posttoday

"ประศาสน์ ตั้งมติธรรม" ตั้งคำถาม จุดแข็ง Virtual Bank อยู่ที่ไหน

26 มกราคม 2566

ชี้ธนาคารขนาดใหญ่ปัจจุบันมีเงินทุนมากมาย เพียงพอที่จะจัดหาระบบและบุคลากรในเรื่อง electronic และ internet banking ได้อย่างเหลือเฟือ เมื่อเป็นเช่นนี้ จุดแข็งของธนาคารแห่งใหม่จะอยู่ที่ใด

Virtual Bank นัยว่าเป็นธนาคารที่เป็น electronic banking, internet banking หรือ mobile banking เหมือนกับที่ผู้บริโภคคุ้นเคยอยู่ในปัจจุบันและดำเนินงานโดยธนาคารที่มีสาขากายภาพต่างๆในปัจจุบัน

 

แต่ว่าทางการต้องการให้ผู้ลงทุนมีจุดแข็งในเรื่องความรู้ ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคโดยเฉพาะในระบบข้างต้นเข้ามาเพื่อทำการแข่งขันกับระบบของธนาคารที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เพื่อให้การบริการของระบบธนาคารมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

 

สิ่งที่เน้นย้ำในเรื่อง Virtual Bank คือจะไม่มีสาขาทางกายภาพ จะมีเฉพาะระบบอิเล็กทรอนิกส์และ/หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่จะใช้ในการให้บริการเท่านั้น

 

เมื่อกล่าวถึงระบบธนาคารแล้ว ไทยมีธนาคารทั้งหมด 14 แห่งตามข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย โดยแบ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ 6 แห่ง และกลาง/เล็กอีก 8 แห่ง ปัจจุบันธนาคารขนาดใหญ่มักเป็นผู้กำหนดนโยบายราคา/อัตราดอกเบี้ยไปในทางเดียวกัน จะแตกต่างกันเล็กน้อยตามความแตกต่างเล็กน้อยของลักษณะสินค้า

 

ส่วนธนาคารขนาดเล็กจำเป็นต้องยอมรับนโยบายราคาของธนาคารขนาดใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากธนาคารขนาดใหญ่มีความได้เปรียบในเรื่องจำนวนสาขาที่จะทำให้มีความสามารถในการระดมเงินทุนโดยมีต้นทุนทางการเงินที่ใกล้เคียงกัน  ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าระบบธนาคารไทยเป็น Monopolistic Competition ที่มีธนาคารขนาดใหญ่เป็นผู้กำหนดราคา

 

การที่จะมีธนาคารแห่งใหม่เข้ามาสร้างการแข่งขันกับกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เดิม 6 แห่ง จึงหมายความว่าธนาคารแห่งใหม่จะต้องมีขนาดสินทรัพย์และความเข้มแข็งทางการเงินที่จะแข่งขันเอาชนะธนาคารขนาดใหญ่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งให้ได้  นอกจากนี้ระบบธนาคารไทยในปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการที่มีอำนาจควบคุมตลาดอยู่ที่ความสามารถในการระดมเงินทุน/เงินออมด้วยระบบสาขาที่มีความสามารถเพียงพอ

 

แต่ว่าธนาคารแห่งใหม่ที่จะตั้งนั้นจะไม่มีสาขา แล้วจะมีแหล่งเงินทุนในการปล่อยเงินให้กู้ยืมจากไหน  การระดมเงินทุนโดยไม่มีสาขาไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้แต่ว่าใช้เวลา แล้วจะแข่งขันกับระบบธนาคารเดิมได้อย่างไร  การแข่งขันด้วยวิธีการนำเสนอบริการหลากหลายเพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกสบายของธนาคารปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ธนาคารแห่งใหม่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาให้ได้ทัดเทียมกัน

 

อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีแนวคิดว่าจะให้ธนาคารแห่งใหม่พึ่งพาระบบธนาคารในช่วงแรกไปก่อน อันนี้ยิ่งไม่ต้องพูดเลยว่าธนาคารใหม่จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไรในเมื่อต้องพึ่งพาผู้อื่น  อาจจะเป็นความจริงที่ต้นทุนด้านพนักงานและอาคารสถานที่ของธนาคารในปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 20 ของรายได้สุทธิ ซึ่งเป็นส่วนที่ธนาคารแห่งใหม่เกือบไม่มี แต่ต้นทุนที่สูงกว่าของแหล่งเงินทุนก็ถูกหักล้างไปพอสมควร

 

การหวังให้ธนาคารแห่งใหม่ที่มีผู้ลงทุนที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทาง electronic และ internet banking โดยเฉพาะเพื่อเป็นจุดแข็งในการแข่งขันกับระบบธนาคารเดิมเป็นความคิดที่ดี เพียงแต่ลืมนึกถึงว่าธนาคารขนาดใหญ่ในปัจจุบันมีเงินทุนมากมายเพียงพอที่จะจัดหาระบบและบุคลากรในเรื่อง electronic และ internet banking ได้อย่างเหลือเฟือ

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จุดแข็งของธนาคารแห่งใหม่จะอยู่ที่ใด
 

 

วัตถุประสงค์อีกด้านหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทยก็คือ หวังว่าธนาคารแห่งใหม่จะช่วยเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็ก อันจะนำมาซึ่งการแข่งขันให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง/เล็กมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

 

แต่ว่าธนาคารแห่งใหม่ที่มีคุณสมบัติเข้าถึงธุรกิจขนาดกลางและเล็กจะมาจากธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 2 ประเภทใหญ่ ๆ เท่านั้น  ผู้ลงทุนที่มาจากธุรกิจน้ำมันจะทำได้ยากสักหน่อย  ผู้ลงทุนที่มาจาก non-bank มีจุดแข็งที่เงินให้กู้ยืมแต่ไม่มีจุดแข็งด้านแหล่งเงินทุน

 

ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ปัจจุบันมีธุรกิจขนาดกลาง/เล็กจำนวนมากมายที่เป็นซัพพลายเออร์ในมืออยู่แล้วและมีข้อมูลอย่างละเอียดถึงสถานะของซัพพลายเออร์แต่ละรายอยู่แล้ว ด้านเงินให้กู้ยืมจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับธนาคารแห่งใหม่ที่มีพื้นฐานจากธุรกิจค้าปลีก ปัญหาที่เหลือคือแหล่งเงินทุนเท่านั้น แนวทางที่เป็นไปได้สำหรับธนาคารแห่งใหม่ก็คือการระดมเงินทุนเท่าที่เป็นไปได้และจัดหาส่วนที่ขาดจากการขายพันธบัตรแล้วจึงค่อยๆปรับปรุงการระดมเงินทุนให้ดีขึ้นในภายหลัง

 

การระดมเงินทุนของธนาคารแห่งใหม่ที่มีพื้นฐานจากธุรกิจค้าปลีกอาจทำได้โดยการสร้างระบบสมาชิกสำหรับการชำระเงินทั้งในธุรกิจค้าปลีกของตนเองและธุรกิจอื่น ๆ ด้วย  เมื่อมองย้อนไปว่าในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา มีบุคคลสำคัญเกี่ยวข้องกับระบบชำระเงินขนาดใหญ่ในจีนมาท่องเที่ยวประเทศไทยโดยเป็นแขกคนสำคัญของธุรกิจค้าปลีกแห่งหนึ่งก็ไม่ต้องสงสัยเลยใช่ไหมกับแนวความคิดอย่างนี้  เมื่ออนุมานโดยรวมแล้ว กลุ่มที่จะลงทุนธนาคารแห่งใหม่ในลักษณะนี้คงจะมีทางเป็นไปได้ในการแข่งขันกับธนาคารระบบเดิม

 

ในประเทศจีนธุรกิจระบบชำระเงินเริ่มต้นโดยไม่เป็นธนาคาร ลูกค้าที่ใช้ระบบชำระเงินต้องนำเงินมาฝากเพื่อไว้ตัดบัญชีสำหรับการชำระเงินเวลาจับจ่ายใช้สอย  ระบบดังกล่าววิวัฒนาการเพิ่มเติมโดยให้การให้เงินกู้ยืมแด่ลูกค้า  กล่าวโดยง่ายคือขยายตัวจาก non-bank เป็น Bank ด้วยวิธีผิดกฏหมายและนำมาซึ่งการแบนธุรกิจนี้โดยทางการจีน  ระบบที่วิวัฒนาการไปอย่างนี้มีข้อเสียคือ การดำเนินธุรกิจธนาคารทั้งสองขาคือรับฝากเงินและให้กู้ยืมโดยที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบควบคุมความเสี่ยงจากเจ้าหน้าที่ทางการ ลักษณะเช่นนี้อาจนำไปสู่การขยายธุรกิจเกินตัวจนนำไปสู่การล่มสลายของธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงทางการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้

 

นี่คือ แนวคิดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะวางแผนล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสียงเช่นนี้

 

ระบบค้าปลีกขนาดใหญ่ที่จะดำเนินงานธนาคารแห่งใหม่ในลักษณะนี้ จะได้รับผลประโยชน์มหาศาลในการอำนวยให้ซัพพลายเออร์และผู้บริโภคได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

 

การให้ใบอนุญาตแก่ธุรกิจอย่างนี้จึงเปรียบเสมือนการเอาเงินจำนวนมหาศาลใส่พานให้ธุรกิจนั้น  ในเมื่อธุรกิจที่ทำธนาคารแห่งใหม่ได้ผลประโยชน์ ธุรกิจนั้นก็ควรจะตอบแทนรัฐโดยการให้ผลประโยชน์แก่รัฐในรูปแบบค่าใบอนุญาตหรือยอมให้รัฐบาลมีหุ้นในราคาพิเศษ แล้วแต่ว่าเมื่อทั้งสองฝ่ายไปคิดในรายละเอียดแล้ว แนวทางไหนจะดีที่สุด

 

การเรียกค่าใบอนุญาตทำให้ธนาคารแห่งใหม่แข่งขันกับธนาคารเดิมได้ยากขึ้น แต่การให้เงินทุนแก่ธนาคารแห่งใหม่ก็เปรียบเสมือนการให้เงินทุนแก่ธุรกิจไปเริ่มต้นได้โดยง่ายดาย เรื่องผลประโยชน์ที่จะเสนอแก่รัฐจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ธนาคารแห่งใหม่จะต้องเสนอต่อทางการ

 

ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะระลึกว่า ธนาคารขนาดใหญ่ต่าง ๆ โดยรวมมีอำนาจควบคุมราคาโดยที่ธนาคารขนาดกลาง/เล็กไม่อาจท้าทายได้ด้วยต้นทุนที่สูง  การหวังให้ธนาคารแห่งใหม่เข้ามาแข่งขันด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะเพียงอย่างเดียวจึงเป็นไปไม่ได้  ธนาคารแห่งใหม่จะต้องมีขนาดใหญ่พออย่างน้อยก็ระดับเล็กสุดของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่

 

ถ้าหากว่ากลุ่มผู้ลงทุนมีคุณสมบัติตามที่อภิปรายในที่นี้ ธนาคารแห่งใหม่ก็ควรจะมีมากกว่าหนึ่งแห่งเพื่อเป็นหลักประกันว่าธนาคารแห่งใหม่จะไม่หลงเข้าไปอยู่ในกลุ่มธนาคารเดิม กล่าวคือธนาคารแห่งใหม่ควรจะมีศักยภาพของกลุ่มลูกค้าที่จะใช้เงินกู้ยืมและเป็นแหล่งเงินทุนของธนาคาร

 

โดย : ประศาสน์  ตั้งมติธรรม กรรมการบริษัท, กรรมการกํากับดูแลกิจการ บริษัท ศุภาลัย จํากัด (มหาชน)