posttoday

เรื่องของ “ภาษี” ที่ไรเดอร์ (Rider) ควรรู้

26 กรกฎาคม 2566

เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งอาหารมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เมื่อไรเดอร์มีรายได้สิ่งที่จะตามมาคือเรื่องของภาษี บทความนี้จะมาสืบหาเรื่องของ ภาษีไรเดอร์ ที่ได้ค่าตอบแทนจากแพลตฟอร์มต่างๆ ว่าต้องจ่ายภาษีเกี่ยวกับอะไรบ้าง

          เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งอาหารมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เกิดธุรกิจขนส่งอาหารที่ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มและไรเดอร์ (Rider) เพื่อส่งอาหารจากร้านอาหารไปยังลูกค้า เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

          อีกทั้งรายได้จากการส่งอาหารเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงจูงใจในการที่ไรเดอร์จะเข้ามาสู่ธุรกิจส่งอาหาร และลักษณะการทำงานที่ไม่จำกัดเวลา สามารถทำได้ทั้งงานประจำหรืองานเสริม จึงเป็นเหตุให้หันมาทำงานในธุรกิจส่งอาหารมากขึ้น 

          เมื่อไรเดอร์มีรายได้สิ่งที่จะตามมาคือเรื่องของภาษี ซึ่งในบทความนี้จะมาสืบหาเรื่องของ ภาษีไรเดอร์ ที่ได้ค่าตอบแทนจากแพลตฟอร์มต่างๆ ว่าต้องจ่ายภาษีเกี่ยวกับอะไรบ้าง ลองมาศึกษาพร้อมๆ กันดังต่อไปนี้

ที่มาของคำว่า “ไรเดอร์ (Rider)” 

          ไรเดอร์ (Rider) คือ ผู้ขับขี่ยานยนต์ส่งอาหารหรือส่งสินค้า ซึ่งรับทำจากแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่แบรนด์ต่างๆ โดยได้รับคำสั่งซื้ออาหารหรือสินค้าจากลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มตัวกลางในการเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้า  (ผู้ต้องการซื้อ) กับร้านค้า (ผู้ต้องการขายอาหาร) พร้อมกับส่งความต้องการไปให้ผู้ขับขี่ยานยนต์ส่งอาหาร เพื่อทำการรับอาหารจากร้านค้าเพื่อไปส่งลูกค้า หรือเป็นช่องทางการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในรูปแบบออนไลน์

          นอกจากนี้การพัฒนารูปแบบการให้บริการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สามารถแยกย่อยออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 ธุรกิจการจัดส่งอาหารด้วยรถจักรยานยนต์ เป็นเพียงธุรกิจสื่อกลางระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย คือ ผู้บริโภคกับร้านอาหาร โดยร้านอาหารจะติดต่อกับไรเดอร์เพื่อส่งอาหารของที่ร้านให้แก่ลูกค้า ลักษณะนี้ไรเดอร์จะค่อนข้างผูกอยู่กับร้านอาหารโดยตรง สามารถไปรับงานจากร้านอาหารอื่นได้บ้าง ผู้ให้บริการขนส่งเป็นเพียงการนำอาหารร้านค้าไปส่งยังลูกค้าที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของร้านอาหารและลูกค้า กิจกรรมในธุรกิจนี้เพียงแค่การบริการผ่านเว็บไซต์

          ส่วนในช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่มีการใช้แพลตฟอร์ม มาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมขนส่งอาหาร โดยที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ร้านค้าและไรเดอร์ในการเข้ารับงานผ่านโทรศัพท์มือถือ และสามารถเลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับงานอะไร ทั้งนี้ไรเดอร์มีอำนาจหรือมีความเป็นเจ้าของธุรกิจมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับร้านใดร้านหนึ่ง ทำให้สามารถสร้างรายได้ตามความสามารถของตนได้สูงขึ้นด้วย

ภาษีกับอาชีพไรเดอร์ ที่ต้องเสีย และข้อยกเว้นมีอะไรบ้าง

          อาชีพไรเดอร์จะมีเงินได้ตามสัญญาจ้างทำของประเภทหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยบุคคล 2 ฝ่าย คือ “ผู้ว่าจ้าง” และ “ผู้รับจ้าง” โดยผู้ว่าจ้างสัญญาว่าจะจ่าย “สินจ้าง” ให้ตามส่วนของงานที่ทำเสร็จ โดยคำนึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก และผู้รับจ้างสัญญาว่าจะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา จากการรับทำงานให้นั้นต้องอาศัยแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ได้มีการจัดหาสัมภาระ และมีค่าใช้จ่ายจำนวนน้อยถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร

          ซึ่งไรเดอร์ได้รับค่าตอบแทนในหลายรูปแบบ เช่น ค่าบริการส่งอาหาร ค่าส่งเพิ่มตามระยะทาง โบนัสพิเศษ (ทิป) ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มจ่ายค่าตอบแทนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ค่าตอบแทนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งสามารถยื่นขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ ในการยื่นภาษีประจำปี ดังนั้นไรเดอร์ต้องขอหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ จากแพลตฟอร์มในแต่ละค่ายเพื่อนำมาเป็นหลักฐานในการยื่นแบบฯ และขอคืนภาษี

          สำหรับการคำนวณภาษีของไรเดอร์ สามารถสรุปได้ ดังนี้ เมื่อไรเดอร์มีเงินได้ ที่ได้รับจากค่าจ้าง ค่าคอมมิชชั่น ค่าตอบแทน รับจ้างอิสระ เช่น พนักงานส่งอาหาร (ไรเดอร์) ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) จะต้องหักค่าใช้จ่าย โดยหักแบบเหมา 50% ไม่เกิน 100,000 บาท และหากมีเงินได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน โบนัส) และเงินได้ประเภทที่ 2 (ค่าจ้างทั่วไป) ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน และหักค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ประเภทแล้วต้องได้ไม่เกิน 100,000 บาท

          นอกจากนี้ในเรื่องของการเสียภาษีของอาชีพไรเดอร์ สามารถแจกแจงได้ดังนี้ 1) ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากค่าตอบแทนต่างๆ ที่ได้รับในอัตรา 3% 2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 กำหนดยื่นแบบฯ วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของปีถัดไป

          ในส่วนของการยกเว้นภาษีของอาชีพไรเดอร์ คือ หากไรเดอร์มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ 60,000 บาทต่อปี และไม่ต้องการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย กฎหมายระบุว่าไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ แต่ถ้าหากมีรายได้อื่นๆ รวมกันเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ไรเดอร์ยังคงมีหน้าที่ยื่นแบบฯ และหากรายได้เกิน 150,000 บาท ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษี หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่กรมสรรพากรทุกพื้นที่

          กล่าวโดยสรุป ภาษีกับอาชีพไรเดอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่มักจะมีรายได้เข้ามาหลายทาง ซึ่งในทุกครั้งที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ควรเก็บหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือที่เรียกกันว่า ใบ 50 ทวิ ไว้เป็นหลักฐานว่าเป็นผู้มีเงินได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะได้รับใบ 50 ทวิ จำนวน 2 ใบ ที่ต้องมีข้อความตรงกันทั้ง 2 ใบ โดยผู้จ่ายเงินเป็นผู้ที่มีหน้าที่ออกหลักฐานดังกล่าวให้แก่ไรเดอร์ ไม่ว่าจะเป็น ฟู้ดแพนด้า ไลน์แมน ช็อปปี้ฟู้ด โรบินฮู้ด ฯลฯ

          ดังนั้นอาชีพไรเดอร์จำเป็นต้องเก็บเอกสารทุกฉบับไว้เป็นอย่างดี เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากกรมสรรพากรหากมีรายได้ถึงเกณฑ์       

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting