posttoday

สรุปวิธีคิดสตาร์ทอัพที่โตไว ไม่ได้แค่หาคนเก่ง แต่ต้องรักษาไว้ให้อยู่

21 เมษายน 2566

สรุปวิธีคิดเรื่องการหาและรักษาคนของสตาร์ทอัพในฝันที่เติบโตไว ให้รู้ว่าจะต้องทำยังไง ? ในเฟสที่เริ่มติดปีกโบยบินแล้ว จึงต้องเข้าสู่การสรรหาคนเก่งที่เก่งจริง ๆ หรือ Talent แล้วไปสู่ขั้นที่สองคือการพยายามรักษา Talent ไว้ให้ได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ

ตอนที่สอง เรามาคุยกันในเรื่องการหาและรักษาคนของสตาร์ทอัพในฝันที่ใครหลาย ๆ คนอยากทำ ให้รู้ว่าจะต้องทำยังไง ?

ในเฟสที่สตาร์ทอัพนั้นติดปีกโบยบินแล้ว เงินจากนักลงทุนมีมากมาย เพื่อใช้ในการขยายตัวแบบ Blitz scaling ในขั้นนี้สิ่งที่สตาร์ทอัพต้องทำ คือสรรหาคนเก่งที่เก่งจริง ๆ หรือ Talent และขั้นที่สองคือการพยายามรักษา Talent ไว้ให้ได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ

พูดถึงขั้นแรกกันก่อนก็คือ ถ้าคิดในเชิง HR Marketing คือการทำบริษัทเราให้น่าสนใจ ขอแบ่งเป็น 5 ขั้น ดังต่อไปนี้

1. สร้าง Organization with Propose ตอบโจทย์ให้ได้ว่าคนที่เก่ง จะมาทำงานกับเราได้อย่างไรโดยสมัยนี้คำที่นิยมกันก็คือ Organization with Propose หมายความว่าเป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการสร้างประโยชน์ให้สังคมและโลก และมีจุดประสงค์ที่จะทำให้โลกนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น เราก็จะต้องกำหนดว่าองค์กรของเราจะช่วยให้สังคมและโลกของเราดีขึ้นอย่างไร

2. สื่อสาร Founder Vision วิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้ง ที่เป็นผู้กำหนด Propose ขององค์กร รวมถึงการสื่อสาร ว่าผู้ก่อตั้งนั้นมีประวัติการทำงานที่น่าสนใจยังไง นำพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จจากเริ่มต้นจนถึงขั้นนี้ได้ยังไง รวมทั้งสื่อต่าง ๆ ที่เคยได้ออก รางวัลที่เคยได้รับ เพื่อเป็นการสร้างแบรนด์องค์กรให้มีความน่าเชื่อถือ และน่ามาทำงานด้วย

3. สื่อสารสภาพแวดล้อมในองค์กร ว่าเป็นยังไง รูปร่างหน้าตาของออฟฟิศ บรรยากาศในการทำงาน และเพื่อนที่ร่วมงานการมีความคิดเห็นอย่างไรกับองค์กรนั้น

4. ผลประโยชน์จากการเข้าร่วมองค์กร คือ อะไรที่นอกเหนือไปจากตัวเงิน อาทิ สวัสดิการต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากเงินเดือน และโบนัส

5. การประกาศออกสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่แพ้การทำคอนเทนท์เนื้อหาว่าบริษัทเราน่าสนใจอย่างไร เพื่อให้คนรับรู้ว่าคอนเทนท์ที่เราทำเกี่ยวกับองค์กรของเรานั้นมีคนได้ฟังได้ดูเพียงพอ เพื่อเค้าจะมาสมัครงานกับเรา

ซึ่งส่วนใหญ่อันนี้ก็จะทำผ่านโซเชียลมีเดีย อย่างเช่น Facebook, LinkedIn, YouTube หรือถ้าเจ้าของบริษัทเก่ง ๆ ก็จะมีการไปพูดใน Podcast ต่าง ๆ เขียนบทความ รวมถึงการเดินสายไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และการไปสอนนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยด้วย

หลังจากที่เราสามารถทำ Activities ดึงให้ Talent หรือคนเก่งมาสมัครงานกับเราได้แล้ว และรับเข้าเป็นพนักงาน แล้วทีนี้ก็มาพูดถึงประโยชน์ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่รูปของตัวเงิน ซึ่งบริษัทสตาร์ทอัพนิยมนำมาใช้กัน เพื่อรักษาพนักงานไว้ ได้แก่

1. ESOP (Employee Stock Ownership) หรือการให้หุ้นของบริษัท ซึ่งการให้หุ้นของบริษัทนี้มักจะให้ในตำแหน่งที่มีความสำคัญสูงต่อบริษัท และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนในต่างประเทศมาเข้าร่วมกับสตาร์ทอัพมากที่สุด เพราะว่าจะรวยไม่รวยก็เรื่องนี้แหละ

ดังเช่นช่วง Microsoft ก่อตั้งบริษัทแรก ๆ ก็ใช้วิธีการแบ่งหุ้นกัน จนตอนนี้เป็นเศรษฐีไปแล้วก็เพราะวิธีนี้นี่แหละ การให้หุ้นก็ให้ได้หลายวิธีซึ่งเราจะมาพูดรายละเอียดของการให้หุ้น ESOP อีกครั้งหนึ่งเพราะรายละเอียดมันเยอะมาก

2. การให้สวัสดิการด้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว บางทีมีโรงอาหารจริงจัง มีบาริสต้าประจำการกันเลย ซึ่งตามที่กล่าวในคราวที่แล้วอันนี้ก็แล้วแต่กำลังเงินของแต่ละบริษัทนั้น ๆ ว่าจะจัดหาอย่างไรความถี่เท่าไหร่ ให้อะไรบ้าง

3. นโยบาย Flex Hours หรือนโยบายทำงานที่ไหนก็ได้ อันนี้ก็นิยมมาใช้กันกับบริษัทสตาร์ทอัพอย่างไรก็ดีหลังจากที่มีการนำนโยบายนี้มาใช้ในต่างประเทศ หลายบริษัท เช่น Facebook, Google, Microsoft หรือ Apple เอง ก็มีการเรียกพนักงานกลับมาทำงานเต็มเวลา

เนื่องจากตระหนักว่าการให้พนักงานทำงานจากที่บ้านไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร อันนี้ผู้บริหารหรือ Founder สตาร์ทอัพก็ต้องนำมาคิดเองว่าที่บริษัทสามารถกำหนดงานให้ออกมาได้เป็นชิ้นจริง ๆ และติดตามผลงานได้อย่างเป็นรูปธรรมจริง ๆ หรือไม่ ถ้าพนักงานไม่ได้ทำงานอยู่ที่ออฟฟิศ

4. การให้วันหยุดเท่าไรก็ได้ถ้างานสำเร็จ อันนี้คล้าย ๆ กับข้อสาม ซึ่งต้องมีการติดตามงานที่ดีพอสมควรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

5. การให้สามารถทำโครงการอะไรก็ได้ที่ไม่เกี่ยวกับงานตัวเอง เพื่อเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น บริษัท Google ที่ให้พนักงานสามารถทำโครงการอะไรก็ได้อาทิตย์ละหนึ่งวันหรือประมาณ 20% ของเวลาทำงานเพื่อให้เกิดโปรเจคที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ

6. การเปิดโปรแกรม Fast Track สำหรับพนักงานที่มีศักยภาพสูง เพื่อให้ได้พบปะกับผู้บริหารได้รับการเทรนนิ่งที่มากกว่าคนอื่น และได้รับสิทธิในการหมุนวนไปดูสายงานต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสายงานตัวเอง เพื่อเรียนรู้สายงานนั้น ๆ เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้บริหาร

7. Gym Membership หรือ Wellness Program บริษัทบางที่ก็มี Gym ในบริษัทเลยหรือ มีการให้สมาชิกแบบจำกัดจำนวนคนเข้าแก่พนักงาน ส่วนด้าน Wellness ก็มีการเรียกพนักงานมานวด ทำกายภาพให้ที่บริษัท หรือมีสวัสดิการด้านกีฬาที่ให้พนักงานสามารถมาเบิกได้

8. จัดหา On-site Childcare หรือการดูแลลูกของพนักงานที่บริษัท ซึ่งนิยมในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นครอบครัวเดี่ยว เพื่อจูงใจพนักงานที่มีครอบครัวให้มาทำงานได้ โดยไม่ต้องห่วงหน้า พะวงหลังกับลูกเล็ก

9. การให้สวัสดิการทุนการศึกษาเพื่อการฝึกอบรมหรือการเรียนต่อ

10.สวัสดิการอื่น ๆ ก็เป็นสวัสดิการทั่ว ๆ ไป เช่น การทำประกันสุขภาพ การตรวจสุขภาพ การทำเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เพื่อการเกษียณอายุ เป็นต้น

อันนี้เป็นตัวอย่างคร่าว ๆ ที่บริษัทสตาร์ทอัพทั้งในไทยและต่างประเทศเค้าทำกัน ส่วนคราวหน้าเราจะมาพูดถึงเรื่องของ Stock Option หรือ ESOP ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรและมีการให้จากบริษัทสตาร์ทอัพอย่างไรเพื่อจูงใจพนักงานให้อยู่ต่อ

โดย: ณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการ และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด (Buzzebees) และ Guru ด้าน CRM & Digital Engagement Platform