posttoday

การทำร้านอาหารที่มีหุ้นต่างชาติ ทำได้หรือไม่

18 ตุลาคม 2566

หากช่วงนี้ได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับการเปิดธุรกิจร้านอาหาร จะเห็นได้ชัดว่าร้านอาหารเป็นธุรกิจทำเงินที่มีอนาคตไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม เพราะผู้คนยังต้องบริโภคอยู่เสมอ และการอาศัยอยู่ในสังคมเมืองต้องใช้ชีวิตเร่งรีบอยู่ตลอด

          หากช่วงนี้ได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับการเปิดธุรกิจร้านอาหาร จะเห็นได้ชัดว่าร้านอาหารเป็นธุรกิจทำเงินที่มีอนาคตไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม เพราะผู้คนยังต้องบริโภคอยู่เสมอ และการอาศัยอยู่ในสังคมเมืองต้องใช้ชีวิตเร่งรีบอยู่ตลอด จึงทำให้ไม่มีเวลาทำอาหารทานเอง ด้วยปัจจัยที่พบเหล่านี้จึงทำให้ธุรกิจร้านอาหารได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการมากมายไม่เว้นแต่นักลงทุนต่างชาติ

          อย่างไรก็ตามธุรกิจร้านอาหารมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ร้านอาหารต่างชาติ ซึ่งบ้านเรานิยมทานอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งในวันนี้เราจะพูดถึงการร่วมหุ้นลงทุนร้านอาหารกับชาวต่างชาติว่าสามารถทำได้ไหม แล้วมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขอะไรบ้าง ลองมาศึกษาไปพร้อมๆ กันได้ ดังนี้

ธุรกิจร้านอาหาร เป็นธุรกิจในบัญชีสาม หมายถึงอะไร

          ในกรณีคนต่างชาติต้องการประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มในประเทศไทยสามารถทำได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้ เพราะธุรกิจร้านอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นเป็นธุรกิจในบัญชีสาม (19) โดยธุรกิจในบัญชีที่สามมีด้วยกันทั้งหมด 21 ธุรกิจ ดังนี้

          1.การสีข้าว 2.การทำการประมง 3.การทำป่าไม้ 4.การผลิตไม้อัด 5.การผลิตปูนขาว 6.การทำกิจการบริการทางบัญชี 7.การทำกิจการบริการทางกฎหมาย 8.การทำกิจการบริการทางสถาปัตยกรรม 9.การทำกิจการบริการทางวิศวกรรม 10.การก่อสร้าง 11.การทำกิจการนายหน้าหรือตัวแทน 12.การขายทอดตลาด 13.การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลทางการเกษตรพื้นเมืองที่ยังไม่มีกฎหมายห้ามไว้ 14.การค้าปลีกสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำรวมทั้งสิ้นน้อยกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท หรือที่มีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าน้อยกว่ายี่สิบล้านบาท 15.การค้าส่งสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าน้อยกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท 16.การทำกิจการโฆษณา 17.การทำกิจการโรงแรมเว้นแต่บริการจัดการโรงแรม 18.การนำเที่ยว 19.การขายอาหารหรือเครื่องดื่ม 20.การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช 21.การทำธุรกิจบริการอื่น ยกเว้นธุรกิจบริการที่กำหนดในกฎกระทรวง

หลักเกณฑ์การถือหุ้นของชาวต่างชาติ

          การทำธุรกิจร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ชาวต่างชาติไม่สามารถกระทำได้เพียงผู้เดียวจะต้องมีผู้ร่วมทุนเป็นคนไทยด้วยจึงสามารถทำได้ แล้วกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ มีอะไรบ้าง สามารถอธิบายดังนี้

          1.ถือหุ้นต่างชาติไม่เกิน 49% คือมีผู้ถือหุ้นเป็นคนสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ไม่เกิน 49% บริษัทที่จัดตั้งจะถือเป็นบริษัทสัญญาติไทย สามารถประกอบกิจการได้ทุกอย่างตามกฎหมายกำหนด

          2.ถือหุ้นต่างชาติตั้งแต่ 50% ขึ้นไป คือมีผู้ถือหุ้นเป็นคนสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ถือหุ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไป จะถือเป็นบริษัทต่างด้าว ต้องขอใบประกอบธุรกิจต่างด้าว และมีข้อจำกัดคือ ห้ามถือครองที่ดิน และห้ามประกอบธุรกิจบางประเภท ได้แก่ประเภทธุรกิจที่กำหนดอยู่ในบัญชีหนึ่ง ท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว) เช่น กิจการวิทยุหรือหนังสือพิมพ์ การทำนา ทำสวน จะสงวนไว้สำหรับคนไทย เป็นต้น หรือต้องได้รับอนุญาตก่อนสำหรับการประกอบธุรกิจที่อยู่ในบัญชีสอง หรือบัญชีสามท้าย พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

เอกสารประกอบคำขอหนังสือรับรองคนต่างชาติ 

          1.คำขอหนังสือรับรอง ต.๖

          2.คำชี้แจงประเภทธุรกิจที่แจ้งเพื่อขอหนังสือรับรอง

          3.หลักฐานการเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งแสดงรายการเกี่ยวกับ ชื่อ ทุน วัตถุประสงค์ ที่ตั้ง รายชื่อและสัญชาติกรรมการและมีผู้อำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล

          4.หนังสือแจ้งสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างคนไทยกับคนต่างด้าว จำนวนหุ้น ประเภท หรือชนิดของหุ้นที่บุคคลสัญชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนถือ

          5.ในกรณีผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วน ข้างมากของผู้แจ้งเพื่อขอรับหนังสือรับรองมีฐานะเป็นนิติบุคคลให้ส่งหลักฐานหรือเอกสารการเป็นนิติบุคคลซึ่งแสดงรายการเกี่ยวกับชื่อ ทุน วัตถุประสงค์ที่ตั้งสำนักงาน รายชื่อและสัญชาติกรรมการ และผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลรายชื่อและสัญชาติของผู้ถือหุ้น หรือรายละเอียดของผู้เป็นหุ้นส่วน

          6.หนังสือรับรองสัญชาติของผู้แจ้งเพื่อขอใช้สิทธิจากสถานทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศไทย

          7.สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าว

          8.แผนที่แสดงที่ตั้งโดยสังเขปของสถานที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย

          9.หนังสือมอบอำนาจในกรณีให้บุคคลอื่นเป็นผู้กระทำการแทน

          กล่าวโดยสรุป หากชาวต่างชาติจะประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจในบัญชีสาม (19) ท้ายพระราชบัญญัติฯ

          นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขสำหรับการขอจดทะเบียนบริษัทผู้ถือหุ้นต่างชาติ จะแตกต่างจากการจดบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นทั้งหมดเป็นคนไทย รวมถึงต้องมีการพิจารณาการขออนุญาตประกอบธุรกิจสำหรับบริษัทต่างด้าว ที่ต้องพิจารณาในหลายๆ จุด รวมถึงการเตรียมเอกสารให้ถูกต้อง ครบถ้วนอีกด้วย 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting