posttoday

แก่นสารความสุข

17 เมษายน 2560

เห็นท่านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาบอกเมื่อวันก่อนว่าเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนา

โดย...มะกะโรนี

เห็นท่านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาบอกเมื่อวันก่อนว่าเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ประกาศผลการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกประจำปีนี้ โดยระบุว่า ไทยนั้นเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดอันดับ 2 ของอาเซียน อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับที่ 32 ของโลก

มีการระบุด้วยว่าดัชนีที่สหประชาชาตินำมาใช้วัดผลรอบนี้ มีทั้งจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ อายุขัยเฉลี่ยของประชากร เสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตและทำงาน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในสังคม ความโปร่งใส และอื่นๆ ซึ่งในปีนี้อันดับโลกของไทยขยับดีขึ้นจากครั้งก่อนมาอีก 1 อันดับ

ก่อนหน้านี้ เราก็เพิ่งคว้าแชมป์ประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก จากผลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กผลการจัดอันดับเหล่านี้น่าเชื่อถือแค่ไหนอย่างไรเป็นเรื่องที่เกินกำลังที่จะตามไปตรวจสอบ

สิ่งที่พอจะทำได้คือการตั้งแง่กับเรื่องนี้ ตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลถึงได้ยึดถือการจัดแรงกิ้งดังกล่าวเป็นสาระสำคัญอย่างออกนอกหน้า จนต้องมีการออกมาแถลงอย่างแสนยินดีเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว

ที่ผมบอกว่าน่าสนนั้นเพราะว่ากันจริงๆ ตัวเลขจีดีพีนั้นเป็นสิ่งที่ถูกนำมาวัดความสุขความทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะนามธรรมได้จริงๆ หรือ

ก่อนหน้านี้ แวดวงวิชาการเคยระบุว่าจีดีพีเป็นระบบการประเมินที่ถูกคิดค้นขึ้นเพียงเพื่อเป็นตัวชี้วัดการผลิตในตลาดโดยรวมของแต่ละประเทศ จึงไม่สามารถวัดคุณภาพชีวิตได้รอบด้านโดยเฉพาะมิติด้านชีวิตและสังคม ซึ่งการสำรวจมักจะจงใจมองข้ามประเด็นนี้ จีดีพีนั้นไม่ครอบคลุมถึงคุณภาพด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

บทสรุปด้านวิชาการยังระบุด้วยว่าจีดีพีนั้นมีความบกพร่องในหลายด้าน เช่น กระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม จีดีพี ไม่สนใจเรื่องการกระจายรายได้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ จึงไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยรวม

นอกจากนี้ เมื่อสิ่งแวดล้อมแย่ลงหรือถูกทำลายมากขึ้นจีดีพีกลับเพิ่มขึ้น เพราะมลภาวะหรือต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มจากการขยายตัวของจีดีพี เช่น ค่าความเสื่อมของทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป ไม่เคยถูกนำไปตรวจนับและหักออกจากค่าจีดีพี

มาตรวัดจากตัวเลขนี้จึงสมควรถูกตั้งแง่ว่าไม่ใช่ความยั่งยืน หรือใช้กำหนดคุณภาพชีวิตที่แท้จริงและสามารถมองได้เช่นกันว่าไม่น่ายึดเป็นแก่นสารนัก

ยิ่งกว่านั้นสำหรับสังคมพุทธแล้วดูเหมือนตัวเลขจีดีพียิ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่านำมายึดเป็นแก่นสารได้อย่างสิ้นเชิง

หากจำแนกความสุขด้วยวิธีในทางพุทธ ทางพระ ความสุขนั้นเป็นสิ่งที่แยกออกเป็นสองแบบ นั่นคือ “สามิสสุข” หรือความสุขที่อิงอามิส พระท่านนิยามว่าเป็นสุขเวทนาที่เกิดจากร่างกายได้สัมผัสรูป รส กลิ่น เสียงใดๆ แล้วเกิดยินดี พึงใจ สุขแบบนี้เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน ถือเป็นความสุขที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร ไม่จีรัง ความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง คือ “นิรามิสสุข” หรือสุขที่ไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดกิเลส เป็นสุขแบบสงบจากภายใน

การยึดแรงกิ้งนี้เป็นแก่นสารจึงถูกมองได้ในที่สุดว่ารัฐบาลกำลังสิ้นท่าในการเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน โดยหลงลืมไปว่าสิ่งที่ควรทำคือกลับไปยึดเรื่องการทำงานและผลงานเป็นหลัก เพราะหากสองสิ่งนี้ล้มเหลวตัวเลขดัชนีใดๆ ก็ช่วยรัฐบาลไม่ได้