posttoday

เมื่อเจ้าของกิจการนำเงินบริษัทมาใช้ แบบไหนถูกต้อง และเกิดประโยชน์สูงสุด

08 กุมภาพันธ์ 2566

ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการ หากว่าวันหนึ่งธุรกิจเฟื่องฟูกิจการขยายใหญ่ขึ้น ผลประกอบการดีเยี่ยม มีผลกำไรเป็นที่น่าพอใจ แล้วถ้าเจ้าของกิจการจะทำการนำเงินบริษัทส่วนนั้นมาใช้บ้างได้หรือไม่?

คำตอบที่ได้คือ สามารถนำมาใช้ได้ แต่เจ้าของกิจการจะต้องทำให้ถูกหลักการบัญชี และภาษี เท่านั้น เพื่อให้ปลอดภัยจากการตรวจสอบของกรมสรรพกร

     ดังนั้น การประกอบกิจการที่อยู่ในรูปแบบ นิติบุคคล แล้วเจ้าของกิจการมีความประสงค์จะใช้เงินบริษัท ในกรณีนี้ทางเจ้าของกิจการจะต้องแจ้งรายละเอียดที่มาที่ไปและหลักฐานการนำเงินไปใช้ให้ชัดเจน สามารถนำมาตรวจสอบได้ รวมถึงต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการใดบ้าง ตามมาศึกษารายละเอียดดังนี้

     1.ค่าตอบแทนหรือเงินเดือน

     เจ้าของกิจการมีสิทธิได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนหรือไม่? ตอบได้เลยว่า มีสิทธิได้รับแน่นอน เนื่องจากกิจการจะอยู่ในรูปแบบนิติบุคคล ส่วนเจ้าของกิจการอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดา ซึ่งถือเป็นคนละบุคคลกันในทางกฎหมาย และเมื่อเจ้าของกิจการทำงานให้กับกิจการ จึงมีสิทธิได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทนเช่นกัน ซึ่งเงินเดือนที่จ่ายให้กับเจ้าของกิจการ สามารถนำมาเป็นรายจ่ายของกิจการ ทำให้บริษัทเสียภาษีลดลงสูงสุดได้แค่ 20% แต่ก็ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการที่ต้องจ่าย

     ข้อความสำคัญ : หากมีการจ่ายเงินเดือนให้กับเจ้าของกิจการ นั่นถือว่าเป็นการนำเงินของกิจการไปใช้จ่ายส่วนตัวได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี และอย่าลืมว่าเจ้าของกิจการต้องนำรายได้ส่วนนี้ไปคำนวณในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย 

     2.โบนัส

     คำว่า “โบนัส” เป็นคำที่ลูกจ้างฟังแล้วหัวใจฟู มีพลังในการขับเคลื่อนการทำงานต่อไป แล้วแบบนี้ถ้าเจ้าของกิจการอยากได้รับ “โบนัส” บ้างได้หรือไม่

     ในทุกๆ กิจการสามารถจ่ายโบนัสให้กับเจ้าของกิจการในฐานะกรรมการได้ เหมือนกับการจ่ายเงินเดือน และสามารถนำมาหักภาษีนิติบุคคลสูงสุด 20% ได้เช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการที่ต้องจ่ายด้วย

     เมื่อเจ้าของกิจการได้รับโบนัสแล้ว จะต้องนำโบนัสที่ได้ไปรวมกับรายได้อื่น เพื่อใช้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องจ่าย หากเจ้าของกิจการมีรายได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน หรือโบนัส หากนำรายได้ที่ได้รับมาคำนวณภาษีบุคคลธรรมดาแล้ว ปรากฏว่ามียอดเกินที่ต้องเสียภาษี ทางกิจการจะทำการหักภาษี ณ วันที่จ่ายเงินเอาไว้ตามอัตราก้าวหน้าเพื่อนำส่งสรรพากรด้วย

     3.การกู้ยืมเงิน

     หากในกรณีเจ้าของกิจการ กรรมการ หรือผู้ถือหุ้น มีความประสงค์จะทำการ “กู้ยืมเงิน” กับทางกิจการ เพื่อนำไปใช้จ่ายในระยะเวลาสั้นๆ เงินกู้ยืมนี้จะมีประโยชน์ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เป็นการกู้ยืมเงินในระยะยาวถือว่าไม่เหมาะสม และยังส่งผลกระทบในการคำนวณดอกเบี้ยอีกด้วย 

     และส่วนใหญ่เวลานำเงินของกิจการออกไปใช้ โดยไม่สามารถบอกได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายอะไร เจ้าหน้าที่บัญชีจะลงบัญชีว่า “ให้กรรมการกู้ยืมไป” ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อกิจการอย่างมาก เพราะการที่กิจการให้กรรมการกู้ยืม ถือเป็นการดำเนินธุรกิจลักษณะเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะต้องมีการคิดดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม

     และกิจการต้องนำดอกเบี้ยนี้มาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ยิ่งถ้าหากดอกเบี้ยสูงก็จะทำให้ต้องเสียภาษีสูงขึ้นด้วย แต่ในความเป็นจริงไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้กับกิจการ ทำให้กิจการต้องเสียภาษีในส่วนของดอกเบี้ย ทั้งที่ไม่ได้รับดอกเบี้ยเข้ามาจริง

     4.การจ่ายเงินปันผล

     ในกิจการหากมีเงินจากผลกำไรสามารถนำออกมาจ่ายเป็นเงินปันผลได้ ซึ่งเป็นการนำเงินของกิจการออกมาใช้ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่เจ้าของกิจการ รวมถึงผู้ถือหุ้นต่างๆ ไม่นิยมเลือกใช้วิธีการนี้ เพราะไม่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้ เนื่องจากต้องนำกำไรสะสมหลังจากจ่ายภาษีทั้งหมดมาจ่ายเงินปันผลให้กับเจ้าของกิจการ และจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10% ของเงินปันผลที่จ่ายเพื่อนำส่งกรมสรรพากรด้วย 

     นอกจากนี้ยังสามารถเลือกได้ว่าต้องการนำรายได้เงินปันผลดังกล่าวมารวมเป็นรายได้เพื่อเสีย "ภาษีบุคคลธรรมดา" หรือไม่ ซึ่งจะเลือกไม่นำมารวม โดยใช้สิทธิ final tax (หัก ณ ที่จ่าย 10% แล้ว ไม่ต้องนำทั้งรายได้ และภาษีที่ถูกหักไว้มารวมคำนวณสำหรับภาษีทั้งปีอีก  ทั้งนี้ทั้งนั้นจะนำเงินปันผลและภาษีที่ถูกหักไว้ 10% มารวมเป็นส่วนหนึ่งของรายได้เพื่อยื่นภาษีบุคคลธรรมดาก็สามารถทำได้ และถ้าภาษีที่ชำระไว้เกินก็สามารถขอคืนได้

     5.ค่าเช่า

     ในกรณีที่เจ้าของกิจการนำรถยนต์ บ้าน ที่ดิน ฯลฯ ที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวมาใช้ในกิจการ แบบนี้สามารถทำจ่ายเป็นค่าเช่าให้กับเจ้าของกิจการได้ โดยจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 5%  ซึ่งทางกิจการนำรายจ่ายจากการเช่าไปหักเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อคิดภาษีที่จ่ายตามจริง ยกเว้น "ค่าเช่ารถยนต์" จะมีกำหนดว่าสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือน

ข้อควรจำ : เจ้าของกิจการจำเป็นต้องนำรายได้จากการปล่อยเช่านี้ไปคำนวณเพื่อยื่นภาษีบุคคลธรรมดาด้วย

     6.ค่าบริการ

     กรณีที่กิจการมีที่ปรึกษา หรือผู้ถือหุ้นบางท่านที่ไม่ได้มาทำงานประจำทุกวัน อาจจะเข้ามาเป็นครั้งคราว หรือเดือนละครั้ง หรืออาจเข้ามาประชุมเป็นช่วงๆ เป็นต้น ซึ่งการทำงานแบบนี้ทางกิจการจะสามารถจ่ายเงินโดยคิดเป็นค่าบริการได้ เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าจ้างทำของ ค่านายหน้า โดยการจ่ายเงินค่าบริการในลักษณะนี้จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%  

     โดยกิจการสามารถนำค่าบริการที่จ่ายไป มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงได้ ส่วนเจ้าของกิจการจะต้องนำค่าบริการที่ได้รับ ไปรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าของเองด้วย

     สรุป: 6 วิธี นำเงินกิจการมาใช้ แบบถูกกฎหมาย  

     เพียงแค่ 6 วิธี จะช่วยให้เจ้าของกิจการใช้เงินกิจการได้แบบถูกกฎหมาย ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องศึกษาข้อได้เปรียบเสียเปรียบทางภาษีของกิจการ ให้สอดคล้องกับหลักการทางบัญชีด้วย เพื่อประโยชน์สูงสุดในการประกอบกิจการ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ ที่  Inflow Account