posttoday

การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (VRT) กับเงื่อนไขใหม่

14 กุมภาพันธ์ 2567

นักท่องเที่ยวเมื่อซื้อสินค้าและนำออกจากประเทศไทย ต้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องรอคิวรับเอกสาร ตรวจสอบสินค้า และขอคืนภาษี กรมสรรพากรได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3 ประการ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน

          ตามปกติแล้วเวลานักท่องเที่ยวซื้อสินค้าและนำออกจากประเทศไทย นอกจากต้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังมีข้อกฎหมาย หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอีกมากมายเมื่อสินค้าถูกนำออกจากประเทศไทยและขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงส่งผลให้ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ต้องรอคิวรับเอกสาร ตรวจสอบสินค้า และขอคืนภาษี 

          ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดทางกรมสรรพากรได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3 ประการ พร้อมปรับปรุงมาตรฐาน วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน พร้อมกับวิธีการขอคืนภาษีสามารถอธิบายได้ดังนี้

อัพข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับนักท่องเที่ยว

          จากประกาศกรมสรรพากรล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 โดยมีรายละเอียดดังนี้

          1. เพิ่มจำนวนการซื้อสินค้าที่ต้องยื่นต่อศุลกากร โดยเพิ่มมาตรฐานจากเดิม 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งหากนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากรได้โดยไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากรหากยอดซื้อสินค้าน้อยกว่า 20,000 บาท ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการคืนภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าที่มีมูลค่ารวมน้อยกว่า 20,000 บาท 

          2.สินค้า 9 รายการที่มีการปรับเพิ่มมูลค่าและต้องนำไปแสดงต่อกรมสรรพากร ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย เครื่องประดับทอง นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด ซึ่งจากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 10,000 หมื่นบาทขึ้นไป เป็น 40,000 บาทขึ้นไป และของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เป็น 1 แสนบาทขึ้นไป

ขั้นตอนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว

          1.ให้ศุลกากรตรวจสินค้าและประทับตราบนแบบคำร้องขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ.10) โดยยื่นเอกสารการขอคืนภาษี (แบบ ภ.พ.10 และต้นฉบับใบกำกับภาษี) พร้อมนำสินค้าให้เจ้าพนักงานศุลกากรตรวจสินค้าประทับตราและลงชื่อวันเดือนปีกำกับไว้ในแบบ ภ.พ.10

          ช่องสำหรับเจ้าพนักงานศุลกากรกรณีสินค้าที่ขอคืนเป็นสินค้าที่กรมสรรพากรกำหนด 10 ชนิด ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ต้องนำสินค้าไปแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากรเพื่อประทับรับรองในแบบ ภ.พ.10 อีกครั้ง

          2.ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง

          3.สำรองที่นั่งและเช็กอินกระเป๋าเดินทาง

          4.ยื่นเอกสารการขอคืนภาษี และสินค้าที่กรมสรรพากรกำหนด 10 ชนิด ดังที่กล่าวมาแล้ว (ถ้ามี) ต่อเจ้าพนักงานสรรพากร เพื่อขอรับเงินภาษีคืน

          โดยสามารถนำสินค้าตามแบบคำร้องขอคืนภาษี (แบบ ภ.พ.10) พร้อมต้นฉบับใบกำกับภาษีให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรรับรองสินค้าและประทับตราในวันที่เดินทางออกนอกประเทศ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 10 แห่ง ประกอบด้วยสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ อู่ตะเภา กระบี่ สมุย และสุราษฎร์ธานี

การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยวมีเงื่อนไขอะไรบ้าง

          1.นักท่องเที่ยวต้องนำสินค้าออกนอกราชอาณาจักรไทย ภายใน 60 วัน โดยนับวันที่ซื้อสินค้าเป็นวันแรก

          2.ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าที่แสดงป้ายสัญลักษณ์ “VAT REFUND FOR TOURISTS”

          3.ต้องซื้อสินค้ามูลค่าไม่น้อยกว่า 2,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) จากสถานประกอบการแห่งเดียวกัน ในวันเดียวกัน

          4.ณ วันที่ซื้อสินค้า ให้แสดงหนังสือเดินทางแก่พนักงานขายและขอแบบ ภ.พ.10 จากร้านค้าพร้อมทั้งต้นฉบับใบกำกับภาษี โดยแบบ ภ.พ.10 แต่ละฉบับต้องมีมูลค่าสินค้า 2,000 บาทขึ้นไป

          5.ในวันที่เดินทางออกก่อน Check-in ให้นำสินค้าและแบบ ภ.พ.10 ที่มีมูลค่าการซื้อสินค้ารวมกันแล้วถึง 20,000 บาท ไปแสดงให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร

          6.สินค้าราคาแพง ได้แก่ อัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ, ทองรูปพรรณ, นาฬิกา, แว่นตา ปากกา โทรศัพท์แบบพกพา หรือสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แบบพกพา กระเป๋าถือ (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด ที่มีมูลค่าชิ้นละ 40,000 บาทขึ้นไป หรือสินค้าที่สามารถนำติดตัวไปพร้อมกับการเดินทางที่มีมูลค่าการซื้อต่อชิ้นตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ต้องนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจประทับรับรองในแบบ ภ.พ.10 อีกครั้ง ณ สำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ผู้โดยสารขาออก ส่วนในหลังผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง 

          กล่าวโดยสรุป การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยวที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น เป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชาวต่างชาติมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนักท่องเที่ยวจึงต้องให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน เพื่อช่วยลดความล่าช้าในการรอคิวลง ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องยื่นแบบขอคืนภาษี (แบบ ภ.พ.10) ที่ได้รับการตรวจรับรองสินค้าและประทับตราจากศุลกากรเรียบร้อยแล้ว พร้อมต้นฉบับใบกำกับภาษีต่อเจ้าพนักงานสรรพากรเพื่อขอรับเงินภาษีคืน

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting