posttoday

เปิดจุดอ่อนระบบนิเวศน์ของสตาร์ทอัพไทย ทำไมไม่อาจเติบโตเป็นยูนิคอร์น

06 มิถุนายน 2566

เปิดจุดอ่อนระบบนิเวศน์ของสตาร์ทอัพไทย ที่ติดกับดักทั้งโมเดลธุรกิจ เงินทุน และการสนับสนุนจากรัฐ จึงไม่อาจโตเป็นยูนิคอร์นหรือเติบโตจนมีมูลค่าแตะ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากก่อนนี้ ที่เคยเล่าเรื่องตลาดที่ไม่สดใสสำหรับสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ไปแล้ว วันนี้จะมาพูดถึงเรื่องสถานการณ์ของสตาร์ทอัพไทยกันบ้าง จริงอยู่ว่าสตาร์ทอัพไทยแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสภาพคล่องเหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ หลังธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ หรือ SVB ผู้สนับสนุนสตาร์ทอัพและ VC (Venture Capital) อย่างเป็นทางการต้องปิดตัวลง แต่สถานการณ์ของสตาร์ทอัพไทยก็จะมีปัญหาเฉพาะตัวที่แตกต่างไป

หากมองภาพใหญ่ผลกระทบที่มาสู่สตาร์ทอัพไทย ไม่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป ที่ต้องเผชิญแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย หรืออัตราเงินเฟ้อพุ่งทะยาน สงครามระหว่างประเทศ การแพร่ระบาดของ Covid-19 เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก กระทบทุกภาคส่วนที่ยังต้องรัดเข็มขัดเพื่อความอยู่รอด  ไม่แปลกที่สตาร์ทอัพไทยจึงล้มหายตายจากไปก็ไม่น้อย

ล่าสุดการจัดอันดับดัชนี Global Startup Ecosystem Index ปี 2023 โดย StartupBlink ระบุว่าไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่เอื้อต่อการจัดตั้งสตาร์ทอัพในอันดับที่ 52 ของโลก อยู่ในอันดับที่ 11 ของเอเชียแปซิฟิก และหากมองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซียและมาเลเซีย

ด้วยสถิติดังกล่าวนั้น ดูเหมือนจะดีขึ้นกว่าปีก่อน ๆ แต่ประเทศไทยรู้จักกับธุรกิจสตาร์ทอัพมานานนับสิบปีแล้ว   หากพูดถึงสตาร์ทอัพเติบโตเป็นยูนิคอร์นจากประเทศไทย หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าแตะ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรากลับต้องใช้เวลาคิดพักนึง “ยูนิคอร์นสัญชาติไทยมีใครบ้างนะ”

ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญการแพร่ระบาดของ Covid-19 เช่นเดียวกับทั่วโลก เร่งให้สตาร์ทอัพที่มีโมเดลธุรกิจชัดหลายรายเติบโตโดดเด่น และสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจนขึ้นเป็นยูนิคอร์นได้ในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง Flash Express Line Man Wongnai หรือ Ascend 

สตาร์ทอัพที่เติบโตเป็นยูนิคอร์นของไทยจะมีจำนวนมากขึ้นอีกหรือไม่ ระบบ  Ecosystem หรือระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทยยังเอื้อต่อการเติบโตหรือผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยไปถึงฝั่งฝันอย่างไร เรามามองไปพร้อม ๆ กันค่ะ

แค่ไอเดียดีไม่พอ โมเดลธุรกิจต้องชัด

หลายปีที่ผ่านมากระแสสตาร์ทอัพในประเทศไทยบูมมาก ๆ ซึ่งกิจการเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ คือมี Passion ที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ให้คนไทยได้ใช้ และตอบโจทย์การใช้งานที่เคยติดขัดในอดีตด้วยเทคโนโลยี เราได้เห็นคนไทยเก่งๆ กลับมาพัฒนาเทคโนโลยีให้คนไทยด้วยกันได้ใช้งาน
 
