posttoday

อย่าเล่นกับของร้อน

11 มกราคม 2561

ค่าเงินบาทแข็งโป๊ก กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันอีกครั้ง

ค่าเงินบาทแข็งโป๊ก กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันอีกครั้ง

ความกังวลที่เกิดขึ้นก็คือ ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น จะส่งผลถึงการ ส่งออก และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งหมดจึงนำมาซึ่งข้อเสนอมากมาย เพื่อทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง

และในบรรดาข้อเสนอทั้งหมด มีความคิดจะให้กระทรวงการคลังนำเอาทุนสำรองของประเทศมาใช้รวมอยู่ด้วย

นี่แหละ มันจะกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ มาแก้ปัญหาเก่า

อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ทุนสำรองของประเทศไม่ใช่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล แต่เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ทุนสำรองฯ มีหลายบัญชี โดยที่มีเงินมากๆ ส่วนแรกเป็นของฝ่ายการธนาคาร ที่ธนาคารชาติเป็นเจ้าของ อีกส่วนอยู่ฝ่ายออกบัตร โดยธนาคารชาติเป็นผู้ดูแลเท่านั้น เนื่องจากเป็นสมบัติของคนไทยทั้งประเทศ

เงินที่พอมีเหลือ พอเอาออกมาใช้ ส่วนใหญ่อยู่ในบัญชีฝ่ายออกบัตร หรือที่เรียกว่าคลังหลวง นั่นแหละ

แต่การจะนำทุนสำรองจากฝ่ายออกบัตรมาใช้ก็ไม่ง่าย เพราะมีกฎหมายเฉพาะ ได้แก่ พ.ร.บ.เงินตรา ควบคุมเอาไว้

จะหยิบ จะแตะ อย่างไรก็ต้องเดินตามกฎหมาย

เพราะเงินบัญชีฝ่ายออกบัตร ไม่ใช่เงินที่ไม่มีภาระผูกพัน ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ใช้สำหรับหนุนหลังธนบัตร หรือหนุนหลังแบงก์ที่พิมพ์ออกมาใช้จ่ายหมุนเวียนอยู่ อีกส่วนเป็นดอกผลที่ได้สะสมไว้เพื่อความมั่นคงของประเทศ

กฎหมายแต่เก่าก่อนจึงมีบทบัญญัติว่าการนำเงินมาใช้ต้องยืม ไม่ใช่เอาไปใช้ฟรีๆ

รัฐบาลสามารถยืมเอาออกมาใช้ โดยการออกพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำ ไปกู้ยืมเงินจากบัญชีฝ่ายออกบัตร

จะให้ดอกเบี้ยเดียว สองสลึง หรือสามสลึงก็ไปว่ากัน

ในอดีตรัฐบาลบางชุดจำเป็นต้องใช้เงิน ก็ใช้การออกพันธบัตรไปให้ฝ่ายออกบัตร และฝ่ายออกบัตรก็จะพิมพ์เงินมาให้รัฐบาลใช้จ่าย

ลักษณะเช่นนี้ก็เหมือนกับการพิมพ์แบงก์เพิ่มขึ้น โดยมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์หนุนหลังเงินที่พิมพ์ขึ้นมาใหม่

และเมื่อมีการพิมพ์แบงก์เพิ่ม ปริมาณเงินบาทในตลาดก็จะมาก ค่าเงินก็จะอ่อนลงมาตามทฤษฎี

ทว่า วิธีเช่นนี้มักไม่ค่อยชอบกัน เพราะรัฐบาลต้องเป็นหนี้ และยอดหนี้ต้องไปรวมกับหนี้สินของรัฐบาล หนี้ประเทศ

ที่มักจะคิดอ่านก็คือเอาเงินในฝ่ายออกบัตรมาใช้เลย โดยไม่ต้องกู้

แต่ทั้งหมดก็ทำไม่ได้ เพราะติดขัด พ.ร.บ.เงินตราห้ามเอาไว้

ดังนั้น ถ้าจะเอาเงินมาใช้ก็ต้องแก้กฎหมาย หรือออกกฎหมายเฉพาะเพื่อนำเงินออกมาเป็นครั้งคราว

รัฐบาลในอดีตหลายชุดก็อยากจะเอาเงินฝ่ายออกบัตรที่เป็นทุนสำรองมาใช้ฟรีๆ โดยขยับแก้กฎหมายหลายครั้ง

ทว่า รัฐบาลไหนคิดจะทำอย่างนี้ ก็มีอันเป็นไปล้มไม่เป็นท่าไปทุกที

เหตุผลมีมากมาย แต่สรุปรวบยอดแล้วก็คือเงินในฝ่ายออกบัตรเป็นทุนก้อนสุดท้ายของประเทศ ถ้าไม่จำเป็นชนิดเลือดตากระเด็นก็อย่าไปยุ่ง

ลูกยุ ความคิดที่ใช้เงินฟรีๆ ต้องบอกว่าอย่าไปแตะสุ่มสี่สุ่มห้าเชียว

เท่าที่เห็นมา ไม่เคยรอดเลยสักราย