posttoday

รัฐหนุนผู้ใช้รถไฟฟ้า ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

01 พฤศจิกายน 2566

การใช้รถไฟฟ้ากำลังมาแรง สืบเนื่องมาจากมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุนเอื้อต่อการซื้อรถไฟฟ้า BEV ทำให้มีประกาศจากอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

          ในปัจจุบันกระแสการใช้รถไฟฟ้ากำลังมาแรง สืบเนื่องมาจากมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุนเอื้อต่อการซื้อรถไฟฟ้า BEV และสาเหตุเกิดจากปัจจัยและแนวโน้มราคาน้ำมันที่มีการผันผวนอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้มีคนสนใจหันมาใช้รถ BEV มากขึ้น ทำให้ตลาดกำลังโตตามลำดับ ผู้ผลิตกล้าเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอย่างสถานีชาร์จก็เข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

          จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นทำให้มีประกาศจากอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพระพระราชกฤษฎีกา เรื่อง ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ฉบับล่าสุด แต่จะมีเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์อะไรบ้างลองตามมาเช็กกันดู

ส่องมาตรการอุดหนุนรถไฟฟ้า BEV จากกรมสรรพสามิต มีอะไรบ้าง

          สืบเนื่องจากมาตรการจากภาครัฐทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า BEV จะต้องเลือกสรรจากแบรนด์ที่ได้รับความเชื่อถือและมีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือที่สุดเพื่อสร้างจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า BEV

          นอกจากนี้มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมสรรพสามิต โดยนำไปเป็นส่วนลดให้แก่ประชาชนที่สนใจซื้อรถ BEV มีอะไรบ้างสามารถอธิบายได้ดังนี้

          1. กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ได้รับเงินอุดหนุนส่วนลดคันละ 150,000 บาท
          2. กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท เงินอุดหนุนส่วนลดคันละ 18,000 บาท
          3. กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้าน ส่วนรถที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ได้รับเงินอุดหนุนส่วนลดคันละ 150,000 บาทบาท ขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงแต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง ได้รับเงินอุดหนุนส่วนลด คันละ 70,000 บาท

          ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จะต้องให้กรมสรรพสามิตพิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกที่เสนอก่อนและหลังได้รับสิทธิตามมาตรการรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการส่งและรวบรวมเอกสารหลักฐานการขายและจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินอุดหนุนจากกรมสรรพสามิตก่อนการนำสินค้าออกจำหน่าย

ส่วนประกอบนำเข้าได้รับยกเว้นอากร

          เพื่อเป็นการส่งเสริมกิจการรถไฟฟ้า BEV ให้มีความเข้มแข็ง และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถไฟฟ้า จึงทำให้กระทรวงการคลัง ประกาศให้ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนรถไฟฟ้า ได้แก่ ของและส่วนประกอบของที่นำเข้าเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รวม 9 รายการ ดังนี้ 1.แบตเตอรี่ 2.มอเตอร์ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า 3.คอมเพรสเซอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 4.ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ 5.ระบบควบคุมการขับขี่ 6.ออนบอร์ดชาร์ทเจอร์ 7.ดีซี / ดีซีคอนเวอร์เตอร์ 8.อินเวอร์เตอร์ รวมถึงพีซียู อินเวอร์เตอร์ 9.รีดักชันเกียร์

          โดยเงื่อนไขการได้รับการยกเว้นอากร ต้องเป็นของที่นำเข้ามาตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

เปิดข้อมูลสำคัญพระราชกฤษฎีกา และประกาศจากอธิบดีกรมสรรพากรล่าสุด ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

          หลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยเรื่อง การยกเว้นเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐ ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมีรายละเอียดดังนี้

          บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ เป็นเงินอุดหนุนจากรัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และยังได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น 

          โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด  เช่น เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรเขตประกอบการเสรี  เป็นผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เป็นต้น

          กล่าวโดยสรุป ปัจจุบันผู้จัดจำหน่ายรถไฟฟ้า BEV ในประเทศ ยังมีจำนวนไม่มากนักที่จะคอยดำเนินการให้ข้อมูลตลอดจนดำเนินการซื้อขาย และบริการหลังการขาย ดังนั้นจุดนี้อาจเป็นจุดที่สำคัญที่จะสร้างจุดแข็งให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายรถไฟฟ้า BEV หรือสินค้าที่ใช้กับยานยนต์ที่จะต้องจัดทำกระบวนการดำเนินงานให้ดีที่สุดเพื่อเป็นจุดแข็งของธุรกิจ

          นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐยังมีนโยบายเอื้อต่อการซื้อรถไฟฟ้า BEV เช่น การลดหย่อนหรือกำหนดภาษีอัตราพิเศษสำหรับการซื้อรถไฟฟ้า BEV เงินอุดหนุนรัฐที่นำไปเป็นส่วนลดในการซื้อรถไฟฟ้า BEV เป็นต้น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถไฟฟ้า BEV มากขึ้นและยั่งยืนอีกด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting