posttoday

เมื่อสัตว์เลี้ยงรับงาน สัตว์เลี้ยงหรือเจ้าของสัตว์เลี้ยงใครต้องจ่ายภาษี

27 กันยายน 2566

สัตว์เลี้ยงมีหลายประเภท แต่ที่นิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นสุนัขและแมว มีการลงทุนลงแรงกับสัตว์เลี้ยงของตนจนโด่งดังและไปเข้าตาแบรนด์สินค้าต่างๆ จนถูกทาบทามให้ถ่ายโฆษณา ดังนั้นรายได้ประเภทนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีในชื่อของตนเองแทนสัตว์เลี้ยง

          สัตว์เลี้ยงจัดเป็นสัตว์ที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ได้โดยไม่เป็นอันตราย ซึ่งสัตว์เลี้ยงมีหลายประเภท แต่สัตว์เลี้ยงที่นิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นสุนัขและแมว และมักนิยมเลี้ยงสัตว์เหมือนลูกแท้ๆ มีการลงทุนลงแรงกับสัตว์เลี้ยงของตนจนโด่งดังในโลกโซเชียลและไปเข้าตาแบรนด์สินค้าต่างๆ จนถูกทาบทามให้ถ่ายโฆษณาบ้างหรือได้รีวิวสินค้าบ้าง

          ดังนั้นรายได้ประเภทนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีในชื่อของตนเองแทนสัตว์เลี้ยง กล่าวคือจะต้องนำรายได้ดังกล่าวไปคำนวณร่วมกับรายได้หลักของเจ้าของ และรายได้อื่นๆ ซึ่งเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี 

          โดยหากเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีรายได้หลายช่องทาง แถมสัตว์เลี้ยงของตนยังสร้างรายได้ให้อีกด้วย ก็ควรวางแผนคำนวณภาษีให้ดีก่อนยื่นภาษีประจำปี ว่ารายได้จัดอยู่ประเภทเงินได้พึงประเมินไหนบ้าง มีการคำนวณภาษีอย่างไร

สัตว์เลี้ยงสร้างรายได้ เจ้าของต้องเป็นผู้เสียภาษี

          ในกรณีที่เจ้าของมีรายได้จากสัตว์เลี้ยงของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเลี้ยงเพื่อจำหน่าย หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้บริการ การจ้างโฆษณาต่างๆ รายได้ที่ได้รับจากสัตว์เลี้ยงนี้ ถูกจัดว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือเงินได้ 40(8) ซึ่งเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษี

          ดังนั้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงกับเงินได้อื่น เงินได้ภาษีประเภทที่ 8 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ หักแบบเหมา 60% หรือหักตามจริง แต่ต้องมีเอกสารหลักฐานครบถ้วน และยื่นภาษีปีละ 2 รอบด้วยกันคือ

          ครั้งแรก ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.94 ในเดือนกันยายนสำหรับเงินได้ในเดือน มกราคม-มิถุนายน ของภาษีปีนั้น

          ครั้งที่ 2 ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.90 ในเดือนมีนาคมของปีถัดไปสำหรับเงินได้ ในเดือนมกราคม-ธันวาคม ของภาษีปีนั้น โดยนำภาษีที่จ่าย ครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ ในครั้งที่ 2

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องถูกหัก

          เมื่อสัตว์เลี้ยงออกงานอีเว้นท์ทางเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะถูกหักภาษีไว้ 3-5% ขึ้นอยู่กับประเภทการรับงานของสัตว์เลี้ยง เช่น หากรับเงินในฐานะเป็นนักแสดง เช่น แสดงละคร หรือแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 5% แต่ถ้าสัตว์เลี้ยงของคุณรับรีวิวสินค้า รับจ้างถ่ายโฆษณา บริการ ส่วนใหญ่จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3%

          ซึ่งเงินได้ประเภทใดที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถอธิบายได้ดังนี้

          1. เงินได้ที่บุคคลซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นผู้รับ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (นำส่งตามแบบ ภ.ง.ด.3) ที่กำหนดไว้ มีดังต่อไปนี้

          - เงินได้จากการทำธุรกิจการพาณิชย์ เฉพาะประเภทที่กำหนดไว้ ดังนี้ เงินได้จากการเป็นนักแสดงสาธารณะ เงินได้จากการโฆษณา เงินได้จากการรับจ้างทำของ เงินได้จากการให้บริการอื่นๆ เงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย เงินได้จากค่าขนส่ง เงินรางวัลในการประกวด แข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
          - เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
          - เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม
          - เงินได้จากการรับเหมา ที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

          2. เงินได้ที่บุคคลซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นผู้รับ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (นำส่งตามแบบ ภ.ง.ด.53) ที่กำหนดไว้มีดังต่อไปนี้

          - เงินได้จากการขายสินค้าพืชผล การเกษตร (บางประเภท) ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ย ตั๋วเงิน เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรหรือประโยชน์อื่นใด เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากค่าจ้างทำของ เงินได้จากการประกวด แข่งขัน ชิงโชค หรือบริการอื่น อันมีลักษณะทำนองเดียวกัน เงินได้จากค่าโฆษณา
          - เงินได้ตามมาตรา 40(8) เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการอื่นๆ 
          - เงินได้จากค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เฉพาะที่จ่ายให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
          - เงินได้ค่าขนส่ง แต่ไม่รวมถึงการจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ

สูตรการคำนวณภาษีแบบคร่าวๆ สำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง

          ในกรณีที่จะกล่าวดังต่อไปนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีงานประจำทำอยู่แล้ว แล้วเกิดมีรายได้เพิ่มขึ้นมาจากสัตว์เลี้ยงที่รับงานอีเว้นท์ต่างๆ สามารถแสดงการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้โดยใช้สูตร (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

          ตัวอย่างเช่น

          - รายได้จากเงินเดือนประจำตลอดทั้งปี 300,000 บาท หักแล้วคงเหลือเงินได้สุทธิ 200,000 บาท
          - รายได้จากการนำสัตว์เลี้ยงรีวิวสินค้า 200,000 บาท หักแล้วคงเหลือเงินได้สุทธิ 20,000 บาท

          จากนั้นนำรายได้สุทธิมารวมกัน 200,000 + 20,000 = 220,000 แล้วนำไปเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันไดดังนี้

          - รายได้สุทธิ 1 - 150,000 บาทได้ยกเว้นภาษี 
          - รายได้สุทธิ 150,001 - 300,000 บาท (220,000 - 150,000 = 70,000) อัตราภาษี 5% ภาษีที่ต้องเสีย 70,000 x 5% = 3,500 บาท และหากรายได้จากสัตว์เลี้ยงถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3% จะเท่ากับ 200,000 x 3% = 6,000 บาท

          ดังนั้น ภาษีที่ต้องเสีย 3,500 บาท จ่ายไว้ล่วงหน้าแล้ว 6,000 บาท ได้เงินภาษีคืน = 2,500 บาทแต่หากคำนวณแล้วภาษีที่ต้องเสียมากกว่าที่จ่ายไว้ล่วงหน้า ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีเพิ่ม

          กล่าวโดยสรุป จากกระแสโซเชียลมีเดียในปัจจุบันทำให้เห็นว่าสัตว์เลี้ยงแสนรักที่มีความน่ารัก แสนรู้ ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับงานถ่ายโฆษณา รีวิวสินค้า ฯลฯ

          ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้เมื่อสัตว์เลี้ยงของตนมีรายได้ ซึ่งสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการชำระภาษีอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนตรวจสอบจากกรมสรรพากร

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting