posttoday

นำรถมาใช้ในกิจการ ต้องจัดการภาษีอย่างไร

04 มกราคม 2566

การทำธุรกิจไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็ต้องมีพาหนะไว้ใช้โดยพาหนะที่นำมาใช้ในกิจการอาจมาในรูปแบบการซื้อในนามบริษัท ซื้อในนามบุคคล การเช่า ซึ่งมีผลทางภาษีทั้งสิ้น ในบางกรณีจะต้องมีการเสียภาษี และบางกรณีก็สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ใช้ประโยชน์ทางภาษีได้

     ธรรมชาติของการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็ต้องมีพาหนะไว้ใช้ในสำนักงาน อาจเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า ส่งพนักงาน ไว้ใช้เดินทางเพื่อติดต่องานที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ทำให้แต่ละบริษัทต้องมีรถไว้ใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  
     โดยพาหนะที่นำมาใช้ในกิจการ อาจมาในรูปแบบการซื้อในนามบริษัท ซื้อในนามบุคคล การเช่า ซึ่งมีผลทางภาษีทั้งสิ้น ในบางกรณีจะต้องมีการเสียภาษี และบางกรณีก็สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ ซึ่งสามารถแยกประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้ 

ซื้อรถในนามบริษัท
     วิธีการซื้อรถมาใช้ในกิจการ ควรซื้อรถยนต์ในนามบริษัท จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ โดยพิจารณาก่อนว่าเป็นรถประเภทไหน เข้าข่ายอยู่ในรถยนต์ที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือมากกว่า 10 คน เป็นรถยนต์นั่ง รถกระบะ หรือรถยนต์โดยสาร เป็นต้น แล้วจึงนำไปจำแนกการนำไปใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ดังนี้

     - ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากกิจการซื้อรถยนต์ที่นั่งเกิน 10 คน หรือรถกระบะที่เข้าเกณฑ์ จะสามารถนำภาษีซื้อมาหักภาษีขายได้ แต่ถ้าไม่เข้าตามเกณฑ์ ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อรถ หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซม ค่าน้ำมันรถ ค่าอะไหล่ ค่ายางรถยนต์ จะถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ 

     - ค่าใช้จ่าย หลังจากซื้อรถในนามบริษัท สามารถนำค่าใช้จ่ายและต้นทุนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อรถยนต์นั่งทั่วไปไม่เกิน 1 ล้านบาท มาเป็นรายจ่ายหรือต้นทุนของสินทรัพย์ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้   

     - ค่าเสื่อมราคา ตามกฎหมายสามารถหักค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น โดยหักค่าเสื่อมราคาต่อปีสูงสุดได้ปีละ 200,000 บาท โดยจะต้องแบ่งหักเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 5 ปี
     ทั้งนี้ รถที่ซื้อเป็นเงินสดราคาเกิน 1 ล้านบาท ในส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท จะต้องนำมาบวกกลับในการคำนวณภาษีนิติบุคคลประจำปีของกิจการ เนื่องจากไม่สามารถบันทึกค่าใช้จ่ายส่วนเกินได้

ซื้อรถในนามบุคคล แต่นำมาใช้ในกิจการ
     ตามกฎหมายหากซื้อรถในนามบุคคล ซึ่งอาจเป็นรถที่เจ้าของกิจการซื้อในนามชื่อตัวเอง รถของกรรมการ รถของพนักงานก็ตาม จะไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายของกิจการได้ แม้ว่าจะนำมาใช้ในกิจการจริง นอกเสียจากว่ากิจการจะทำเป็นสัญญาเช่า ซึ่งจะมีภาษีที่เกี่ยวข้องกับกิจการผู้เช่า และผู้ที่ให้เช่ารถส่วนตัวดังนี้         
1.ภาษีที่เกี่ยวข้องกับกิจการผู้เช่ารถส่วนตัว
นิติบุคคลที่ได้ทำการเช่ารถยนต์ส่วนตัว เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของกิจการ จะถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ ซึ่งมีเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยคือ

     1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทผู้เช่ารถยนต์สามารถนำค่าเช่า มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของกิจการ เพื่อเสียภาษีนิติบุคคลได้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
          - ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่นั่งไม่เกิน 10 คน สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินคันละ 36,000 บาท/เดือน  

          - ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์เชิงพาณิชย์ เช่น การขนส่งสินค้า การขนส่งวัสดุ วัตถุดิบ และอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิต จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เป็นรถยนต์ที่ใช้เพื่อการเช่า หรือใช้เพื่องานรับจ้าง ทั้งรับจ้างรับส่งผู้โดยสาร และรับจ้างอื่นๆ สามารถนำค่าเช่ารถยนต์นี้มาหักเป็นรายจ่ายได้ไม่จำกัดจำนวน
     1.2 ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ถ้าหากผู้ให้เช่าส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้กับบริษัทนิติบุคคล จะถือว่ากิจการได้เช่ารถยนต์ส่วนตัวแล้ว จากนั้นกิจการจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ทันทีที่จ่ายเงินค่าเช่ารถยนต์ พร้อมออกเอกสารใบหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้กับผู้ให้เช่าทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป โดยยื่นแบบ ภ.ง.ด.3 สำหรับผู้รับเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา  
     1.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม  รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน จะถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แต่ภาษีซื้อที่เกิดจากการเช่ารถยนต์นี้ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิได้    
ส่วนค่าใช้จ่ายเครดิตภาษีซื้อ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุงดูแลรถ ค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ค่าเบี้ยประกันภัยรถ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษี ได้เฉพาะกับรถกระบะเชิงพาณิชย์ จักรยานยนต์ หรือรถยนต์ที่นั่งเกิน 10 คนเท่านั้น  ซึ่งต้องได้ทำสัญญาเช่าใช้หรือยินยอมให้ใช้ และบันทึกเลขทะเบียนรถในใบกำกับภาษีด้วย
2.ภาษีที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้เช่ารถ 
กรณีที่เจ้าของผู้ให้เช่ารถส่วนตัวเพื่อใช้ในกิจการ มีการทำสัญญาเช่า จะต้องเสียภาษี 2 ส่วนคือ
     2.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะถือเป็นรายได้มาตรา 40(5) ประเภทค่าเช่า โดยยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 ช่วง ด้วยกันคือ
     - ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ภายในกำหนดเวลาการยื่นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีภาษี
     - ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ภายในกำหนดเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของปีภาษีถัดไป
     2.2 อากรแสตมป์ เมื่อมีการทำสัญญาเช่ารถยนต์ ผู้ให้เช่าต้องเป็นผู้เสียค่าอากรแสตมป์ในอัตราร้อยละ 0.1 ของค่าเช่า  

เช่ารถได้รับประโยชน์มากกว่าซื้อ? 
     จะเห็นได้ว่าการนำรถมาใช้ในกิจการมีทั้งแบบที่ซื้อในนามบริษัทและเช่า ซึ่งหากมองแบบภาพรวมแล้ว หากกิจการเลือกเช่ารถจะได้รับประโยชน์มากกว่าการซื้อรถเพื่อใช้สำหรับกิจการโดยตรง 
     เนื่องจากตัดปัญหาในเรื่องของการจัดการต่างๆ ได้ เช่น ไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการประกันภัย ไม่ต้องเสียค่าซ่อมบำรุงหรือตรวจเช็กสภาพรถยนต์ และไม่ต้องเสียเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อรถยนต์ แต่ก็ต้องจัดการเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนถูกต้องด้วย 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ ที่นี่