posttoday

บีโอไอขับเคลื่อนส่งเสริมการลงทุน 5 สาขาหลักสร้าง Supply Chain เข้มแข็ง

21 กุมภาพันธ์ 2567

บีโอไอส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่อง มุ่งขับเคลื่อน 5 สาขาหลัก ได้แก่ BCG ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปูทางเสริมแกร่งด้าน Supply Chain ให้เข้มแข็ง

ปี 2566 เป็นปีที่บีโอไอเริ่มนำยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 25670) มาใช้ในการดำเนินการส่งเสริมการลงทุน โดยมุ่งหวังยกระดับ "อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น" ควบคู่กับการสร้าง "อุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ" และสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ส่งเสริมให้เกิดการจัยและพัฒนา รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในแขนงต่าง ๆ เช่น เทคโนยีชีวภาพ เทคโนโยดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีพลังงานมาใช้ ในการยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

รวมถึงการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ เช่น อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนด์ อุตสาหกรรมอากาศยาน และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยการส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้กำหนดอุตลาหกรรมมุ่งเป้าในระยะ 2 - 3 ปีข้างหน้า จำนวน 5 สาขาหลัก ได้แก่ BCG ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 2,307 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 (YoY) มูลค่าเงินลงทุน 848,318 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 (YoY) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 342,149 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน 82,282 ล้านบาท เกษตรและอาหาร 74,416 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 45,951 ล้านบาท และเทคโนโลยีชีวภาพ 31,814 ล้านบาท 

โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวอย่างมาก จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 (YoY) และมูลค่าลงทุนเพิ่มขึ้น 3.5 เท่าจากปีก่อน สืบเนื่องจากมีการลงทุนขนาดใหญ่ในกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ การทดสอบแผ่นเวเฟอร์และแผงวงจรไฟฟ้า รวมทั้งกิจการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์กว่า 20 โครงการ ทั้ง PCB และ PCBA 

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) ในปี 2566 มีคำขอรับการส่งเสริมฯ จำนวน 437 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 29,379 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมาคือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต ขณะที่คำขอรับส่งเสริมการลงทุนของ SMEs มีจำนวน 943 โครงการ เงินลงทุน 36,010 ล้านบาท

สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ปี 2566 มีจำนวน 2,383 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 750,129 ล้านบาท โดยประโยชน์ของโครงการเหล่านี้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 2.44 ล้านล้านบาท/ปี มีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท/ปี และเกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 139,000 ตำแหน่ง ขณะที่ในส่วนการออกบัตรส่งเสริมซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดเพิ่มขึ้นมาก เช่นเดียวกัน โดยมีการออกบัตรส่งเสริมจำนวน 1,825 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 (YoY) เงินลงทุนรวม 490,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 (YoY)

ชักจูงการลงทุนเชิงรุก
การสร้างการเติบโตให้กับประเทศผ่านการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติถือเป็นหนึ่งในพันธกิจที่บีโอไอเร่งให้เกิดขึ้น จากสถานการณ์การแบ่งขั่วอำนาจ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ สงครามทางการค้า การแข่งขันของประเทศมหาอำนาจในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้เกิดการโยกย้ายฐานการผลิต และการปรับปรุง Supply Chain ครั้งใหญ่ของโลกที่ผ่านมาและยังส่งผลต่อการค้าการลงทุนโลก การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจึงถือเป็นความท้าทายสำหรับบีโอไออย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพของประเทศไทย  ในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญ โดยมีห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ การมีความมั่นคงและปลอดภัยในการลงทุนจากการที่มีสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการลงทุนทั้งระบบสาธารณูปโภค บุคลากร และพลังงานสะอาด

รวมถึง มีระบบโลจิสติกส์ที่ดีทั้งในประเทศและสามารถเชื่อมโยงไปยังตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมเบา และที่สำคัญประเทศไทยมีความสามารถในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนที่เพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรม 

ด้วยจุดแข็งที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นและมีความพร้อมด้านการลงทุน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนที่ทำให้นักลงทุนและนักธุรกิจต่างชาติเลือกใช้ไทยเป็นฐานในการดำเนินธุรกิจระยะยาว โดยปี 2566 ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บีโอไอเดินทางไปต่างประเทศเพื่อชักจูงการลงทุน โดยได้เข้าพบกับผู้บริษัทชั้นนำรายใหญ่นำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย 

ทั้งนี้ ปี 2566 เป็นปีที่การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมาก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยนำโดยบริษัทค่ายรถยนต์รายใหญ่จากจีนอย่างฉางอัน ไอออน และโฟตอน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

โดยเฉพาะการผลิตแผงวงจร PCB และ PCBA ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า โทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ดิจิทัล และระบบอัตโนมัติในส่วนการลงทุน

เมื่อพิจารณาการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,394 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 มูลค่าเงินลงทุนรวม 663,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 โดยประเทศที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน มูลค่าลงทุน 159,387 ล้านบาท สิงคโปร์ มูลค่าลงทุน 123,385 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่าลงทุน 83,954 ล้านบาท สำหรับญี่ปุ่น มีมูลค่าลงทุน 79,151 ล้านบาท แม้จะอยู่เป็นอันดับ 4 แต่มีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 60 (YoY)

เสริมแกร่งการลงทุนทั่วประเทศ

บีโอไอมีสำนักงานภูมิภาค จำนวน 7 แห่งทั่วประเทศ เพื่อชักจูงให้เกิดการลงทุนทั่วประเทศ 
ตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ตามศักยภาพของพื้นที่เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง โดยการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมายของประเทศ 2 กลุ่มหลักคือ 

(1) พื้นที่เป้าหมายศักยภาพสูง ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและบริการใหม่ ๆ นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งรองรับการลงทุน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 

(2) พื้นที่เป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และเมืองต้นแบบ และพื้นที่ 20 จังหวัด ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ 

ทั้งนี้ พื้นที่เป้าหมายอื่น ๆ ถือเป็นพื้นที่ที่บีโอไอให้การส่งเสริมเป็นพิเศษ โดยมุ่งหวังที่จะลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ ดึงการจ้างงานเข้ามาสูงในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับภาคและระดับพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร กิจการผลิตผลิตภัณฑ์สุขอนามัย กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิก และกิจการผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภค 

ปูความพร้อมรองรับการลงทุน

ปี 2567 ถือเป็นปีทองด้านการลงทุนสำหรับประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานหมุนเวียน สำหรับยานยนต์ บีโอไอได้กำหนดแผนการปฏิบัติงานในปี 2567 เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการลงทุนที่เกิดขึ้น โดยจะเน้นภารกิจ 5 ด้านสำคัญ คือ

1) เดินหน้าดึงการลงทุนเชิงรุกในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 สาขา ได้แก่ BCG, ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล และกิจการสำนักงานภูมิภาค โดยเจาะกลุ่มนักลงทุนในประเทศเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยในปีนี้ บีโอไอมีแผนเปิดสำนักงานเพิ่มเติม 3 แห่ง ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย นครเฉิงตู ประเทศจีน และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญ
ในการดึงการลงทุนมายังประเทศไทย 

2) การยกระดับสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุน เช่น การผลักดันกลไกการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การสนับสนุนการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ การเตรียมบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการยกระดับบริการภาครัฐ 

3) การดึงดูดบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ (Talent) ให้เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย ผ่านมาตรการ Long-term Resident Visa (LTR Visa) และการปรับปรุงศูนย์บริการ One Stop Service ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน 

4) การเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น EV และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ที่กำลังจะเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศไทย โดยการผลักดันผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานให้มากที่สุด 

5) การยกระดับผู้ประกอบการไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Smart and Sustainable Industry) เช่น การส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาใช้เครื่องจักรประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียน หรือใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรือนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น