posttoday

ธุรกิจท่องเที่ยว จำเป็นต้องจดทะเบียนและเสียภาษีการท่องเที่ยวหรือไม่

02 สิงหาคม 2566

ภาษีการท่องเที่ยว ทำให้ภาครัฐมีรายได้สำหรับการลงทุนสาธารณะในสิ่งอำนวยความสะดวก นอกจากนี้กฎหมายธุรกิจนำเที่ยวกำหนดให้ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว และจดทะเบียนวิสาหกิจท่องเที่ยว หากมีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

          ภาษีการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ของภาครัฐที่ช่วยลดแรงกดดันทางการคลัง และทำให้ภาครัฐมีรายได้สำหรับการลงทุนสาธารณะในสิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และสิ่งต่างๆ ที่สนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศได้อีกด้วย

          นอกจากนี้กฎหมายธุรกิจนำเที่ยวกำหนดให้ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว และจดทะเบียนวิสาหกิจท่องเที่ยวถ้าเข้าเกณฑ์ รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ดำเนินการในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลหากมีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

          ทั้งนี้ การจะพิจารณาว่าต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และจดทะเบียนนิติบุคคลหรือไม่ ให้นำรายได้และรายจ่ายของธุรกิจมาวิเคราะห์ โดยรายได้และรายจ่ายหลักๆ ของธุรกิจนำเที่ยวประกอบด้วย
          1. ในส่วนของรายได้ ประกอบด้วย รายได้จากการให้บริการนำเที่ยว และบริการมัคคุเทศก์ รายได้จากการบริการขนส่ง รายได้ค่านายหน้า รายได้อื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยปรับ รายได้จากการให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา
          2. ในส่วนของรายจ่าย ประกอบด้วย ค่ามัคคุเทศก์ ค่าส่งเสริมการตลาด ค่าเช่า ค่าจ้างเงินเดือน ค่าเช่าพาหนะ ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ค่าเสื่อมราคา ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าดอกเบี้ย

ธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องจดทะเบียนนิติบุคคลหรือไม่ 

          การจดทะเบียนนิติบุคคลสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ตามหลักการแล้วถือว่ามีความจำเป็น เนื่องจากธุรกิจต้องมีความน่าเชื่อถือในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว พร้อมกับต้องมีทีมงานในส่วนต่างๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงาน

          ดังนั้นควรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ ประกอบกับกระบวนการทางบัญชีที่ซับซ้อนอยู่แล้ว ผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงระบบได้มากขึ้น การวางแผนภาษีที่ถูกต้องและเสียภาษีน้อยลงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ สามารถอธิบายเปรียบเทียบระหว่างการทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลได้ดังนี้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ผู้ประกอบการในนามบุคคลธรรมดา เวลาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีเงินได้พึงประเมินที่เกี่ยวข้องดังนี้
          1.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 (มาตรา 40(1)) ใช้กับผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ กรณีเป็นลูกจ้าง พนักงานบริษัทจำกัด หักค่าใช้จ่ายครั้งเดียวได้ 50% แต่รวมกับเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 แล้วไม่เกิน 100,000 บาท
          2.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 (มาตรา 40(2)) สำหรับผู้ที่ประกอบการวิชาชีพเป็นมัคคุเทศก์ กรณีเป็นพนักงานอิสระ รับทำงานให้ ค่านายหน้าขายแพ็กเกจทัวร์ รายได้จากนายหน้ารับจองตั๋วเครื่องบิน รายได้ค่านายหน้าจองห้องพัก หักค่าใช้จ่ายได้แบบเหมาได้ 50% แต่เมื่อรวมกับเงินได้ประเภทที่ 1 แล้วไม่เกิน 100,000 บาท
          3.เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8)) ได้แก่ รายได้จากค่าบริการท่องเที่ยวหรือบริการมัคคุเทศก์ รายได้จากการให้บริการขนส่งนักท่องเที่ยว สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% หรือตามจริง แต่ต้องสามารถแสดงหลักฐานพิสูจน์ค่าใช้จ่าย 

          โดยการนำรายได้ตลอดทั้งปีหักลบด้วยค่าใช้จ่ายตามรายได้พึงประเมินของตน จากนั้นนำมาลบด้วยค่าลดหย่อนอื่นๆ จนได้ยอดเงินได้สุทธิ แล้วนำไปเปรียบเทียบกับตารางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราสูงสุด 35% จะได้เป็นภาษีที่ต้องเสีย

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

          ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคล จะคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิ สูตรคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาเปรียบเทียบกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท + รายได้ทั้งปีไม่เกิน 30 ล้านบาท อัตราภาษีสูงสุด 20% ดังนี้
กำไร 300,000 บาทแรก ได้รับยกเว้นภาษี
กำไร 300,001 – 3 ล้าน อัตราภาษี 15%
กำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 20%
แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ให้จัดอยู่ในอัตราภาษีเท่ากับ 20% ตั้งแต่กำไรบาทแรก

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีอะไรบ้าง

          ประเทศไทยมีรายการภาษีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายรายการ ทั้งที่เป็นภาษีทั่วไป เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นต้น และภาษีเฉพาะสำหรับการท่องเที่ยว เช่น ค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่าบริการผู้โดยสาร ขาออก ค่าธรรมเนียมสำหรับประกอบธุรกิจโรงแรม ค่าธรรมเนียมจากผู้เข้าพักโรงแรม ค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานฯ เป็นต้น

          นอกจากนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีรายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาท ให้ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท โดยยื่นแบบ ภ.พ.30 และชำระภาษี (ถ้ามี) ภายในเวลาที่กำหนด วันนี้เป็นวันที่ 15 ของเดือนถัดไปที่สำนักภาษีทุกเดือนไม่ว่าจะให้บริการในเดือนภาษีหรือไม่ก็ตามนับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมีการออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ได้รับเงินค่าขายสินค้าหรือบริการ และจัดทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีธุรกิจการค้า สินค้า วัตถุดิบ ดังนี้

          การออกใบกำกับภาษีมูลค่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี ในแต่ละบริการและต้องดำเนินการทันทีที่เกิดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้ส่งใบกำกับภาษีให้ผู้ใช้บริการแล้ว ส่วนสำเนาใบกำกับภาษีให้เก็บไว้

          การจัดทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังต่อไปนี้
          - รายงานภาษีขาย ให้ลงรายการใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี
          - รายงานภาษีซื้อ ให้ลงรายการภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับใบกำกับภาษี
          - รายงานสินค้าและวัตถุดิบ (เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้า) ให้ลงรายการภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่รับมาหรือจ่ายไปซึ่งสินค้าและวัตถุดิบ

          โดยผู้มีหน้าที่จัดทำรายงาน ต้องเก็บและรักษารายงานใบกำกับภาษี สำเนาใบกำกับภาษี พร้อมทั้งเอกสารประกอบการลงรายงานดังกล่าว หรือเอกสารอื่นที่อธิบดีกำหนด ไว้ ณ สถานประกอบการที่จัดทำรายงานนั้น หรือสถานที่อื่นที่อธิบดีกำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือวันที่จัดทำรายงานแล้วแต่กรณี

          กล่าวโดยสรุป การจดทะเบียนธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยวควรคำนึงถึงการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท รวมถึงบริษัทนำเที่ยวที่ดำเนินการในนามบุคคลธรรมดา อาจจะต้องตัดสินใจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพราะนอกจากจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนักท่องเที่ยว หากผู้ประกอบการมีรายได้สูงและมีอัตราภาษีมากกว่า 20% ก็ช่วยให้เสียภาษีน้อยลงอีกด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting