posttoday

ทำความรู้จักคนรุ่นใหม่รักบ้านเกิด จังหวัดพิษณุโลก

02 เมษายน 2566

จากโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (The Smart City Ambassadors: SCA Gen 2) เมืองสองแคว จังหวัดพิษณุโลก

วันนี้ผมจะพาผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกับน้องเยาวชนจาก โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (The Smart City Ambassadors: SCA Gen 2) เมืองสองแคว จังหวัดพิษณุโลก กันครับ

น้องคนนี้ชื่อ โจ - เตชสิทธิ์ วิโรจน์ภัทรสกุล เกิดและเติบโตในจังหวัดพิษณุโลก สำเร็จการศึกษาจากคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาขาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลันนเรศวร ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง SCA ประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก

โจ เล่าให้ฟังว่า ส่วนตัวชื่นชอบงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง และเทคโนโลยี จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ที่จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการนำความรู้ความสามารถที่มีมาพัฒนาจังหวัดพิษณุโลกบ้านเกิดสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้สนับสนุนการพัฒนาเมืองให้ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความสุข

จังหวัดพิษณุโลก เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีมรกดทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงโบราณสถานหลายแห่ง เป็นแหล่งเกษตรกรรมสำคัญ อีกทั้งเป็นจุดตัดของระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 10 เมือง MICE ของประเทศไทย

แต่ภายหลังลงพื้นที่ทำงานร่วมกับกัปตัน หน่วยงานและคนในพื้นที่ก็ได้พบปัญหาหลัก ๆ ของเมืองอยู่ 3 ด้าน ประกอบด้วย ปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงวัยและการลดลงของประชากรวัยทำงาน ส่งผลให้พิษณุโลกกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกัน อัตราการย้ายออกของคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นทำให้ประชากรผู้อยู่อาศัยในเมืองลดลง นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาด้านการบริหารการจัดเก็บขยะ

ดังนั้น คณะทำงานจึงเสนอจัดทำโครงการรวบรวมข้อมูลเมืองเพื่อวิเคราะห์ศักยภาพ โดยเผยให้เห็นโอกาสทางการค้า การลงทุน และการสร้างอาชีพ เสริมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งการคมนาคมและสาธารณูปโภค เพื่อจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยากกลับมาอาศัยและสร้างอาชีพภายในเมือง อีกทั้งดึงดูดนักธุรกิจเข้ามาลงทุน รวมถึงการเพิ่มทักษะอาชีพให้กับคนในพื้นที่ทุกช่วงวัย โดยการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยเข้าถึงและเข้าใจบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้จะดำเนินการเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัด โดยมีการเสนอแผนจัดทำเว็บไซต์และช่องทางโซเชียลมีเดีย พร้อมให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น อีกทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจ รณรงค์สร้างจิตสำนึกผ่าน Digital Content ในช่องทางที่เข้าถึงประชาชนได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, LINE และ TikTok เพื่อชักชวนให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างกลไกการจัดการขยะชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ธนาคารขยะรีไซเคิล สวัสดิการชุมชนการคัดแยกขยะ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

“ผมอยากเห็นประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพดี ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ลดการใช้พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อยากเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้บริการด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานสากล มีการพัฒนาเมืองด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อทำให้พิษณุโลกเป็นเมืองแห่งโอกาส ประชาชนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง มีการค้าการลงทุนที่หลากหลาย” โจ กล่าวทิ้งท้าย

โอกาสหน้า ผมจะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับน้อง ๆ SCA คนไหน จังหวัดอะไร ติดตามอ่านพร้อมกันนะครับ

โดย : ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)