posttoday

สตาร์ทอัพสะดุดขาตัวเอง บทเรียนเก็งกำไรค่าตัวที่แสนแพง

01 พฤษภาคม 2566

กระแสการปลดพนักงานจำนวนมาก ของบริษัทเทคโนโลยีในทั้งในสหรัฐฯ และสตาร์ทอัพในยุโรป ส่งสัญญาณเศรษฐกิจโลกหดตัว จึงเป็นเหตุให้ต้องเร่งลดตันทุน ที่เป็นผลจากการสะสมไขมันหรือให้ค่าตัวแพงเกินจำเป็น ในการจ้างงานช่วงที่ตลาดเฟื่องฟู

ข่าวคราวที่บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ประกาศปลดคนออกกันจำนวนไม่น้อย เมื่อไม่กี่วันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา Meta ได้ประกาศปลดพนักงานรอบ 2 อีก 10,000 คนทีเดียว หลังจากที่ปรับลดไปแล้ว 13% เมื่อปลายปีก่อน ด้วยข้ออ้างของ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Meta ระบุว่าต้องการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร  

ด้าน Google ก็ปลดพนักงานอีก 12,000 คน หรือคิดเป็น 6% ของพนักงานทั่วโลก ไม่นับรวมธุรกิจอื่นอีกหลายบริษัทในสหรัฐฯ ที่ประกาศปรับลดพนักงานเช่นกัน ซึ่งเวลานี้เป็นที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่ภาวะหดตัว 

ข้ามมาที่ฝั่งสหภาพยุโรป ก็เห็นสัญญาณการปรับลดคนในส่วนของสตาร์ทอัพหลายแห่ง  โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สตาร์ทอัพยุโรปมีการปลดพนักงานไปแล้วกว่า 40,000 คน ส่วนใหญ่หรือกว่าครึ่ง เกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้

ขณะที่ช่วงที่เหลือของปี ภาพรวมยังไม่ได้มีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะดูดีขึ้น โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดได้ว่าสตาร์ทอัพเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะเห็นการปรับลดพนักงานลงได้อีก 

โดยเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก เผยผลสำรวจที่ได้สอบถามประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับโลก 110 แห่ง พบว่าซีอีโอส่วนใหญ่ หรือ 85%  มองว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อไปอีก 12 เดือน และความกังวลเร่งด่วนที่สุดสำหรับ ‘ซีอีโอเทค’ คือปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตน แต่ยังคงมั่นใจในโอกาสเติบโตของบริษัทในอีกสามปีข้างหน้า

โดยมาร์ค กิบสัน หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ให้คำแนะนำว่า ซีอีโอในธุรกิจเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม จำเป็นต้องสร้างสมดุลที่เหมาะสมเพื่อบริหารความเสี่ยงระยะสั้น โดยไม่ให้กระทบต่อการเติบโตในระยะยาว

หากมองย้อนไปแล้วการปลดพนักงานเพื่อลดต้นทุนของบริษัทเทค ส่วนหนึ่งเกิดจากการสะสมไขมันที่มากเกินไปในช่วงที่ตลาดเฟื่องฟู สภาพคล่องในระบบมีมากจากการดำเนินมาตรการของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่เอื้อให้ (Venture Capital – VC) สามารถอัดฉีดเงินเข้าระบบสตาร์ทอัพได้ง่าย เมื่อเงินได้มาง่าย การใช้เงินก็เป็นเรื่องง่ายไปด้วยเช่นกัน และนี่อาจเป็นหนึ่งในกับดักที่ทำให้บรรดาธุรกิจเทค ทั้งรายใหญ่หรือสตาร์ทอัพต้องสะดุดขาตัวเอง 

เมื่อไม่กี่วันมานี้ เราอาจจะได้ยินไวรัลของอดีตพนักงานของ Meta  ที่ออกมาเล่าว่า ได้รับการว่าจ้างด้วยค่าตัวที่สูงโด่ง แต่กลับไม่มีงานให้ทำ หรือมีงานที่น้อยเกินไป  และบางรายต้องดิ้นรนหางานเอง ก่อนจะถูกให้ออกจากงานเพราะไม่มีผลงาน

กระแสดังกล่าวสร้างความรู้สึกให้พนักงานเหล่านั้นว่า Meta ต้องการดูดคนเก่งๆ เข้ามาเพื่อสกัดไม่ให้คนเก่งเหล่านั้นไปทำงานกับคู่แข่ง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาพขององค์กรคือความรู้สึกไม่มั่นคงของพนักงานโดยรวม และรู้สึกว่างานที่กำลังทำอยู่อาจไม่มีคุณค่าเพียงพอ สั่นคลอนความเชื่อมั่นในอนาคตการทำงาน
 
แต่เมื่อมองในมุมของธุรกิจเอง ก็อาจจะมองว่าในช่วงที่มีกำลังก็อยากจะดูดคนเก่งมาไว้ก่อน แม้จะยังไม่มีงานให้ทำวันนี้  แต่ในอนาคตถ้ามีงานแล้วไม่มีคน ถึงเวลานั้นค่าตัวอาจจะแพงไปแล้วก็ได้ ลักษณะเดียวกับการเก็งกำไรในสินทรัพย์ โดยไม่ได้พิจารณาพื้นฐานที่แท้จริง ช่วงที่ตลาดมีการคาดการณ์ว่าจะเป็นขาขึ้น นักเก็งกำไรกังวลว่า หากไม่ซื้อหุ้นนั้นไว้ เราอาจจะตกขบวนได้ อย่างไรอย่างนั้นก็ว่าได้ 

Meta เป็นหนึ่งตัวอย่างบริษัทเทคขนาดใหญ่ที่มีเงิน ก็พยายามจะแย่งคน  เช่นเดียวกับสตาร์ทอัพในช่วงหลายปีก่อนที่ตลาดมีสภาพคล่องสูง ก็สามารถระดมทุนได้มาก จึงกล้ากระโจนเข้าสู่สนามแก่งแย่งคนเช่นเดียวกัน

ภาวะแย่งคนทั้งจากบริษัทขนาดใหญ่และเล็กเหล่านี้ เกิดเป็นปัญหาการรับคนจนล้นองค์กรหรือ Over hiring และ จ่ายค่าตัวกันสูงเกินจริงหรือ Inflated salary เป็นปัญหาที่ตีคู่กันมา  แต่ด้วยสภาพคล่องที่หาได้ง่ายในยุคสมัยนั้น ทำให้ VC ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง Business Model มากนัก แต่จะเน้นให้สตาร์ทอัพเร่งการเติบโตของ User หรือขนาดของทางธุรกิจเป็นหลัก 

ในยุคสมัยที่การระดมทุนเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเช่นปัจจุบัน  อัตราดอกเบี้ยในตลาดเริ่มปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังคคงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 แม้ตลาดจะมองว่าอัตราดอกเบี้ยใกล้จุดสูงสุดแล้ว การประชุมของเฟดในเดือนพฤษภาคม ที่จะถึงนี้น่าจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบสุดท้าย แต่ปัญหาการล้มละลายของ SVB เมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็ยังคงกดดันให้ VC ที่เคยให้เงินได้อย่างง่ายดาย ในยามนี้ก็หันกลับมาตั้งคำถามกับสตาร์ทอัพมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ขณะที่ VC เริ่มสนใจเรื่องโมเดลทางธุรกิจของสตาร์ทอัพมากขึ้น ต้องมีความชัดเจนว่าแผนธุรกิจจะมีความสามารถในการทำกำไรและสร้างความอยู่รอดได้ในระยะยาว ซึ่งแนวโน้มนี้เราเริ่มเห็นมาตลอด 1-2 ปีนี้แล้วว่าทาง VC เริ่มรัดเข็มขัด

เช่นเดียวกับที่ มีการส่งสัญญาณไปยังสตาร์ทอัพที่พยายามสะสมไขมันไว้เกินจำเป็น ว่าหากยังไม่ทำกำไรก็ต้องเริ่มลดต้นทุนและต้องปลดคนออก  โดยเฉพาะเมื่อบริษัทขนาดใหญ่ยังลดคน แล้วธุรกิจสตาร์ทอัพจะแบกต้นทุนของคนไว้มากมายต่อไปได้อย่างไร 

เพราะฉะนั้นในปีนี้ สตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตจะต้องเผชิญหน้ากับเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารเงินสด โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่แข่งขันรุนแรง เช่น  e-commerce ที่จะมีการเผาเงิน (Burn Cash) มากมายก็น่าจะต้องรัดเข็มขัดแล้ว กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง เพื่อรักษาพื้นที่ทางธุรกิจเอาไว้

จริงอยู่ว่าธุรกิจเทค ในซีกโลกตะวันตกจะเผชิญความท้าทาย และยังจะเห็นความเป็นไปได้ในการปรับลดคนอย่างต่อเนื่อง  แต่นั่นไม่ใช่ภาพรวมเชิงลบที่ควรมีต่อสตาร์ทอัพ ยังมีภาคส่วนที่มีการเติบโตและเป็นที่สนใจลงทุนของ VC

โดยสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนทั่วไป จะได้รับความสนใจมากกว่าธุรกิจที่ฟุ้งเฟ้อหรือจับต้องไม่ได้ เช่น Metaverse โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด ที่มนุษย์ต้องการการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น และมีความเฉพาะตัว (personalize) มากขึ้น ธุรกิจ HealthTech ก็ได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งกลุ่มที่มาแรงในเวลานี้คือเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์สามารถสร้างความสงบทางจิตใจหรือ Meditation ได้

หรือแม้กระทั่งธุรกิจฟินเทคเองก็ยังมาแรงและเติบโตต่อเนื่องตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งเพื่อเป็นระบบการชำระเงินหลังบ้านของ e-commerce เพื่ออำนวยความสะดวกในการช้อปปิ้งออนไลน์ และยังมีฟินเทคอีกกลุ่มที่กำลังมาแรงเช่นกัน คือฟินเทคเพื่อช่วยในการสร้างความมั่งคั่ง (WealthTech)  หรือ ประกัน (InsureTech)   

อีกกลุ่มสตาร์ทอัพที่น่าสนใจและเป็นเมกะเทรนด์ที่ต้องจับตาคือ Food Tech ที่จะเข้ามาตอบโจทย์เรื่องการขาดแคลนอาหารที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต เช่นการผลิตอาหารสังเคราะห์ที่จะเป็นแหล่งอาหารให้มนุษย์ชาติในอนาคต ยกตัวอย่างที่ชัดเจนในเวลานี้คืออาหารทดแทนเนื้อสัตว์หรือ Plant Base ที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  

เห็นเหมือนกันหรือไม่คะ ยังมีสตาร์อัพหลายธุรกิจทีเดียวที่มีโอกาสเติบโตได้ หากสตาร์ทอัพเหล่านั้นยังมุ่งมั่นที่จะแก้ Pain Point และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน แม้ว่าในห้วงเวลาที่ท้าทายนี้ ยังมีปราการสำคัญอย่างเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สร้างแรงกดดันอยู่

ในฐานะสตาร์ทอัพเรายอมรับว่าจังหวะของการเปลี่ยนผ่านวัฏจักรเศรษฐกิจยังคงเกิดขึ้น เราล้วนต้องเจอบททดสอบทางธุรกิจอีกมาก แต่เราเชื่อว่าการยึดมั่นในพันธกิจที่ต้องการช่วยลูกค้าแก้ปัญหาทางการเงินได้ด้วยเทคโนโลยีที่ดี ด้วยการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ลูกค้าถือเป็นหัวใจขอธุรกิจเทคฯ

ขณะเดียวกันเรายังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของบุคลากร ซึ่งแน่นอนว่าเราจะไม่วัดกันที่จำนวนคนหรือค่าตัวแสนแพง  แต่ต้องเป็นบุคลลากรที่ได้ทำงานที่มีความหมาย  มีความหมายอย่างไร  ง่าย ๆ เลยค่ะ  มีความหมายกับตัวเอง มีความหมายกับองค์กร และที่สำคัญคือมีความหมายกับสังคม   

ดังนั้น โจทย์ของผู้บริหารต้องพิจารณาเรื่องตำแหน่งงานที่จำเป็นให้ดี ให้เป็นงานที่สร้างคุณค่าหลักหรือ Core Value ให้องค์กร ซึ่งต้องมีพื้นฐานมาจากการตอบโจทย์การใช้งานของ User หรือแก้ปัญหาให้คนในสังคม  พร้อมทั้งสื่อสารให้พนักงานเข้าใจในพันธกิจขององค์กร เพื่อกำหนดเป้าหมายในการสร้างคุณค่านั้นๆ ให้พนักงานเห็นภาพที่ตรงกันว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าดังกล่าว และภาคภูมิใจที่จะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน 
 
สุดท้ายที่อยากฝากไว้ คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานร่วมกันอย่างโปร่งใส เปิดกว้าง เพื่อให้ทุกคนได้มาร่วมสร้างคุณค่าและเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ ก็จะช่วยให้คนในองค์กรพร้อมใจกันขับเคลื่อนธุรกิจให้ฝ่าคลื่นลมนี้ไปได้อย่างราบรื่นที่สุด 

โดย :  พรทิพย์ กองชุน Co-Founder and COO, Jitta (Thailand)