posttoday

เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน แล้วเศรษฐกิจไทยต้องผันผวนตามไปด้วย?

26 ตุลาคม 2566

เมื่อประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ขยับตัว ย่อมสะเทือนถึงเศรษฐกิจไทยที่มีขนาดเล็กกว่า ผ่านการเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุน จึงต้องหาลู่ทางให้ยืนหยัดอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งการเร่ง GDP และความเป็นอยู่ของคนไทย เพื่อกระตุ้นความสามารถในการ "ล้มแล้วลุก"

เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีขนาดใหญ่และมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจประเทศอื่นทั่วโลก ดังนั้นการดำเนินโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐอเมริกา ย่อมส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจประเทศอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผ่านการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ดังนั้นเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็ก จำเป็นต้องหาหนทางในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งการขยายตัวของ GDP และผลกระทบที่จะมีต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ

นับจากแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ปี 2008 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกแสดงอาการเสียสมดุล จากการที่เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีปัญหาด้านการจ้างงานที่ลดต่ำลง จนทำให้กำลังผ่อนชำระอสังหาริมทรัพย์มีปัญหา นำไปสู่วิกฤติการณ์การเงินครั้งใหญ่อีกครั้ง ของโลกเรา 

ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องด้วยนโยบาย QE (quantitative easing) ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมทั้งเงินทุนจำนวนมากไหลไปยังระบบเศรษฐกิจอื่น รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับราคาหลักทรัพย์ การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินที่เราต้องลดดอกเบี้ยตาม 

กระทั่งในช่วงเวลาปัจจุบันนี้ การเกิดขึ้นของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งรัฐบาลยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำการคว่ำบาตรการซื้อน้ำมันและพลังงานจากรัสเซีย ขณะเดียวกันรัสเซียก็ไม่อนุญาตให้การขนส่งธัญพืชจากยูเครนออกมาจำหน่ายในตลาดโลก ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพงขึ้น ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และกระจายไปยังทั่วทุกภูมิภาคในโลก

นั่งเอง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FED จึงได้เริ่มเปลี่ยนนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายในประเทศตนเองถึง 11 ครั้งตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 จากระดับ 0.5% จนถึงระดับ 5.5% ในรอบเดือนกันยายน 2023 ที่ผ่านมา 

จะพบว่าประเทศไทยซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด ขนาดเล็ก มีนโยบายการค้าเสรีในการเปิดให้มีการนำเข้า ส่งออกสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งการไหลของเงินตราต่างประเทศที่เข้าหรือออกไปจากประเทศไทยไปตามโอกาสการลงทุนและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องปรับตัวนโยบายการเงิน และนโยบายเศรษฐกิจของเราให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย 8 ครั้งตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2022 จากระดับ 0.5% จนถึงระดับ 2.5% ในเดือนกันยายน 2023 ที่ผ่านมา เพื่อลดแรงกดดันในการไหลออกของเงินต่างประเทศ ที่จะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนและเสถียรภาพอื่นของเศรษฐกิจไทย ทั้งที่กังวลว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นจะมีผลทำให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนในประเทศ ที่จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงภาวะหนี้เสียหรือ NPL ที่อาจจะเร่งตัวมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของประเทศไทย รวมทั้งธุรกิจและคนไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสนใจความผันผวนที่เกิดขึ้นในระดับโลก แล้วทำการวิเคราะห์ว่าจะมีผลกระทบกับธุรกิจหรือการทำมาหากินของเราอย่างไร  ซึ่งจะต้องมีการวางแผนให้มีการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่

สิ่งสำคัญคือการพาอุตสากรรมการผลิตทางเศรษฐกิจเดิมให้น้อยลง และมีการกระจาย ออกไปในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ที่ได้มีการวางแผนเอาไว้แล้ว ซึ่งนโยบายเหล่านี้ไม่สำเร็จในแค่รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง ต้องมีความต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างคน สร้างโอกาสทางธุรกิจและอุตสาหกรรม

นอกเหนือไปจากนั้น การมุ่งเน้นการใช้ วัตถุดิบ ในประเทศที่มีการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตและการจ้างงานคนไทยในประเทศให้มากยิ่งขึ้น ให้การสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพให้กับผู้ผลิตขนาดเล็ก ให้สามารถแข่งขันได้กับผู้ผลิตจากต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และการนำพาธุรกิจเดิมผ่านพ้นความผันผวนเหล่านี้ไปให้ได้

ดังนั้นเมื่อโลกปั่นป่วน จากสถานการณ์เศรษฐกิจ โรคระบาด สงคราม และการเปลี่ยนแปลงสภาวะสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กที่ต้องพึงพารายได้จากตลาดโลกก็จะมีความผันผวนทางเศรษฐกิจตามไปด้วย จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสร้างความสามารถในการ “ล้มแล้วลุก” ให้กับทุกภาคส่วน 

อีกทั้งภาคเอกชนและประชาชน จะต้องตระหนักไว้เสมอว่าการแข่งขัน การปรับตัว จะมีต่อเนื่องตลอดเวลา หากเราสามารถปรับตัวรับความผันผวนได้ ก็จะทำให้เรามีโอกาสชนะและเป็นผู้อยู่รอดได้ ในทุก ๆ ความผันผวน

โดย: กิตติพัฒน์ แสนทวีสุข ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์
และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร