posttoday

อย่าเพิ่มปัญหาให้ฝุ่น

23 มกราคม 2562

ปัญหาฝุ่นใน กทม.ก็แย่อยู่แล้ว แต่ต้องระวังที่จะแย่กว่าเดิมคือปัญหา

เรื่อง ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ปัญหาฝุ่นใน กทม.ก็แย่อยู่แล้ว แต่ต้องระวังที่จะแย่กว่าเดิมคือปัญหาความแตกตื่น จนฝุ่นตลบ

เพราะมีข่าวสารพัดมาตรการ ต่างถูกงัดเตรียมใช้ออกมา

ที่ปรากฏออกมานับตั้งแต่กรมควบคุมมลพิษ เปิดประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยได้ข้อสรุปแนวทางในการแก้ไข

เริ่มจาก เร่งดำเนินการและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น กองบังคับการตำรวจจราจร เพิ่มหน่วยเคลื่อนที่ตรวจวัดควันดำ เร่งตรวจสภาพรถโดยสาร ขสมก. เร่งทำฝนหลวงอย่างเข้มข้นในช่วงสัปดาห์นี้

ถัดมาหากค่าฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ยทั่วพื้นที่ กทม.เกิน 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน เสนอให้ควบคุมการจราจรและการก่อสร้างเข้มข้นขึ้น

อาทิ การลดจำนวนรถบนท้องถนน เริ่มจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ห้ามข้าราชการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของกรมอนามัย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

หากดำเนินการตามมาตรการแล้วฝุ่นละอองยังไม่ลดลง ข้อเสนอสุดท้ายจะงัดมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาแก้ไขปัญหา

ว่าก็ว่าเถอะ ถ้าเป็นอย่างที่ข่าวออกมา เห็นทีจะอ่วมกันทั้งเมือง

เศรษฐกิจ ธุรกิจ จะได้รับผลกระทบจากความแตกตื่น

มาก่อนใคร เห็นจะเป็นการท่องเที่ยว ที่บรรดานักท่องเที่ยววางแผนเดินทางกันเป็นเดือน จะยกเลิกการเดินทางมา กทม.อย่างแน่นอน จากกระแสข่าวที่เผยแพร่ออกไป จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง

เมื่อการท่องเที่ยวหดหาย ต่อไปก็เป็น การลงทุน ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นความเสี่ยง

ร้อนถึงกรมอนามัย ต้องออกมาแก้ข่าวความเข้าใจผิดว่ากรมอนามัยจะต้องเป็นผู้ออกประกาศในการควบคุมสถานการณ์ หากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 วิกฤตรุนแรง

แต่ความจริงแล้ว พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ให้อำนาจนายกฯ เป็นผู้สั่งการ เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุภยันตรายต่อสาธารณชนอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษ

จะเป็นการห้ามขับรถยนต์ส่วนตัว การปิดโรงเรียน สถานที่ทำงาน ก็ทำได้หมด จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ทว่ามันเร็วเกินไปที่จะใช้อำนาจเด็ดขาด เพราะมันต้องมีองค์ประกอบที่สาหัส

ค่าฝุ่น PM2.5 จะต้องเกิน 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน ครอบคลุมพื้นที่เกินครึ่งหนึ่งของ กทม. จึงจะเข้าข่ายเป็นอันตราย ใช้อำนาจตามมาตรา 9

ปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นนั้น ค่าฝุ่น PM2.5 ยังขึ้นๆ ลงๆ สูงแค่บางจุดของ กทม.และปริมณฑลเท่านั้น

ในขณะนี้จึงอาศัยกฎหมายมาบังคับใช้ เช่น ผู้ว่าฯ กทม.และจังหวัดปริมณฑล มาบังคับการห้ามเผาในที่โล่ง ใช้กฎหมายจราจรและขนส่ง ในการควบคุมรถบรรทุกในการเข้าออกเมือง การตรวจจับรถควันดำ เป็นต้น

และที่สำคัญพื้นที่มีปัญหา ก็คือบริเวณที่จราจรติดขัด

ฉะนั้น จึงควรตั้งหลักกันให้ดี อย่าให้ปัญหาฝุ่นบานปลาย

พอไม่ทำก็ไม่จัดการกันเลย แต่พอตกใจก็ทำเกินเสียอีก