เคล็ดลับประหยัดภาษีด้วยประกันภัยคีย์แมน
การบริหารธุรกิจรูปแบบนิติบุคคล ผู้บริหารมีหน้าที่ในการบริหารจัดการ จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถ ดังนั้น จึงมีการวางแผนทำประกันสำหรับผู้บริหาร กรรมการ รวมถึงบุคคลสำคัญภายในบริษัท ที่เรียกว่า “ประกันภัยคีย์แมน”
ในการบริหารธุรกิจรูปแบบนิติบุคคล ผู้ประกอบการมีความคาดหวังว่าจะสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ แต่ต้องใช้เวลาหลายปีทีเดียว ผู้ประกอบการต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจในการบริหารจัดการอย่างหนัก และต้องใช้เงินในการลงทุนจำนวนมาก เพื่อความสำเร็จและความมั่นคงของบริษัท
ดังนั้น เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัท มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการบริหารจัดการเพื่อให้บริษัทประสบความสำเร็จ และไม่มีความเสี่ยงเข้ามากระทบกับกิจการที่ทำอยู่ ซึ่งในการบริหารงานจำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงมีกิจการจำนวนไม่น้อยที่ได้มีการวางแผนทำประกันสำหรับผู้บริหาร กรรมการบริษัท รวมถึงบุคคลสำคัญภายในบริษัท หรือที่เรียกว่า “ประกันภัยคีย์แมน”
แล้วข้อมูลเกี่ยวกับการทำประกันภัยคีย์แมนคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง มาศึกษาไปพร้อมๆ กันได้จากบทความที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้
ประกันภัยคีย์แมนหมายถึงอะไร
ความหมายของการทำประกันภัยคีย์แมน คือ การวางแผนคุ้มครองธุรกิจในกรณีที่ผู้บริหารระดับสูง เจ้าของกิจการ หรือพนักงานที่มีหน้าที่สำคัญของบริษัท ถ้าเกิดประสบเหตุจนไม่สามารถปฏิบัติงานหรือประกอบกิจการได้ เช่น ทุพลภาพ หรือเสียชีวิต เพื่อเป็นการรับประกันว่าธุรกิจจะต้องดำเนินต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก และเพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับเจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นในขณะที่ต้องเสียบุคคลสำคัญไป
นอกจากนี้การทำประกันภัยคีย์แมน ยังเป็นมาตรการเพื่อเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่บริษัท กรณีสูญเสียคีย์แมนของบริษัทไป ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของบริษัทในการสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับบริษัทหากสูญเสียบุคคลดังกล่าว ซึ่งหากบุคคลนั้นเป็นผู้มีชื่อเสียงและรายได้หลักของบริษัทก็ได้มาจากความมีชื่อเสียงของบุคคลผู้นั้น อาจทำให้สูญเสียผลกำไรหรือผลประกอบการของบริษัทไป ซึ่งบางบริษัทอาจถึงขั้นปิดบริษัทเลยก็ได้ ดังนั้นการทำประกันภัยคีย์แมน จึงเป็นการประกันผลกำไร หรือประกันความเสียหายที่อาจสูญเสียไปพร้อมกับบุคคลสำคัญเหล่านั้น
ทำประกันภัยคีย์แมนช่วยประหยัดภาษีได้จริงหรือ
การที่ธุรกิจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลทำสวัสดิการให้กับกรรมการ และนิติบุคคลเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันให้กับกรรมการซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในกิจการ เพื่อเพิ่มความมั่นคงและวางแผนการเงินให้กับนิติบุคคล เพราะเบี้ยประกันภัยที่ชำระไปนั้นถือเป็นค่าใช้จ่ายของนิติบุคคลตามหลักสรรพากร ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.เป็นการวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายในธุรกิจของตนเอง
2.เบี้ยประกันชีวิตของกรรมการถือเป็นรายจ่ายของนิติบุคคลได้ 100%
3.ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยนำมาเป็นหลักฐานในการบันทึกค่าใช้จ่ายของนิติบุคคลได้ ไม่เป็นรายจ่ายต้องห้าม
4.เป็นรายจ่ายทำเพื่อหาผลกำไร
5.เป็นรายจ่ายทำเพื่อกิจการ
6.เงินค่าภาษีอากรที่บริษัทออกให้กับกรรมการถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้โดยไม่ต้องห้าม
7.ผลประโยชน์จากกรมธรรม์เป็นเงินได้พึงประเมิน ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
8.เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินค่าภาษีอากรที่บริษัทออกให้ เข้าลักษณะเป็นประโยชน์เพิ่มที่กรรมการได้รับ ถือเป็นเงินได้ของกรรมการ ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ดังนั้น ในการทำธุรกิจส่วนใหญ่มักจะต้องจำกัดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด เพื่อที่กิจการจะได้มีผลกำไรสุทธิสูงสุด แต่ในทางกลับกันด้านการเสียภาษี เจ้าของกิจการกลับต้องการรายจ่ายทางด้านภาษีให้ได้มากที่สุดเพื่อให้จำนวนกำไรสุทธิลดลงเพื่อที่จะได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยลงตามไปด้วย
ปัจจุบันผู้บริหารทั้งหลายจะไม่ซื้อประกันภัยคีย์แมนด้วยเงินส่วนตัวแล้ว แต่ใช้เงินของบริษัทมาซื้อประกันภัยคีย์แมนแทน เพราะบริษัทสามารถนำค่าเบี้ยประกันภัยคีย์แมนที่ออกให้กับบุคคลสำคัญทั้งหมดมาลงเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้เต็มจำนวนอีกด้วย
หากไม่ให้เกิดปัญหาในการทำประกันภัยคีย์แมน ควรกำหนดคำนิยามของคำว่า ผู้บริหาร หรือพนักงาน ไว้ในกรมธรรม์ว่าหมายถึงบุคคลใดบ้าง รวมถึงกำหนดรูปแบบของกรมธรรม์ไว้ให้ชัดเจน และควรกำหนดวิธีการคำนวณทุนประกันภัยคีย์แมนไว้ให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน ซึ่งควรใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันในการทำสัญญาประกันภัยคีย์แมน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดต่อองค์กร
นอกจากนี้กิจการที่ทำประกันภัยคีย์แมนสามารถนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ แต่จะต้องได้รับอนุมัติจากมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทเท่านั้น กรรมการไม่สามารถอนุมัติเองได้ และจะต้องเข้าเงื่อนไขประกันภัยคีย์แมนอีกด้วย
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม Inflow Accounting