posttoday

นโยบายอย่าคับแคบ

25 กันยายน 2561

นโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้นั้น เป็นการสะท้อนความคับแคบเชิงนโยบาย ด้วยการดึงเอาพื้นที่ซึ่งชุมชนเคยดูแล วัดเคยปกป้องรักษา กลับไปสู่การควบคุมของรัฐ

โดย..ณ กาฬ เลาหะวิไลย

บ้านเราเมืองเราหลากหลายปัญหามีจุดเริ่มต้นจากความคับแคบทางความคิดในนโยบายแห่งรัฐ

ตัวอย่างเคยเขียนถึงไปเมื่อวาน คือนโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ที่ประกาศเป็นแผนปฏิรูปประเทศไทย

นโยบายดังกล่าวต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ของประเทศหรือประมาณ 130 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% อีก 15% เป็นป่าเศรษฐกิจ ภายในปี 2564

ในส่วนป่าอนุรักษ์หาพื้นที่ได้แล้ว 73.2 ล้านไร่ หรือประมาณ 22% และขาดอีกประมาณ 9-10 ล้านไร่

มองไปมองมาไม่รู้จะหาทางไหน เลยมีคำสั่งให้กรมป่าไม้ ส่งมอบพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่า ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 10 ล้านกว่าไร่ โอนให้กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ

ที่เป็นปัญหาคือบางแห่งเป็นป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ ที่ชุมชนช่วยกันดูแลรักษากันมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นบางพื้นที่ยังเป็นของวัดป่า ที่ได้รับอนุญาตดูแลรักษาป่าฟื้นฟูมาอย่างต่อเนื่องร่วมกับชาวบ้านและหน่วยราชการในท้องถิ่น โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียเงินสักสลึงในการดูแล

ทั้งหมดจึงเป็นการดึงเอาพื้นที่ซึ่งชุมชนเคยดูแล วัดเคยปกป้องรักษา กลับไปสู่การควบคุมของรัฐ สุ่มเสี่ยงจะสร้างความขัดแย้ง สร้างปัญหา ทำให้ป่าสมบูรณ์สูญหายไป

เป็นการสะท้อนความคับแคบเชิงนโยบาย ไม่เข้าใจหลักการภูมิสังคมคิดเพียงแต่การสร้างตัวเลขให้ครบ

ในความเป็นจริงแล้ว การรักษาป่า สิ่งสำคัญไม่ใช่อำนาจรัฐ แต่อยู่ที่ชุมชนต้องร่วมกันดูแลรักษาในหลากลักษณะ

บางลักษณะก็สร้างเป็นป่าชุมชน บางลักษณะก็ทำเป็นป่าอนุรักษ์โดยชุมชนร่วมกับหน่วยราชการ มีวัดป่าเป็นศูนย์กลาง

นักวิชาการหลายคน อาทิ เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เคยยกตัวอย่างความคับแคบเชิงนโยบายมาแล้วอย่างน่าฟัง

เพิ่มศักดิ์เคยรับราชการที่กรมป่าไม้ สิ่งที่ทำมากสุดนอกจากทำงานร่วมกับชุมชน คือการนำเจ้าหน้าที่ป่าไม้ของเพื่อนบ้านมาดูงานในไทย อาทิ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้

เวลาผ่านไปแต่ละประเทศก้าวไปไกลมาก ยกเว้นไทย ที่พายเรือในอ่าง ก้าวไม่พ้น ทัศนคติที่ขวางการพัฒนา โดยเฉพาะการมองว่าชุมชนเป็นผู้ทำลายป่า

เนปาล ชุมชนเคยทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ อินเดีย เจ้าหน้าที่เคยถือหวายไล่ชาวบ้านออกจากป่า แต่เมื่อนำชุมชนเข้าไปดูแล ใช้ประโยชน์จากป่า ก็เกิดรายได้เป็นกอบเป็นกำ แบ่งปันเป็นภาษีอากร สร้างชุมชน สร้างพื้นที่ป่า

แต่ไทยกลับไปไม่ถึงไหน เสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย

การดึงชุมชนเข้าไปดูแลป่า ใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน หรือการให้วัดป่า ชุมชน ดูแลรักษาป่าเชิงอนุรักษ์ เป็นการดูแลป่าตามสภาพชุมชน เป็นการพัฒนาอยางยั่งยืน เลิกติดกรอบความคิดเดิมๆ เสียที

คงเคยได้ยิน ...แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ

แมวสีเขียวลายพราง ไปตรองดูให้ดีๆ เถอะ