posttoday

กฎหมายในมือผู้บริโภค

17 พฤษภาคม 2560

กลายเป็นกระแสทางสังคมที่มีการติดตามกันอย่างมาก กรณีกระทะเทพ ที่อีกไม่นานคงรู้แล้วว่า อะไรเป็นอะไร

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

กลายเป็นกระแสทางสังคมที่มีการติดตามกันอย่างมาก กรณีกระทะเทพ ที่อีกไม่นานคงรู้แล้วว่า อะไรเป็นอะไร

แต่สำหรับผู้บริโภคแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้สิทธิตัวเอง โดยเฉพาะสิทธิในการดำเนินคดีกับผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการต่างๆ

การดำเนินคดีผู้บริโภคได้มีกฎหมายเฉพาะออกมา เรียกว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ผู้บริโภคขอให้ฟ้องคดีได้ และมีกระบวนการพิจารณาพิเศษขึ้นมา

ที่สำคัญการฟ้องร้องไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล และค่าทนาย

ที่มาของกฎหมายนี้เกิดขึ้นเมื่อมีข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้สินค้าหรือบริการ ผู้บริโภคมักจะมีความรู้น้อยกว่าผู้ผลิตเสมอ โดยเฉพาะไม่เข้าใจหลักกฎหมาย หรือมีข้อจำกัดเรื่องเงินค่าขึ้นศาล ค่าทนายความ

ส่วนใหญ่จึงปล่อยเลยตามเลย ขืนไปฟ้องอาจเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา

ดังนั้น จึงมีการตรากฎหมาย เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในการดำเนินคดีทางแพ่ง โดยเปลี่ยนแปลงหลักกฎหมายสารบัญญัติ กฎหมายวิธีบัญญัติบางประการ และมีเจ้าพนักงานคดีคอยให้ความช่วยเหลือ

วัตถุประสงค์ให้ผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยสะดวก จัดกระบวนการค้นหาความจริงให้มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงระบบวิธีพิจารณาคดีให้รวดเร็ว และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ที่เอื้อต่อการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค

การฟ้องคดี ผู้บริโภคจะฟ้องร้องเองหรือมอบอำนาจให้สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย หรือคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฟ้องร้องแทนก็ได้ โดยจะฟ้องได้ทั้งทางวาจาหรือเป็นหนังสือ

กรณีที่ฟ้องด้วยวาจา ให้เจ้าพนักงานคดีจัดให้มีการบันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้องแล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ

ส่วนการยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หากคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญในเรื่องใดเจ้าพนักงานคดีอาจให้คำแนะนำเพื่อจัดทำคำฟ้องให้ถูกต้องครบถ้วนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี โดยให้โจทก์เสนอพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเท่าที่ทำได้มาพร้อมกับคำฟ้อง

ถ้าผู้บริโภคจะฟ้องผู้ประกอบธุรกิจ จะฟ้องกับศาลที่เหตุของคดีเกิดขึ้น หรือฟ้องศาลตามภูมิลำเนาที่ผู้ประกอบธุรกิจตั้งอยู่ก็ได้ ในกรณีที่ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท แต่หากเกินกว่านี้ต้องฟ้องที่ศาลจังหวัด

ทั้งหมดที่ผู้บริโภคจะได้ คือ การชดใช้ความเสียหายทั้งปวงจากสินค้า หรือบริการนั่นเอง

ส่วนการดำเนินคดีอาญา เป็นอำนาจของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กรณีการกระทำความผิดหลายประเภท

ตัวอย่างเช่น ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด คุณภาพ ปริมาณ อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ รวมไปถึงมีการโฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ

ทั้งหมดเป็นสิ่งที่รู้ไว้ไม่เสียหาย สำหรับสิทธิผู้บริโภคในยุคนี้