posttoday

สวัสดิการขั้นสุดที่มีประโยชน์ครอบคลุม นายจ้างและลูกจ้าง

22 กุมภาพันธ์ 2566

เมื่อเริ่มต้นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ จะต้องประกอบด้วยเจ้าของธุรกิจ ที่เรียกกันว่า “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” ฉะนั้นในองค์กรนั้นๆ จำเป็นต้องมีสวัสดิการให้กับลูกจ้าง ตลอดจนสวัสดิการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับลูกจ้างและนายจ้าง

ถ้าจะกล่าวถึงสวัสดิการที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นนั้น ล้วนมีผลทางด้านภาษีทั้งสิ้น แต่ถ้าสวัสดิการนั้นๆ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ ซึ่งกิจการจะต้องระบุสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของกิจการ

     โดยระบุไว้ในคู่มือพนักงานและการให้สวัสดิการดังกล่าวเป็นการให้สวัสดิการโดยทั่วไปแก่พนักงานทุกคน ซึ่งสามารถวางแผนสวัสดิการได้อย่างไรบ้าง ติดตามได้จากรายละเอียดที่จะแจกแจงต่อจากนี้

“ลูกจ้าง” มีสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการโดยชอบธรรมอะไรบ้าง

1.สิทธิประกันสังคม

     ​เมื่อนายจ้างตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานอย่างเป็นทางการ และเริ่มมีการจ่ายค่าตอบแทนไม่ว่าจะเป็นการจ่ายแบบรายวันหรือรายเดือนก็ตาม ทางนายจ้างต้องไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม ซึ่งสำหรับกิจการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ก็จะได้ขึ้นทะเบียนนายจ้างกับประกันสังคม กระทรวงแรงงานโดยอัตโนมัติ และทางนายจ้างต้องรีบแจ้งให้ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่เริ่มว่าจ้าง สามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานประกันสังคมใกล้พื้นที่ทุกแห่ง

ทั้งนี้ทั้งนั้นในกรณีที่นายจ้างเปิดรับสมัครลูกจ้างเพิ่มเติม ก็ต้องไปแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มจ้างงานด้วยเช่นกัน รวมถึงหักเงินสมทบของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินค่าจ้าง เงินเดือน พร้อมจัดทำเอกสารตามแบบ สปส. 1-10 ส่วนที่ 1 และ สปส. 1-10 ส่วนที่ 2 นำส่งสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน โดยไม่ลืมลงรายการบัญชีเงินเดือนไว้ให้เรียบร้อย เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสวัสดิการความคุ้มครองหลายๆ ด้านจากประกันสังคม เช่น ค่าสงเคราะห์บุตร ค่าว่างงาน ค่ารักษาพยาบาล ค่าคลอดบุตร อีกทั้งลูกจ้างยังสามารถนำค่าประกันตนที่หักจ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคม ไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องยื่นภาษีทุกปีได้ด้วย

2.ต้องเฟ้นหาสวัสดิการที่ไม่นำมาคำนวณภาษีของพนักงาน

     นายจ้างทราบหรือไม่ว่ามีสวัสดิการบางประเภทของลูกจ้าง ที่กิจการบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานได้ และพนักงานที่ได้รับสวัสดิการนั้นจากกิจการ อาจไม่ต้องรวมเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) เพราะกฎหมายได้มีการกำหนดในส่วนของเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีไว้ จึงทำให้สวัสดิการและประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับจากทางกิจการไม่ต้องนำมาคำนวณเสียภาษี หากเป็นไปตามเงื่อนไข คือ

          - เป็นการปฏิบัติให้ลูกจ้างทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อาจแตกต่างกันตามลำดับขั้นของลูกจ้างได้ แต่ต้องไม่แตกต่างกันในระดับขั้นเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่ากิจการไม่ได้เลือกปฏิบัติ หรือให้เป็นการส่วนตัว เพราะจะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
          - สวัสดิการบางอย่างต้องมีระเบียบปฏิบัติอย่างชัดเจน พนักงานรับรู้โดยทั่วกันทุกคน
          - ผลประโยชน์ให้พนักงานบางกรณีต้องมีการทำหนังสือรับรู้ หรือได้รับการอนุมัติจากกรรมการเป็นลายลักษณ์อักษร เอกสารประกอบชัดเจน ถูกต้อง พร้อมทั้งเอกสารบันทึกค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นตรงตามที่ได้รับการอนุมัติ
     นอกจากนี้ค่าสวัสดิการที่พนักงานได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ลูกจ้างต้องเสียภาษี ซึ่งมาตรา 39 เงินได้พึงประเมิน “ให้รวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน” โดยพิจารณาได้จากประเภทของเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร
     ดังนั้น นอกจากเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานตามกฎหมายภาษีอากรที่ได้รับเป็นตัวเงิน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส ยังหมายรวมถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้

3.ลูกจ้างกับการภาษีหัก ณ ที่จ่าย

     เมื่อลูกจ้างได้รับเงินเดือนและถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ทางนายจ้างจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกเดือน โดยนายจ้างจะต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของลูกจ้างทั้งปี ว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้วหรือไม่ หากพบว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ให้แจ้งกับลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างแจ้งสิทธิลดหย่อนที่มีกับนายจ้าง โดยลูกจ้างจะต้องแจ้งสิทธิลดหย่อนที่มีหรือที่ตั้งใจว่าจะซื้อเพิ่มภายในปีนี้เป็นลายลักษณ์อักษรให้นายจ้างทราบ อาจแจ้งเป็นแบบฟอร์มหรือช่องทางอื่นๆ ตามที่นายจ้างกำหนด 

“นายจ้าง” กับประโยชน์ที่ได้จากการจ่ายค่าสวัสดิการพนักงาน

1.ค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

     กล่าวคือรายจ่ายใดๆ ก็ตาม ที่ไม่ได้อยู่ในมาตรา 65 ตรี (1)-(20) มีสิทธิลงเป็นรายจ่ายทางภาษีอากรได้ ซึ่งจะช่วยทำให้นายจ้างเสียภาษีน้อยลง ทั้งนี้ในการจ่ายจำเป็นต้องมีการบันทึกรายได้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่กิจการนำมาหักเป็นไปตามเงื่อนไขที่ข้อกฎหมายได้กำหนดไว้หรือไม่     
     โดยสวัสดิการที่สรรพากรอนุญาตให้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้จะต้องเข้าเงื่อนไขต่อไปนี้
          - สวัสดิการที่ลูกจ้างพึงได้รับโดยชอบธรรมควรให้กับลูกจ้างทุกคนด้วยความเท่าเทียมกัน 
          - กิจการต้องระบุสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของกิจการ โดยระบุไว้ในคู่มือพนักงาน

2.ภาษีซื้อต้องห้ามไม่ควรมีอยู่ในสวัสดิการ

     ค่าสวัสดิการลูกจ้างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในกรณีที่มีการจ่ายค่าสวัสดิการลูกจ้าง เช่น แจกสิ่งของเป็นรางวัลปีใหม่ให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน ภาษีซื้อสิ่งของเหล่านี้จะต้องไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 ซึ่งแบ่งได้เป็น 6 กรณี ดังนี้ 
          - ภาษีซื้อจากรายจ่ายค่ารับรอง
          - ภาษีซื้อต้องห้ามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
          - กรณีไม่มีใบกำกับภาษี หรือกรณีมีใบกำกับภาษีแต่ไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้
          - กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ  
          - ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ
          - ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี

สรุป: เลือกสวัสดิการตรงจุดมีประโยชน์แน่นอน
     การวางแผนสวัสดิการให้กับพนักงานอย่างครอบคลุมครบถ้วน จะส่งผลประโยชน์ 2 ต่อ ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งมีวิธีการอยู่มากมาย ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้แบบไหน และตอบโจทย์ความต้องการทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่ ฉะนั้นทั้งลูกจ้างและนายจ้างควรศึกษาในรายละเอียดให้ดี เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด รวมถึงไม่มีปัญหาเรื่องภาษีกับกรมสรรพากรมากวนใจอีกด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Account