คนก็ตื่นเต้น-รัฐก็สนับสนุน แต่ทำไมพอนานไปกลับเห็นว่าคนตัวใหญ่มีทุนหนาก็จะเติบโตและอยู่รอด   ขณะเดียวกันเราได้เห็นสตาร์ทอัพหลายรายที่เกิดมาได้ไม่นานก็สูญหายไปจากตลาด  

สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะสตาร์ทอัพเหล่านั้น ไม่มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน เมื่อเจอลมพายุ ฟ้าฝนแปรปรวนก็ซวนเซไป แต่คนที่มีโมเดลธุรกิจชัดเจนก็จะอยู่รอด ผ่านวิกฤติได้แต่ไม่โตมากและไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การเติบโตเป็นยูนิคอร์นได้ (เพราะอะไรเดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟัง)

จิตตะเองก็ถือเป็นสตาร์ทอัพกลุ่มตรงกลางที่มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนทำให้เราอยู่รอดมาได้ 11 ปีและกำลังเข้าสู่ปีที่ 12 ด้วยเทคโนโลยีการวิเคราะห์หุ้นทั่วโลก และพัฒนาต่อเนื่องให้ตอบโจทย์ Pain Point ของนักลงทุนที่ต้องการมากกว่าข้อมูลการลงทุน คือการให้เราลงทุนเพื่อสร้างกำไรให้แทน

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของ บลจ.จิตตะ เวลธ์ ที่นำเอาเทคโนโลยีมาบริหารพอร์ตลงทุนให้ลูกค้า ด้วยความง่ายและค่าธรรมเนียมค่อนข้างต่ำเป็นจุดดึงดูด ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์ในการสร้างความมั่งคั่งให้ลูกค้าแล้ว ยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ธุรกิจอยู่รอดในระยะยาวอีกด้วย

สตาร์ทอัพอย่างเราก็เหมือนธุรกิจที่ไม่สามารถหยุดนิ่งได้  ในเชิงกลยุทธ์เรายังต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เราแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยและควบคุมยาก ลูกค้าของเราอาจจะยังกังวลเรื่องการลงทุน ซึ่งกว่าเศรษฐกิจจะกลับมา เรายิ่งต้องพัฒนาระบบหลังบ้านให้ดี ทดสอบอัลกอริทึมเสมอ ๆ ว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี

เช่นเดียวกับ พัฒนาเทคโนโลยีที่ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมไปในมิติอื่น ๆ ในการสร้างความมั่นคง และการวางแผนทางการเงินให้ลูกค้า ซึ่งก็จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจเราไปในระยะยาวเช่นกัน

จะเติบโตต้องมีแรงหนุน VC-CVC จิ๊กซอว์ที่ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน

องค์ประกอบถัดมาคือ VC (Venture Capital) หรือ Corporate Venture Capital (CVC) จิ๊กซอว์สำคัญที่เข้ามาเติมเต็มให้สตาร์ทอัพแต่ละรายมีภาพที่สมบูรณ์และเติบโตต่อไปได้ ยิ่งจิ๊กซอว์ตัวนี้หากเข้ากันเป็นเนื้อเดียวกันได้กับสตาร์ทอัพจะยิ่งเป็นสปริงบอร์ดส่งให้ก้าวกระโดดไปได้ไกลมากขึ้น 

ประเทศไทยจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวอย่างหนึ่ง คือประเทศไทยจะมี  CVC ค่อนข้างเยอะ เพราะคอร์ปอเรทใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ นิยมที่จะลงทุนกับสตาร์ทอัพในรูปแบบของการเข้าซื้อกิจการ (Acquiring) ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใหญ่ เป็นทางลัดในการต่อยอด innovative product ให้กับองค์กร

การอยู่ภายใต้องค์การใหญ่ อาจจะดีสำหรับสตาร์ทอัพที่เคยต่อสู้โดยลำพัง หรือประสบกับความยากในการขยายตลาด แต่การอยู่ภายใต้คอร์ปอเรทจะได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรและ know-how ต่าง ๆ แต่ข้อเสียก็คือ โอกาสที่จะสูญเสียตัวตนหรือ Mindsetแบบสตาร์ทอัพ ไปค่อนข้างสูง ด้วยกับดักที่คอร์ปอเรทเองไม่ได้มีความเข้าใจตัวตนของสตาร์ทอัพมากพอ

ในการเป็นส่วนหนึ่งของคอร์ปอเรท สตาร์ทอัพจะต้องปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประเมิน การปิดความเสี่ยง การสร้างรายได้ที่แตกต่างกัน ด้วยกรอบคิดเหล่านั้นคอร์ปอเรทอาจจะเคยนำมาใช้แล้วประสบความสำเร็จ  แต่สำหรับสตาร์ทอัพ อาจจะไม่ถูกจริตกับสารเร่งเหล่านั้นจนเกิดอาการแพ้ และรู้สึกพะอืดพะอมกับเปลี่ยนแปลงภายใต้องค์กรใหญ่

มาถึงองค์ประกอบสุดท้ายในระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทย ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้ทุกข้อที่กล่าวมา และมีส่วนสำคัญที่จะทำให้สตาร์ทอัพก้าวขึ้นสู่การเติบโตเป็นยูนิคอร์นได้หรือไม่ นั่นก็คือแรงสนับสนุนจากภาครัฐบาล

บทบาทรัฐต้องส่งพลังให้ทั่ว

จากการศึกษาฉบับใหม่ของดีลอยท์ คอนซัลติ้ง เรื่อง “อนาคตของไทยสตาร์ทอัพ และ Venture Capital” ชี้ว่า Startup ไทยจำนวนมากเผชิญความยากลำบากในการแข่งขันและดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

ยิ่งโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยจากหน่วยงานภาครัฐนั้นยังไม่เพียงพอ ทั้งในแง่เงินทุน และระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทยยังมีขนาดเล็กและยังไม่ได้พัฒนามากนัก ซึ่งระบบนิเวศที่สนับสนุน สตาร์ทอัพนั้นเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาเป็นอย่างแรก

โดยเฉพาะการร่วมมือกันให้เป็นหนึ่งเดียวและต่อเนื่อง ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงความเพียงพอของช่องทางในการรับแหล่งเงินทุน โดยหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยสามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในระบบนิเวศและส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศในประเทศ

เราก็ได้เห็นมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อย แต่ไปถึงยอดปิรามิดจริง ๆ แค่ไม่กี่ราย ส่วนใหญ่อยู่ตรงกลาง

ขณะที่สตาร์ทอัพฐานรากที่รัฐให้การสนับสนุน คือสตาร์ทอัพหน้าใหม่รายเล็ก (Seed Stage) ใช้เงินทุนยังไม่มาก ภาครัฐสามารถช่วยได้มากรายกว่า แต่การโฟกัสที่รายเล็กมากเกินไป แต่ยังไม่ให้ความสำคัญที่จะเข็นสตาร์ทอัพรายกลางให้ขึ้นไปสู่ยอดปิรามิด ก็ทำให้ภาพของสตาร์ทอัพไทยไม่โตไปไหนค่อนข้างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ 

สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้คือ เมื่อสตาร์ทอัพหน้าใหม่ถูกผลักขึ้นมาจนเป็นสตาร์ทอัพไซส์กลางได้แล้ว ต่อให้ไอเดียดีตอบโจทย์ลูกค้าแค่ไหนก็จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ยากลำบาก คือการแข่งขันจากคู่แข่งที่มีขนาดใหญ่กว่า และมีเงินทุนหนากว่า

ทั้งผู้เล่นในประเทศที่ธุรกิจมีการผูกขาด หรือได้รับการเอื้อผลประโยชน์จนสตาร์ทอัพหน้าใหม่เข้าไปไม่ถึง ยังไม่รวมถึงสตาร์ทอัพจากต่างประเทศที่มีเงินมหาศาล หอบเงินมาทำการตลาดแบบที่ไม่คิดถึงกำไรเพื่อให้ได้ฐานลูกค้ามาก่อน การแข่งขันที่รุนแรงแบบนี้ส่งผลให้สตาร์ทอัพไทยแทบไม่มีที่ยืนกันเลย หลายรายก็ต้องล้มหายตายจากกันไป 

แม้จะเป็นภาวะที่อยู่ยาก แต่สตาร์ทอัพไซส์กลางก็ต้องอยู่ให้ได้ ไม่ว่าจะการเดินหน้าหาเงินทุน ต่อสู้กับทุกวิกฤติที่เข้ามา รับภาระต้นทุนบุคลากรที่สูงขึ้น จากการแข่งขันแย่งชิงคนมากฝีมือ  ครั้นจะไม่เพิ่มคนก็เกรงว่าจะแข่งขันสู้ใครเขาไม่ได้

รัฐอาจจะมองว่าสตาร์ทอัพที่สเกลมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็น่าจะสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้  แต่นั่นกลายเป็นความไม่สมดุลเกิดขึ้น เพราะนอกจากเรื่องขนาดตลาด (Market Size) ของไทยที่ค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับเวียดนามหรืออินโดนีเซียแล้ว 

ด้วยเพราะตลาดไทยยังแตกต่างจากในสหรัฐฯ ที่ผู้ใช้งานพร้อมสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีผลิตภัณฑ์ที่ดี ก็จะบอกต่อเพื่อมาทดลองใช้ จึงไม่ต้องใช้งบประมาณด้านการตลาดมากนัก

จากความแตกต่างนี้เอง ที่ทำให้สตาร์ทอัพไทยต้องใช้งบประมาณด้านการตลาดค่อนข้างสูง เพื่อให้ลูกค้ารู้จักและหันมาทดลองใช้ ขณะที่ภาครัฐเองอาจจะตั้งโจทย์ว่า เงินทุนที่จะสนับสนุนจะต้องเน้นการสร้างฐานรากของธุรกิจ หรือพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์มากกว่าการให้เงินทุน เพื่อขยายฐานผู้ใช้งานเท่านั้น จึงเป็นการตีกรอบการสนับสนุนที่แคบเกินไป และทำให้ปุ๋ยที่เสริมการเติบโตให้สตาร์ทอัพขนาดกลางไม่เพียงพอที่จะไปต่อในจังหวะสำคัญ ๆ 

ดังนั้นเมื่อโมเดลธุรกิจชัดเจน และเข้าสู่ในจังหวะที่เริ่มโตได้ ภาครัฐควรเข้ามาช่วยในการรดน้ำใส่ปุ๋ยเพิ่มสารเร่งในจังหวะสำคัญนี้ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน และไปต่อได้จนเติบโตเป็นยูนิคอร์นหรือ IPO ได้

จริงอยู่ว่าถ้ารัฐไม่ช่วย สตาร์ทอัพรายกลางก็อยู่ได้ เพราะโมเดลธุรกิจได้รับการพิสูจน์มาแล้ว แต่ก็จะเป็นลักษณะของซอมบี้ คือไม่ตายแต่ก็เลี้ยงไม่โต ไปไม่ถึงฝั่งฝันขั้นยูนิคอร์นได้อย่างที่เห็นกันอยู่ 

สุดท้ายนี้ ในการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในประเทศไทยจะต้องทำร่วมกัน ทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่จะร่วมกันผลักดันการพัฒนา โดยใช้ลักษณะเฉพาะตัวของประเทศไทยเป็นที่ตั้ง มากกว่าการรับแนวคิดจากประเทศใดมาเป็นสารตั้งต้น

เพื่อให้ประเทศไทยสามารถสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในอนาคต มีสตาร์ทอัพเจ๋ง ๆ ที่สามารถดึงดูด VC ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศให้มาลงทุน และพัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์ผู้คนได้และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้อุตสาหกรรม

โดย: พรทิพย์ กองชุน Co-Founder and COO, Jitta (Thailand)