posttoday

ทำประชามติ แก้ไขรธน. โจทย์ท้าทายรัฐบาลเศรษฐา

16 กันยายน 2566

การประชุมครม.นัดแรก เมื่อกลางสัปดาห์ก่อน รัฐบาลเศรษฐา1มอบหมายภูมิธรรม เวชยชัย แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ มอบอำนาจประชาชนตัดสินใจ...

ทำประชามติ แก้ไขรธน. โจทย์ท้าทายรัฐบาลเศรษฐา

การประชุมครม.นัดแรก รัฐบาลเศรษฐา 1 นายกฯมอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯคนที่1และรมว.พาณิชย์ รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ โดยใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน

รองนายกฯภูมิธรรมและรมว.พาณิชย์ เผยว่า การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติจะเริ่มต้นจากการนำทีมที่ปรึกษาของแต่ละพรรคการเมืองมาหารือแล้วขยายตัวไปสู่กลุ่มวิชาชีพ ระดมความคิดให้กระบวนการเดินหน้าหาจุดที่พอดีค่อยๆ แกะไปทีละเปลาะแล้วนำไปสู่การแก้ไขที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่ไม่ได้มีการตีกรอบระยะเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน

แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้นไว้ ตามคำวินิฉัย เมื่อ 11 มี.ค. 2564 กล่าวคือ ต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่อีกครั้ง ส่วนประเด็นหมวดหนึ่งหมวดสองที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์จะไม่มีการแก้ไข นั่นหมายความว่า ต้องทำประชามติ2ครั้ง 

ก่อนนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา คาดการณ์งบประมาณเพื่อใช้ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัวเลขจะอยู่ที่ครั้งละ 4,000-5,000 ล้านบาท หมายความว่าการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้งบฯราว10,000 หมื่นล้านบาท แต่การออกมาระบุถึงงบประมาณ ไม่ใช้ไม่สนับสนุน เพียงแต่แจ้งให้รับทราบเท่านั้น

การแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเศรษฐา1 นับจากนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตายิ่ง หลังจากที่ก่อนนี้เป็นนโยบายที่ขาดความชัดเจนจากเพื่อไทยในฐานะแกนนำการตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องที่ ส.ส.ร. ต้องมาจาการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด และ ส.ส.ร. ต้องมีอิสระในการทำงาน 

ประกอบกับตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลก่อนหน้า ทั้งนักการเมืองและภาคประชาชนมีความพยายามในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกว่าสิบฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งมีทั้งเสนอให้แก้ไขทั้งฉบับ และแก้ไขเป็นรายมาตรา แต่มีเพียงฉบับเดียวที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งเป็นการแก้ไขเฉพาะเรื่องระบบเลือกตั้ง สส.

ดังนั้น ถือเป็นความมท้าทายของรัฐบาลเศรษฐา และโจทย์ข้อใหญ่ ที่ต้องดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้แล้วเสร็จสมราคาที่ต้องจ่ายภาษีของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจประชาธิปไตยโดยแท้จริง