posttoday

รอดูไพรมารีโหวต

22 มิถุนายน 2561

เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องติดตาม เมื่อจะมีการประชุมหารือร่วมระหว่าง  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม และตัวแทนพรรคการเมืองภายในสัปดาห์หน้า

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องติดตาม เมื่อจะมีการประชุมหารือร่วมระหว่าง  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม และตัวแทนพรรคการเมืองภายในสัปดาห์หน้า

ประเด็นสำคัญ ก็คือ การเดินหน้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามโรดแมป

นั่นหมายถึงการมองถึงความเป็นไปได้ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นช่วงเดือน ก.พ.ปีหน้า 

สารพัดปัญหาที่จะมีการยกขึ้นมาพิจารณา เพื่อหาทางแก้ไข เปลี่ยนแปลง

ที่น่าสนใจ คือ ท่าทีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เตรียมพร้อมสำหรับข้อเสนอต่างๆ เอาไว้พอควร

อาทิ หากจะมีการเลือกตั้งเดือน ก.พ.ปีหน้า พรรคการเมืองต้องเตรียมตัวประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค จัดตั้งสาขา หาสมาชิกพรรค เดินหน้าสู่การทำไพรมารีโหวต

ขณะที่ กกต.ต้องเตรียมแบ่งเขตเลือกตั้ง หากกระชั้นชิดจะไม่ทัน

จากข้อเสนอล่าสุด หากเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ในช่วงเวลาที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็สามารถดำเนินการได้ทัน เนื่องจากมีเวลาอีก 90 วันก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้

ในส่วนของการแบ่งเขตเลือกตั้งอาจใช้มาตรา 44 ให้อำนาจ กกต.หรือใช้วิธีการออกเป็นพระราชกำหนดก็ได้ 

แต่ประเด็นสำคัญ คือ การทำไพรมารีโหวต 

เพราะเริ่มต้นต้องให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ ไม่เช่นนั้นก็เริ่มกระบวนการไพรมารีโหวตไม่ได้ 

ถัดมา คือ กระบวนการไพรมารีโหวตที่มีเสียงร้องว่า ยากต่อการปฏิบัติ

อาทิ ในการสมัคร สส.แบบแบ่งเขต เมื่อพรรคการเมืองประกาศให้สมาชิกลงสมัครเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องส่งรายชื่อให้สาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จัดประชุมเพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง

กรณีที่เป็นสาขาพรรคต้องมีผู้มาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน ขณะที่ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ต้องมีผู้มาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน 

เมื่อลงคะแนนเสร็จ ก็ให้ส่งรายชื่อผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งในลำดับที่ 1 และ 2 ให้กรรมการสรรหาฯ และให้คณะกรรมการบริหารพรรค เป็นผู้เลือกเป็นลำดับถัดไป

ถ้ากรรมการบริหารพรรคไม่เลือกผู้ได้คะแนนลำดับแรก ต้องชี้แจงถึงเหตุผล แต่หากกรรมการบริหารพรรคตัดสินใจไม่เลือกทั้งสองคนที่เสนอมา ก็ต้องประชุมร่วมกับกรรมการสรรหาฯ หากมีมติเสนอใคร ก็ให้เสนอชื่อผู้นั้นเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง

แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ให้กลับไปดำเนินการคัดเลือกใหม่ตั้งแต่ต้นจากสาขาหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

กระบวนการทั้งหมด ถูกมองว่าทำให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครได้จะลดจำนวนลง 

เงื่อนปมไพรมารีโหวตจึงเป็นสิ่งที่ต้องดูกัน จะออกรูปแบบไหน รวมถึงมีกระแสข่าวอาจเลิก หรือเปลี่ยนวิธีการ

ทั้งหมดจะเป็นตัวชี้วัดถึงวัน-เวลาการเลือกตั้ง รวมถึงการเมืองในอนาคต

ที่ประมาณว่า จะเป็นวิธีแบบเดินไปทีละก้าว กินก้าวทีละคำ