั้นผมจึงทิ้งอาชีพกราฟฟิกที่ทำมาไม่ได้ เพื่อหาเงินมาให้พอทำเกษตร จริงๆ การเป็นเกษตรกรอินทรีย์มันเหนื่อย ต้องอดทน ต้องขยัน เพราะต้นไม้ต้องดูแลทุกวัน รดน้ำทุกวันห้ามขาด ถ้ามีแรงแต่ไม่มีเงินก็อยู่ได้ยาก ทั้งสองอย่างจึงต้องไปด้วยกัน"

 ถามว่าวันนี้อยู่ตัวแล้วหรือไม่ เขาตอบทันควันว่า ต้องรอ เพราะ 2 ปีแรกเจอปัญหาน้ำไม่มี แต่พืชต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่ารากจะฝังดิน

 "มีบ้างที่ท้อแท้กับมัน ตามทฤษฎีต้องมีพื้นที่น้ำ 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด แต่เราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ น้ำทุ่งมาเมื่อไหร่เราไม่รู้ จะป้องกันไม่ให้น้ำระเหยเร็วเกินไปได้ยังไงเราก็ไม่รู้ นี่แหละเป็นอุปสรรคที่ต้องคิดปีต่อปี สู้กันปีต่อปี ซึ่งคิดว่าน่าจะใช้เวลาอีกราวๆ 5 ปี บ้านเกษตรทนงดินจะเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน จนถึงวันนั้นผมอาจจะไม่ต้องนั่งทำกราฟฟิกหน้าคอมพิวเตอร์ แต่ก้มหน้าสู้ดินอย่างเดียวก็ได้" จิ้น กล่าวทิ้งท้าย

 อย่างไรก็ตาม ปีนี้เขาอาจปลูกข้าวได้ 2 ครั้งหลังจากมีบ่อน้ำเพิ่มขึ้น ผู้ที่สนใจอยากบริโภคข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรง สามารถติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/ThanongDinFarm