posttoday

กระเทาะความเชื่อเรื่องผสานธุรกิจและครอบครัวสำหรับกิจการ SME

22 มกราคม 2567

กระเทาะความเชื่อของการผสานธุรกิจและครอบครัวสำหรับกิจการ SME ที่ในโลกแห่งความเป็นจริง ยังต้องรับการช่วยเหลือจากครอบครัวหรือทายาท ที่มารับช่วงธุรกิจต่อจากพ่อแม่ เพื่อทำให้สำเร็จได้ในอนาคต แต่ก็ได้ไม่ง่ายนัก

มีคำพูดต่อ ๆ กันมาว่า “อย่าเอาครอบครัวและธุรกิจมารวมกัน” เพราะจะดูไม่เป็นมืออาชีพ ไม่โปร่งใส จะมีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็เป็นความจริงที่ว่าธุรกิจครอบครัวมักมาพร้อมกับความท้าทายที่ไม่เหมือนใคร แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง SME ที่อาจต้องรับการช่วยเหลือจากครอบครัวหรือทายาทที่ต้องมารับช่วงธุรกิจต่อจากพ่อแม่ แต่ก็จะทำได้ไม่ง่ายนัก

การไม่เอาธุรกิจและครอบครัวมารวมกันกับการแยกธุรกิจกับครอบครัวออกจากกันนั้นมีความหมายแตกต่างกัน การไม่เอามารวมกันคือไม่เอามาปะปนกัน แต่การแยกคือไม่เกี่ยวข้องไม่สัมพันธ์กัน ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้แยกธุรกิจและครอบครัวออกจากกันแต่เชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกัน 

เพราะหากมีการบริหารจัดการที่ดีและมีครอบครัวคอยสนับสนุนในสิ่งที่ถูกต้อง ธุรกิจครอบครัวก็อาจเป็นรูปแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดได้เช่นกัน ปัจจุบันมักพบว่าความท้าทายเหล่านี้ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม จึงอาจนำไปสู่ความล้มเหลวทางธุรกิจหรือความสัมพันธ์ในครอบครัวล่มสลายได้มากมาย ลองมาดูกันว่าควรต้องพิจารณาอะไรบ้างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเสียหายต่าง ๆ ขึ้น และสามารถนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต

ทำความเข้าใจผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ  

ในปีค.ศ. 1982 John Davis และ Renato Tagiuri จาก Harvard Business School ได้สร้างแบบจำลองวงกลม 3 วง (ภาพที่ 1) เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของ ธุรกิจ และครอบครัว ในธุรกิจครอบครัว วงกลม 3 วงแสดงถึงความกดดันและการมีปฏิสัมพันธ์ 7 ส่วน และบุคคลสามารถย้ายไปมาระหว่างส่วนต่างๆ ได้ตลอดช่วงชีวิตของธุรกิจครอบครัว ซึ่งการทำความเข้าใจผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม จุดที่สามารถเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจที่สำคัญในแต่ละส่วน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความสามัคคีในครอบครัว

กระเทาะความเชื่อเรื่องผสานธุรกิจและครอบครัวสำหรับกิจการ SME

การกำหนดค่าตอบแทนที่ชัดเจน

มีหลายวิธีที่สมาชิกในครอบครัวสามารถได้รับค่าตอบแทนจากการมีส่วนร่วมในธุรกิจ พึงตระหนักว่าเมื่อแต่ละบุคคลมีระดับการมีส่วนร่วมที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีความชัดเจนและเข้าใจถึงค่าตอบแทนจากการทำงานในธุรกิจและค่าตอบแทนจากทุนในการเป็นเจ้าของธุรกิจ ในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวไม่เข้าใจกลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนอย่างถ่องแท้ ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่สมาชิกในครอบครัวจะหมดกำลังใจหรือแย่กว่านั้นคือการทะเลาะเบาะแว้งกัน

เครือข่ายการสนับสนุนที่กว้างขวาง

ธุรกิจครอบครัวแต่ละรายมีลักษณะที่แตกต่างกัน และจะพบกับความท้าทายในช่วงเวลาที่ต่างกันไป ทำให้จะไม่ได้มีความรู้ทุกอย่างเสมอไป ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องมีเครือข่ายที่เชื่อถือได้อยู่รอบตัว เช่น คู่ค้า ลูกค้า หรือสมาชิกครอบครัว เพื่อที่จะสามารถขอความช่วยเหลือและคำแนะนำได้ หรือในบางครั้งอาจหันไปถามคนใกล้ตัวได้  เช่น สมาชิกในครอบครัวหรือพนักงานในองค์กร 

โดยทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มที่จะรู้สึกมีความภักดีต่อธุรกิจอย่างมาก และสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการสนทนาอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาจะช่วยค้นหาคำตอบได้ นอกจากนี้ในบางกรณีอาจต้องการความเห็นจากบุคคลที่เป็นอิสระมากกว่า เช่น เจ้าของธุรกิจครอบครัวรายอื่น สมาชิกคณะกรรมการอิสระ/ไม่ใช่ผู้บริหาร หรือที่ปรึกษามืออาชีพ เป็นต้น

การสืบทอดหรือสร้างความต่อเนื่องของธุรกิจ

สำหรับคนรุ่นเก่าแล้วการวางแผนสืบทอดกิจการมักเป็นสิ่งที่ถูกเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการหมดหน้าที่สำคัญในชีวิต และความกลัวว่าชีวิตหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ความคิดเช่น ฉันจะใช้เวลาที่เหลือทำอะไร ธุรกิจจะอยู่รอดได้โดยไม่มีฉันหรือไม่ จะยังคงมีเงินจับจ่ายใช้สอยจากที่ไหน เป็นคำถามที่พบบ่อยและมักจะทำให้การพูดคุยเรื่องสำคัญนี้ถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด 

ทั้งนี้ ความจริงที่พบคือการสืบทอดกิจการมีแนวโน้มที่จะเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น ทั้งนี้การสืบทอดการบริหารและการสืบทอดความเป็นเจ้าของเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างมาก คำแนะนำคือหากคิดว่าเป็นการวางแผนความต่อเนื่องของธุรกิจมากกว่าการวางแผนสืบทอดอาจช่วยเอาชนะความกลัวในช่วงแรกได้ รวมถึงควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นต่อไปได้มีส่วนร่วมในการพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตของธุรกิจด้วย

การป้องกันเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น

เหตุการณ์ในครอบครัว เช่น การหย่าร้าง การเจ็บป่วย และการเสียชีวิต ล้วนเป็นตัวอย่างของสิ่งที่อาจส่งผลเสียอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาว่าธุรกิจจะยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างไรเมื่อเกิดสถานการณ์เหล่านี้ขึ้น และจะมีการป้องกันอะไรบ้าง เพื่อลดความเสียหายและการหยุดชะงักที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณี พินัยกรรม สัญญาการถือครองทรัพย์สินร่วมกัน และข้อตกลงก่อนหรือหลังสมรสเป็นสิ่งสำคัญที่อาจจะช่วยได้ 

นอกจากนี้ยังควรพิจารณาถึงความจำเป็นในการทำประกันภัยเอาไว้ เช่น การคุ้มครองผู้ถือหุ้น การประกันชีวิต ประกันรายได้ และการเจ็บป่วยร้ายแรง เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบทางการเงินในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

ทั้งนี้ หากเจ้าของธุรกิจครอบครัวบริหารงานด้วยความเข้าใจธุรกิจและครอบครัวอย่างแท้จริง ธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ทรงพลังอย่างมาก สามารถเติบโตและมีความยั่งยืนได้ยิ่งกว่ารูปแบบของธุรกิจในลักษณะอื่นทั้งหมด

อ้างอิง: http://www.famz.co.th

โดย: รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว