posttoday

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย “เงินดิจิทัล” : จะเดินหน้าต่อ หรือจะรอไปก่อน

02 พฤศจิกายน 2566

ตีแผ่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย “เงินดิจิทัล” : จะเดินหน้าต่อ หรือจะรอไปก่อน หลังนักเศรษฐศาสตร์ออกมาเตือนและหลายจุดที่ยังไร้ความชัดเจน ในมุมมองของฝั่งนักวิชการอย่าง อาจารย์กิตติพัฒน์ แสนทวีสุข

เมื่อนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 เต็มไปด้วยข้อสงสัยและคำถามมากมาย ซึ่งในเวลานี้ก็ยังไร้ความชัดเจน แต่เชื่อว่าจะไม่สั่นคลอนให้รัฐบาลยกเลิกอย่างแน่นอน หากต้องซื้อเวลาให้พัฒนาระบบระบบ blockchain และ digital wallet สำเร็จ พร้อมกับทยอยหาทางออกที่สมดุล

เชื่อว่าพวกเราหลายคนคงจะรอเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่รัฐบาลนายกเศรษฐาประกาศจะแจกในรูปแบบของเงินดิจิทัล แต่ในช่วงที่ผ่านมาสิ่งที่ทำให้สับสนกันอยู่ไม่น้อย นั่นคือเงินดิจิทัลที่จะแจกให้นั้น จะได้กันเมื่อไหร่ ใครจะได้บ้าง มีแนวทางดำเนินงานอย่างไร และที่สำคัญมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก รวมถึงผู้รู้อีกหลายท่าน ได้ส่งคำเตือนถึงความเหมาะสมและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไปยังรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แต่คำถามคือว่านโยบายนี้จะเดินหน้าต่อ หรือจะรอไปก่อน 

จะพบว่านโยบายเงินดิจิตอล 10,000 บาท มาจากงานปราศรัยใหญ่เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561  โดยพรรคเพื่อไทยระบุว่าการแจกเงิน 10,000 บาทนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ช่วยให้ประชาชนมีเงินเก็บจ่ายใช้สอย และกระจายไปยังฐานรากอย่างทั่วถึง โดยเน้นย้ำว่าการให้เงินดังกล่าวกับประชาชนโดยตรง ทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยให้กับประชาชนทุกคนที่มีสัญชาติไทยและมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 56 ล้านคนโดยใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท 


ด้วยรัฐบาลเชื่อว่านโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ 2 ด้านนั่นคือ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศโดยประชาชนที่ได้รับเงินดิจิทัลจะนำไปซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถขายสินค้าได้ดียิ่งขึ้น และในอีกด้าน รัฐบาลเชื่อว่าเงิน 10,000 บาทในแต่ละครอบครัว จะสามารถรวมกันเพื่อก่อให้เกิดเป็นเงินลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก เป็นอาชีพหลัก หรือเป็นอาชีพเสริมต่อไปได้ 

ความกังวลและเสียงเรียกร้องของนักวิชาการ

ในระยะเวลากว่า 2 เดือนที่รัฐบาลเริ่มหาแนวทางในการแจกเงินตามนโยบายหาเสียงนี้ ได้มีกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์และนักคิดหลายท่าน ท้วงติ่งนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทในหลายประเด็น ซึ่งประเด็นที่สำคัญจะเป็นความกังวลในเรื่องของต้นทุนทางนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณถึง 5.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5% ของ GDP ไทย ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาลในระยะยาว 

โดยประเด็นนี้ หลายท่านได้ออกมาให้ความเห็นว่าหากใช้เงินนี้กับนโยบายอื่นที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดเสถียรภาพในระยะยาว จะเป็นการสนับสนุนการขยายตัวของ GDP ได้ดีกว่าการแจกเงินครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ทั้งนี้ต่างให้ความเห็นว่าหากรัฐบาลจะดำเนินการตามนโยบายนี้ควรจะเลือกกลุ่มประชาชนที่จะได้รับเงินให้เหมาะสม มากกว่าการแจกเงินไปกับประชาชนทุกคน นอกจากจะเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ลดปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของคนยากจน และสร้างโอกาสให้กับคนกลุ่มนี้ในการได้ประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น

ในประเด็นเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาล เนื่องจากในปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีระดับหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง จากความพยายามของรัฐบาลอดีตนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่กู้เงินจำนวนมาก เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาโรคติดเชื้อโควิดและปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการปิดประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้นหากรัฐบาลนี้ จะมีการใช้เงินจำนวนมหาศาลเช่นนี้อีกครั้ง เชื่อว่าจะต้องใช้การกู้ยืมเงินด้วยการออกพันธบัตรมูลค่ามหาศาล ทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาทำให้ต่างชาติพิจารณาว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง ส่งผลทำให้เงินบาทอ่อนค่า แล้วจะเกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมาในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลชี้แจงเพิ่มเติมว่า รายได้ของรัฐบาลในอนาคตจะเพิ่มขึ้นจากภาษีที่จะมีมากขึ้น ลดทอนปัญหาเสถียรภาพทางการคลังได้

อีกประเด็นหนึ่งที่กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ให้ความกังวลค่อนข้างสูง คือปัญหาเงินเฟ้อที่จะปรับตัวสูงขึ้น จากนโยบายการแจกเงินในครั้งนี้ เนื่องจากประชาชนจะมีการซื้อสินค้าในช่วงเวลาเดียวกัน ตามระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้ ส่งผลให้ผู้ผลิตจะต้องมีการเร่งผลิตสินค้า ทำให้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าปรับราคาสูงขึ้น

ในขณะเดียวกันการจ้างแรงงานในจำนวนชั่วโมงทำงานที่มากขึ้น จะมีการจ่ายค่าจ้างล่วงเวลาสูงขึ้น ท้ายที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินนโยบายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยในท้องตลาดทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากปรับตัวสูงขึ้น เพื่อกดดันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อนั้นขยายตัวรวดเร็วมากเกินไป

คำถามคือทำไมนักเศรษฐศาสตร์ถึงกลัวเรื่องอัตราเงินเฟ้อมาก เหตุผลสำคัญก็คือเมื่อใดที่สินค้าราคาแพงขึ้น ก็ยากที่จะปรับลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ส่งผลให้ต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชนทุกคนสูงขึ้น ดังนั้นหากประชาชนเป็นผู้มีรายได้ต่ำ หาเช้ากินค่ำ หรือมีรายได้ประจำเพียงพอต่อการดำรงชีพเดือนชนเดือนเท่านั้น จะเกิดความเดือดร้อนจากราคาข้าวของที่แพงมากขึ้น ก็จะมีผลต่อเนื่องเรียกร้องให้รัฐบาลปรับค่าจ้างให้สูงขึ้น เกิดเป็นต้นทุนไปยังภาคธุรกิจอีกต่อไป 

จะเห็นได้ว่าข้อกังวลเหล่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลนี้จะต้องให้ความกระจ่างในหลายประเด็น ซึ่งประเด็นหลักที่รัฐบาลมุ่งชี้แจงและเป็นคำถามของสังคมก็คือจะใช้แหล่งเงินใดมาดำเนินนโยบายนี้ โดยให้มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังให้น้อยที่สุด หากรัฐบาลมุ่งเน้นที่จะใช้เงินกู้เป็นหลัก ก็จะทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพด้านการคลัง แต่หากรัฐบาลจะใช้งบประมาณปกติโดยเกลี่ยจากโครงการอื่น ก็จะทำให้การพัฒนาประเทศในด้านอื่นนั้น ล่าช้าหรือยกเลิกไป เกิดความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศขึ้น 

ดังนั้น ทางคณะคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องมีการตัดสินใจเลือกแนวทางในการแจกเงินให้ตรงกับเป้าหมาย ด้วยการลดจำนวนคนที่จะได้รับสิทธินี้ลง ยิ่งไปกว่านั้นในเชิงปฏิบัติ การเลือกใช้ระบบ blockchain ซึ่งจะเป็นแกนหลักของเงินดิจิทัล รวมถึงการใช้จ่าย และการรับเงิน ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงและหาข้อสรุปที่ชัดเจนยังไม่ได้

ความซับซ้อนในเชิงปฏิบัติ

ในเบื้องต้นรัฐบาลได้อธิบายว่า จะสร้างระบบเงินดิจิทัล ที่จะอยู่ในกระเป๋าตังค์อิเล็กทรอนิกส์หรือ Digital Wallet ของบุคคลที่ได้รับสิทธิ โดยกำหนดเป็นประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป  ซึ่งบุคคลเหล่านั้นจะสามารถนำไปซื้อสินค้าและบริการ จากหน่วยธุรกิจที่ยอมรับสกุลเงินดิจิทัลนี้ ภายในระยะเวลา 6 เดือน ในพื้นที่ห่างจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้านรัศมี 4 กิโลเมตร แต่ในชนบทห่างไกล อาจจะไม่มีร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลเหล่านี้ จึงเริ่มมีแนวโน้มการผ่อนปรนให้ใช้จ่ายในพื้นที่ตัวอำเภอ  

ในขณะที่ร้านค้าที่จะสามารถรับเงินดิจิทัลได้ จะต้องเป็นร้านค้าที่มีการจดทะเบียนการค้า รวมถึงมีระบบบัญชีและการเสียภาษีที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสของร้านค้าแผงลอย โดยร้านค้าจะต้องลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ และจะมีการติดตั้งเครื่องอ่าน QR Code เพื่อรับเงิน 

แต่ประเด็นปัญหาที่ยังไม่ชัดเจนในทางปฏิบัตินั่นคือ ร้านค้าจะแลกเงินเป็นเงินสดมาใช้จ่ายต่อไปอย่างไร เนื่องจากเงินดิจิทัล อยู่ในระบบ blockchain ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีธนาคารกลางหรือธนาคารพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือจะให้ร้านค้านำเงินดิจิทัลนี้ไปใช้ในการชำระค่าสินค้าหรือค่าแรงงานได้อย่างไร  ซึ่งในประเด็นนี้ยังคงไม่ชัดเจนและจะต้องรอระยะเวลาในการดำเนินงานอีกต่อไป 

ในความซับซ้อนไร้ความชัดเจนในเชิงการปฏิบัตินั้น รัฐบาลยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาระบบ blockchain  ซึ่งจะเป็นแกนกลางในการสร้างความเชื่อมโยงของเงินดิจิทัล และ digital wallet ที่ประชาชนแต่ละคนจะใช้ในการรับเงิน และมีข้อกำหนดว่าประชาชนผู้ได้รับเงินดิจิทัลจะไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ และไม่สามารถนำไปฝากธนาคารได้ เพื่อบังคับให้เป็นการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่นโยบายคาดหวังเอาไว้ 

ในขณะเดียวกันร้านค้าที่จะรับเงินดิจิทัล  หลายร้านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแลกจากเงินดิจิตอลออกมาเป็นธนบัตร หรือเป็นเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ปกติ เพื่อใช้จ่ายในการชำระราคาวัตถุดิบ จ่ายค่าแรง ให้กับพนักงานต่อไป หากร้านค้านั้นเป็นร้านค้าขนาดเล็ก ที่ต้องการสภาพคล่องในแต่ละเดือน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแลกเงินดิจิตอลให้ออกมาเป็นเงินสดในการใช้จ่าย

แต่หากร้านค้าเหล่านั้นเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในเครือข่ายของเจ้าสัวของประเทศไทย ก็อาจจะไม่มีปัญหาหรือเกิดผลกระทบมากนักในการแลกเงินในระยะเวลาที่ล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตามหากธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถเข้าถึงผลที่จะได้รับจากนโยบายนี้ ก็จะเกิดข้อครหาว่านโยบายนี้เป็นการสนับสนุนแต่ธุรกิจของคนรวย 

จะเดินหน้าต่อหรือจะรอไปก่อน

เมื่อมีประเด็นต่าง ๆ มากมายขนาดนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำให้ชัดเจนขึ้นมีจำนวนมาก แต่คงไม่ทำให้รัฐบาลนี้ยกเลิกนโยบายอย่างแน่นอน เพียงแต่รัฐบาลอาจจะทอดเวลาออกไปเพื่อให้มีการพัฒนาระบบ blockchain และ digital wallet ขึ้นมา โดยไม่ใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่เคยใช้มาในรัฐบาลประยุทธ์  

ดังนั้นระหว่างที่รอระบบให้เสร็จใช้ได้นั้น รัฐบาลเศรษฐาคงจะต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญในการหาจุดสมดุลที่เหมาะสม ถึงการใช้งบประมาณ แหล่งที่มาของเงินจำนวนมหาศาล ผลกระทบจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีผลต่อค่าเงินบาท รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวเพิ่มขึ้นในระหว่างการดำเนินนโยบาย ซึ่งจะเป็นแรงกดดันในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต  และแนวการปฏิบัติและชัดเจน เพื่อให้ผลที่เกิดขึ้นของนโยบายนี้ ได้ผลลัพธ์อย่างที่ได้หาเสียงไว้ และสามารถใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลต่อไป 

โดย: กิตติพัฒน์ แสนทวีสุข       ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร