posttoday

เปิดวิธีการเสียภาษีในธุรกิจ SMEs ให้น้อยลง

01 กุมภาพันธ์ 2566

ในทุกๆ ปี มีผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ต้องเสียภาษีไปเป็นจำนวนมาก จะดีกว่าแค่ไหน ถ้าเราสามารถวางแผนการจ่ายภาษีให้น้อยลงได้ แล้วแผนการจ่ายภาษีให้น้อยลงทำได้อย่างไรบ้าง ไปศึกษาจากข้อมูลต่างๆ ที่จะนำเสนอต่อจากนี้ได้เลย

ธุรกิจ SMEs เป็นธุรกิจแบบไหน
     หลายท่านคงทราบดีว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เรียกว่า SMEs ซึ่งเป็นตัวย่อภาษาอังกฤษ ที่คุ้นตามาก ไม่ว่าจะเป็นแบบบุคคลธรรมดา แบบคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด นอกจากนี้ยังเป็นธุรกิจที่มีความคล่องตัว  ต้นทุนในการลงทุนต่ำ มีลูกจ้างจำนวนน้อย มีอิสระในการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีการประกอบกิจการหลัก 3 แบบ คือ
     1.กิจการบริการ เป็นกิจการที่ให้บริการหรือขายบริการเป็นหลัก ไม่ได้จำหน่ายสินค้า เช่น กิจการโรงแรม สำนักงานรับทำบัญชี ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร และกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริการทั้งหมด
     2. กิจการการผลิต เป็นกิจการที่นำวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูป โดยครอบคลุมการผลิตทั้งในภาคเกษตรกรรม กิจการเหมืองแร่ และการผลิตที่นำวัตถุดิบที่มีอยู่เดิมมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
     3.กิจการการค้า เป็นกิจการที่ไม่ได้มีการผลิตสินค้าเอง แต่เป็นการซื้อสินค้าสำเร็จรูปมาเพื่อจำหน่าย จะเน้นในการจำหน่ายเพียงอย่างเดียว หรือที่นิยมเรียกว่ากิจการซื้อมาขายไป ประกอบด้วยกิจการค้าส่งและกิจการค้าปลีก เช่น กิจการขายเครื่องออกกำลังกาย กิจการขายสินค้าสำเร็จรูป

ภาษีที่ธุรกิจ SMEs ต้องเสีย

ในข้อนี้จะกล่าวถึงหน้าที่ในการเสียภาษีของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ว่าต้องมีหน้าที่ในการเสียภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs อย่างไรบ้าง

     1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือภาษีที่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งเป็นภาษีที่จัดอยู่ในประเภทที่ 8 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) โดยให้นำรายได้ตลอดทั้งปีมาคำนวณหักลบด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถเลือกนำมาหักแบบเหมาๆ หรือหักแบบตามจริงก็ได้เช่นกัน ซึ่งการนำมาหักแบบตามจริงจะต้องมีความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องเอกสารต้องให้ครบถ้วน ถ้าเอกสารขาดตกไปจะทำให้เสียผลประโยชน์

     ฉะนั้นจึงต้องมีการจัดเก็บเอกสารโดยละเอียดเป็นอย่างดี และยังมีส่วนหักค่าลดหย่อน พอได้ข้อมูลครบถ้วนจากนั้นนำไปคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราภาษีก้าวหน้าได้เลย

     2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่จดทะเบียนแบบ “นิติบุคคล” นั้น โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิ ซึ่งกิจการ SMEs ที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับยกเว้นภาษี และสามารถหักค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้สูงสุด 2 เท่า 

ลดภาษีในธุรกิจ SMEs ได้อย่างไรบ้าง 

1.ข้อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

     “นิติบุคคล” ที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ต่อเนื่องกันตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังปี 2555 เป็นต้นมา ได้รับยกเว้นภาษีหากกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท 

2.มีข้อได้เปรียบทางภาษีหากจ้างงานในกลุ่มผู้สูงอายุ 

     หากเจ้าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีการว่าจ้างกลุ่มผู้สูงอายุเข้าทำงาน ซึ่งลูกจ้างกลุ่มผู้สูงอายุต้องมีอายุตั้งแต่  60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปเท่านั้น ถึงจะรับสิทธินี้ได้ และสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 2 เท่าของอัตราค่าจ้าง ยกตัวอย่างเช่น มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างงานผู้สูงอายุเข้าทำงาน ตกลงจ่ายค่าจ้าง 15,000 บาท (ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท) จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้

     - ถ้าผู้สูงอายุทำงานหลายแห่ง ให้บริษัทที่รับทำงานก่อนได้รับสิทธิ 
     - ค่าจ้างผู้สูงอายุเฉพาะรายที่จ่ายไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท 
     - ผู้สูงอายุที่จ้าง ต้องมีจำนวนไม่เกิน 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
     - ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จ้าง หรือบริษัทในเครือ 
     - เมื่อนำค่าจ้างผู้สูงอายุทั้งหมดมารวมกัน ต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 10 ของรายจ่ายค่าจ้างทั้งหมดของกิจการนั้นๆ
     - ต้องเป็นผู้สูงอายุที่เป็นลูกจ้างของบริษัทอยู่ก่อนแล้ว หรือขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน

3.มีทรัพย์สินสามารถนำมาหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้ 

     ทรัพย์สินต่างๆ ที่มีภายในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และเป็นสินทรัพย์ถาวร (อาคารและอุปกรณ์) ไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน สามารถนำมาหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้ดังนี้
     - สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ได้ร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุนในวันที่ได้มา ส่วนที่เหลือทยอยหักภายใน 3 รอบ ระยะเวลาบัญชี (ร้อยละ 33.33 ต่อปี) (โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นลิขสิทธิ์ กรณีไม่จำกัดอายุการใช้ จำนวนปีที่หักค่าสึกหรอต้องไม่น้อยกว่า 10 รอบระยะเวลาบัญชี)
     - สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทอาคารโรงงานได้ร้อยละ 25 ของมูลค่าต้นทุนในวันที่ได้มา ส่วนที่เหลือทยอยหักภายใน 20 รอบระยะเวลาบัญชี (ร้อยละ 5 ต่อปี)
     - สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทเครื่องจักและอุปกรณ์ของเครื่องจักรได้ร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุนในวันที่ได้มา ส่วนที่เหลือทยอยหักภายใน 5 รอบระยะเวลาบัญชี (ร้อยละ 20 ต่อปี)

     4.การวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม สามารถทำการหักรายจ่ายได้ 2 เท่า

      บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ 2 เท่า โดยมีเงื่อนไขคือ
     - เป็นรายจ่ายที่จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับการประกาศกำหนด
     - บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องการใช้สิทธิ์ ต้องยื่นโครงการฯ ต่อ สวทช. เพื่อตรวจสอบและรับรอง

5.สามารถทำการหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า ในส่วนของการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน   

     บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ 2 เท่า โดยมีเงื่อนไขดังนี้
     5.1 กรณีฝึกอบรมให้ลูกจ้างของตนเอง
          - เป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้าง ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงาน และค่าใช้จ่ายเป็นไปตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน
          - ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการ
          - ต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างเพื่อเป็นหลักฐานการทำงาน
          - กำหนดเงื่อนไขให้กลับเข้าทำงาน
          - อุปกรณ์ที่จะใช้ในการฝึกอบรม ต้องกำหนดลักษณะ ขนาด และคุณสมบัติเพื่อไม่ให้ปะปนกับที่ใช้ในการประกอบกิจการตามปกติของบริษัท
     5.2 กรณีส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษา หรือฝึกอบรม
          - ค่าใช้จ่ายการศึกษา เช่น ค่าเล่าเรียน หรือค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม เช่น ค่าลงทะเบียน รวมถึงค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ที่สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมเรียกเก็บจากบริษัท
          - มีใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรม
          - กำหนดเงื่อนไขให้กลับเข้าทำงานหลังศึกษา/ฝึกอบรมเสร็จ
          - จัดทำรายงานค่าใช้จ่ายดังกล่าว

เพิ่มความรู้ช่วยลดภาระภาษี SMEs ได้อย่างยั่งยืน
     ทั้งหมดทั้งมวลที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงแนวทางเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในการนำไปลดหย่อนภาษีในธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจขนาดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพียงนำไปปรุงแต่งให้ตรงกับธุรกิจของตนเองเท่านั้น   


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Account