posttoday

จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จำเป็นต้องรู้ภาษีอะไรบ้าง

17 เมษายน 2567

การกู้ยืมเงินต้องมีการเสียดอกเบี้ย และจำเป็นต้องพิจารณาทั้งในด้านของผู้จ่ายดอกเบี้ยและผู้รับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม โดยภาษีหลักๆ ประกอบด้วย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

          ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเงินทุน เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนที่กำลังวางแผนทำธุรกิจ หรือกำลังดำเนินกิจการอยู่ หากต้องการใช้เงินลงทุนในช่วงที่รายได้ของธุรกิจยังไม่เพียงพอ หรือมีการขยายกิจการ ก็จำเป็นต้องมีการกู้ยืมเงินมาเพื่อต่อยอดธุรกิจของตนเอง โดยการกู้ยืมเงินมานั้นจะต้องเสียดอกเบี้ยอย่างแน่นอน 

          ด้วยเหตุนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจึงมักมีเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องพิจารณาทั้งในด้านของผู้จ่ายดอกเบี้ยและผู้รับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม โดยภาษีหลักๆ ประกอบด้วย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ลองมาดูว่าจะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษีอย่างไรบ้าง สามารถอธิบายได้ดังนี้ 

ประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องหากกิจการได้กู้ยืมเงินจากกรรมการ

          การที่กิจการได้กู้ยืมเงินจากกรรมการ เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับกิจการหรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนชั่วคราว โดยปกติแล้วกรรมการก็เป็นเจ้าของบริษัทที่จะกลายมาเป็นเจ้าหนี้ และก็เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการอีกด้วย ดังนั้นหากพิจารณาประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องหลักๆ มีดังนี้

          1.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เมื่อกิจการได้ทำการกู้ยืมเงินมาจากกรรมการ เพื่อมาใช้จ่ายบริหารจัดการภายในกิจการ หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ กิจการจะต้องมีหน้าที่จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินจากกรรมการ ซึ่งตามหลักการของกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคลจะต้องทำการหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 15% ของเงินที่จ่ายค่าดอกเบี้ย ตามมาตรา 50(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.2 ให้กับสรรพากร โดยค่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในส่วนนี้สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ สำหรับนำไปคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

          2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีกิจการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้กับกรรมการ(เจ้าหนี้) เมื่อกรรมการได้รับเงินที่เป็นดอกเบี้ยมาแล้ว ให้ทำการไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยสามารถเลือกดำเนินการได้ 2 กรณีด้วยกัน  

          2.1 รายได้ดอกเบี้ยที่กรรมการได้รับจากการให้กิจการกู้ยืมเงินนั้น เมื่อกรรมการยอมให้กิจการที่กู้ยืมหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไปแล้ว ไม่ต้องนำดอกเบี้ยที่ได้รับมาคำนวณกับรายได้อื่นๆ เนื่องจากกิจการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จะต้องนำส่งเงินจำนวนนี้ให้กับสำนักงานสรรพากรอยู่แล้ว

          2.2 หรือนำไปคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปีได้เช่นกัน   

ประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องหากกิจการได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน

          เมื่อกิจการต้องมีการขยับขยายต่อยอดต่อไป แล้วกิจการไม่มีเงินทุนเพียงพอ ซึ่งการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ดังนั้นหากกิจการกู้ยืมเงินมาจากสถาบันการเงิน กิจการไม่ถือว่าต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

ประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องหากกิจการได้กู้ยืมเงินจากบริษัทในเครือ

          1.ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีบริษัทในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงินกันเอง ไม่ว่าจะนำเงินที่กู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้กู้ยืมในระหว่างกันเอง และไม่ว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินในกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

          หมายเหตุ : บริษัทในเครือ หมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไป ซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม

          2.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เมื่อกิจการทำการกู้ยืมเงินจากบริษัทในเครือเดียวกัน เพื่อเป็นช่องทางหาเงินทุนแบบรวดเร็วทันใจ และลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งการจ่ายดอกเบี้ยกู้ยืมเงินให้กับบริษัทที่อยู่ในเครือนั้น จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 1% ของเงินได้ค่าดอกเบี้ย แต่ในกรณีที่กิจการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ก็อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 1% เช่นกัน

ประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องหากบุคคลธรรมดาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่บุคคลธรรมดา

          1. ในกรณีที่ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา แล้วกิจการจำเป็นต้องใช้เงินทุนจึงได้มีการไปกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น ประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องจากการกู้ยืมเงินในกรณีนี้คือ ผู้จ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ให้กู้ยืมเงินไม่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ เนื่องจากผู้มีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องประกอบกิจการในนามนิติบุคคลเท่านั้น
          2.เมื่อได้รับดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงิน ดอกเบี้ยนั้นจะถือเป็นรายได้ของผู้ให้กู้ยืมเงิน ในช่วงสิ้นปีจะต้องนำมารวมเพื่อคำนวณเสียภาษีด้วย เพราะผู้รับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากบุคคลธรรมที่ไม่ใช่นิติบุคคล จึงไม่อยู่ในมาตรา 43(8) คือไม่สามารถเลือกให้หัก ณ ที่จ่ายเป็นที่สุดท้ายได้  

          กล่าวโดยสรุป ในกรณีที่กิจการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้กับผู้ให้กู้ยืมในนามบุคคล กิจการในนามนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% ตามมาตรา 50 (2) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และบุคคลผู้ให้กู้ยืมดังกล่าวมีสิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่นำดอกเบี้ยที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ได้

          ทั้งนี้ ในกรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สถาบันการเงิน จ่ายดอกเบี้ยกู้ยืมเงินให้กับผู้รับเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทย ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% และยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.2 

          และหากจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้กับผู้รับเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% และยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.53

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting