posttoday

ส่งเสริมลงทุนพลังงานหมุนเวียน จากจุดเล็ก ๆ สู่ความยั่งยืนในภาพรวม

25 กรกฎาคม 2566

เปิดแนวทางที่บีโอไอส่งเสริมการลงทุนพลังงานหมุนเวียน ที่จะช่วยสร้างโอกาสในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศ เพื่อผลิตไฟฟ้าทางเลือกใหม่ และให้ไทยสู่ Net Zero Emission ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในภาพรวม

พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เป็นหนึ่งในแนวทางที่บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งหน้าไปสู่ Net Zero Emission ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกิจการ รวมไปถึงการส่งเสริมให้กลุ่มกิจการที่อยู่ในระบบนิเวศของพลังงานหมุนเวียน เช่น การวิจัย คิดค้นเทคโนโลยี วัสดุ อุปกรณ์ที่มาช่วยสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านพลังงานหมุนเวียน

ต่อไปนี้ผมจึงเล่าถึงแนวทางการให้การส่งเสริมการลงทุนพลังงานหมุนเวียน ที่จะช่วยสร้างโอกาสในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศ เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นจุดเล็ก ๆ ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

จุดแข็งและโอกาสด้านพลังงานหมุนเวียน
พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ถือเป็นพลังงานสะอาด (Clean Energy) ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญสามารถใช้ได้ไม่มีวันหมด จึงเป็นพลังงานทางเลือกที่หลาย ๆ ประเทศทุ่มเทพัฒนาและนำมาใช้งาน อย่างไรก็ตาม พลังงานหมุนเวียนไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบีโอไอ โดยตลอดการเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านมา บีโอไอให้ความสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และได้เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการนี้มาอย่างต่อเนื่อง

แต่ด้วยปัจจุบันทิศทางของโลกได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้พลังงานหมุนเวียนถูกนำมาเป็นทางเลือกในเรื่องการใช้พลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก ตามทิศทางโลกที่ได้กำหนดกติกาใหม่ในด้านความยั่งยืน 

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด บีโอไอซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรม จึงเดินหน้าในการกำหนดนโยบายให้การส่งเสริมการลงทุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนขึ้น โดยบีโอไอส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำจุดแข็งของประเทศลงทุนในเรื่องพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ การนำขยะชุมชนหรือขยะอุตสาหกรรมมาสร้างพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นแนวทางกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์มากกว่าการฝังกลบ รวมไปถึงการเปลี่ยนน้ำเสียเป็นพลังงานไฟฟ้า 

นอกจากนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงทำให้มีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่อปีเป็นจำนวนมาก และเพียงพอที่จะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลนี้ได้ 

ปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมานี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่บีโอไอยังคงเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมุ่งใช้จุดแข็งของประเทศและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งระดับ SMEs และผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันบีโอไอปรับยุทธศาสตร์

สำหรับการส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยล่าสุดได้ออกประกาศส่งเสริมกิจกรรมใหม่ ๆ รองรับการลงทุนในเรื่องพลังงานสะอาด เช่น กิจการผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศและสามารถลดการนำเข้าพลังงานได้จำนวนมหาศาลในอนาคต 

ส่งเสริมเพื่อความยั่งยืน
บีโอไอเดินหน้าให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงมีมาตรการที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการผลิตและบริการในด้านการประหยัดพลังงาน โดยการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry)

โดยมีมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม เป็นมาตรการที่ปรับปรุงมาจากมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเดิมที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในด้านนี้มากขึ้น ซึ่งมาตรการนี้ถือเป็นมาตรการเนื้อหอมมาก เนื่องจากมีการยื่นขอรับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี 

ส่งเสริมเพื่อความยั่งยืน
บีโอไอเดินหน้าให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงมีมาตรการที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการผลิตและบริการในด้านการประหยัดพลังงาน โดยการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry)

โดยเฉพาะมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม เป็นมาตรการที่ปรับปรุงมาจากมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเดิมที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในด้านนี้มากขึ้น ซึ่งมาตรการนี้ถือเป็นมาตรการเนื้อหอมมาก เนื่องจากมีการยื่นขอรับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี 

มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นมาตรการที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุน เพื่อยกระดับชุมชนให้มีศักยภาพมากขึ้นในหลายด้าน ซึ่งครอบคลุมในเรื่องของการพัฒนากิจการเกษตรที่ยั่งยืน เช่น การปลูกข้าวมีเทน (Methane) ต่ำ การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการเกษตร เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก

ด้วยมาตรการดังกล่า จะช่วยสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้และช่วยบริหารจัดการภาคการเกษตรในการจัดการของเสียจากการเพาะปลูก โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวและรับสิทธิประโยชน์การลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้เกษตรกรมีความตระหนักและเห็นคุณค่าในการช่วยสร้างความยั่งยืน พร้อมทั้งเห็นมูลค่าที่จะได้รับจากการพัฒนาไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังเป็นการช่วยให้เกิดนวัตกรรมและแนวคิดใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนอีกด้วย 

รองรับการเติบโต 
การผลักดันการลงทุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนให้เติบโตขึ้นในประเทศ นอกเหนือจากการใช้จุดแข็งของประเทศในเรื่องภูมิศาสตร์แล้ว การสร้างความพร้อมในด้านเครื่องมือ/อุปกรณ์ถือเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน บีโอไอจึงได้เปิดให้การส่งเสริมในกิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับระบบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อมุ่งให้เกิดการลงทุนในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากการส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการนำเข้าเครื่องมือ/อุปกรณ์มาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้ แม้ว่าบีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ แต่การผลักดันให้เกิดการพัฒนาและผลิตเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศ จะช่วยลดต้นทุนในเรื่องการนำเข้า และสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนในประเทศอีกด้วย 

สำหรับการเติบโตของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในปัจจุบันล้วนต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าในการใช้งาน นำมาซึ่งความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทำให้มีการคิดค้นพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลดเวลา การให้การส่งเสริมในกิจการวิจัยพัฒนา รวมถึงการผลิตเครื่องมือ/อุปกรณ์ในประเทศ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการใช้พลังงานหมุนเวียนและเกิดความรวดเร็วในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เนื่องจากมีเครื่องมือ/อุปรกณ์รองรับและหาซื้อได้ง่าย

นอกจากนี้ การส่งเสริมการลงทุนในการผลิตเครื่องมือ/อุปกรณ์เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถือเป็นการช่วยลดต้นทุนให้กับภาคประชาชน ที่ต้องการใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์เพื่อติดตั้งและใช้ในครัวเรือน เนื่องจากการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอไม่ได้ครอบคลุมภาคประชาชน แต่การส่งเสริมให้มีการผลิตเครื่องมือ/อุปกรณ์ในประเทศ ถือเป็นการช่วยเหลือภาคประชาชนลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องมือ/อุปกรณ์ได้ในทางอ้อม 
 

กฎกติกาโลก

ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส (COP27) ในการร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2643 ทำให้ประเทศภาคีสมาชิกต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับตัวและหาแนวทางในการลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งการกำหนดกติกาใหม่ ๆ ของโลกที่เน้นไปสู่ความยั่งยืน 

จากกระแสความยั่งยืนภายใต้กติกาใหม่ของโลก ทำให้อุตสาหกรรมในประเทศจำเป็นต้องปรับตัวในเรื่องของกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเกิดการยอมรับของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับกิจการขนาดใหญ่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับนโยบายของผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากบางรายได้ประกาศเจตนารมณ์ในเรื่องพลังงานหมุนเวียน 100% (RE 100) แล้ว

นอกจากนี้ บางอุตสาหกรรม หรือบางประเทศมีข้อจำกัดในเรื่องของการผลิตหรือนำเข้า – ส่งออกสินค้า อย่างกรณีในสหภาพยุโรปที่มีการใช้มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) และยังมีอีกหลายประเทศที่ต่างออกกฎการควบคุมการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอน

ทั้งนี้ เพื่อให้การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอสอดรับกับทิศทางของโลกในด้านความยั่งยืน การปรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน ฉบับใหม่ 5 ปี (พ.ศ.2566 - 2570) จึงมุ่งไปสู่การกำหนดทิศทางการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตามกฎกติกาโลกที่จะมีผลต่อการค้าการลงทุนของประเทศ

โดยในเรื่องของพลังงานหมุนเวียนนั้น บีโอไอได้ออกนโยบายและให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ผลิตในประเทศได้รับการยอมรับในเวทีโลก อีกทั้งจะเป็นการสร้างโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จากการที่ไทยมีความสามารถในการสนับสนุนพลังงานสะอาดให้กับกิจการได้ 

แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม ที่รวดเร็วและสามารถทำได้ง่ายในปัจจุบัน คือ การลดการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล โดยหันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแทน ซึ่งบีโอไอในฐานะหน่วยงานให้การส่งเสริมการลงทุน มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เกิดการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้น

โดยเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการทั้งระดับ SMEs และผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายหรือผลิตเพื่อใช้ในกิจการของตนเองได้เช่นกัน ซึ่งการปรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมฯ ใหม่ของบีโอไอ จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีพลังงานสะอาดไว้ใช้ ขณะที่ประเทศไทยเองก็สามารถลดการใช้พลังงานฟอสซิลและลดการนำเข้าพลังงานได้ในอนาคต