posttoday

ค่าเงินบาท ติดตามประกาศตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ

06 มิถุนายน 2565

ค่าเงินบาท ติดตามประกาศตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.00-34.70 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือการประชุมธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยตลาดคาดการณ์ว่า ธปท. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น เราประเมินว่า ธปท. จะเปลี่ยนท่าทีในการดำเนินนโยบายจากแนวโน้มการคงดอกเบี้ย ไปสู่แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินสายกลาง เพื่อเตรียมการขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

ด้านสหรัฐฯ ตลาดเฝ้ารอการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมที่คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่สมาชิกเฟดยังคงยืนยันสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกว่าจะแน่ใจว่าเงินเฟ้อชะลอลงสู่ระดับที่น่าพอใจ ทั้งนี้ เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในอนาคต รวมถึงจะเป็นการยืนยันว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านจุดพีคในเดือนมีนาคมแล้ว

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 30 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2022 เงินบาทผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยในเดือนเมษายนขาดดุล 3,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 เนื่องจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลง จากการส่งออกทองคำที่ปรับลดลงเป็นหลัก ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวสูงตามราคาน้ำมัน ด้านรัฐบาลไทยเสนองบประมาณขาดดุล 695,000 ล้านบาทสำหรับปีงบประมาณ 2023 โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.7% ทางด้าน สบน.ปรับแผนเพิ่มการออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ 2023 เพิ่มขึ้นเป็น 1.6 แสนล้าน จาก 1.5 แสนล้าน และได้ปรับแผนการกู้เงินจากดอกเบี้ยลอยตัวเป็นคงที่มากขึ้นจากทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นช่วงขาขึ้น นอกจากนี้ ตัวเลขภาคการผลิตเดือนเมษายนขยายตัวสูงขึ้น จากคาดการณ์การผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้คำสัญญาจะให้นับถือความเป็นอิสระของเฟดและจะไม่เข้าไปแทรกแซง อย่างไรก็ดี ได้กล่าวว่าเงินเฟ้อที่สูงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ด้านสมาชิกเฟดยังคงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงถดถอย โดยคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50 bps จนกว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงใกล้เป้าที่ 2% ด้านเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดเซนต์หลุยส์ กล่าวว่าเฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 3.5% ก่อนอัตราดอกเบี้ยอาจปรับลดลงได้ในช่วงปลายปี 2023 หรือ 2024 ในขณะที่แมรี่ ดาลี่ ประธานเฟดซานฟรานซิสโก สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในอีกสองการประชุมข้างหน้า รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนั้น จนกว่าเงินเฟ้อจะชะลอลงมาเป็นที่พอใจ ด้านโทมัส บาร์กิ้น ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ ระบุว่ายังไม่เห็นแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทางด้านเศรษฐกิจสหรัฐ ดัชนีการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐขยายตัว 0.2%MoM หรือ 6.3%YoY ในเดือนเมษายน เป็นการเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่น้อยที่สุดในรอบปีครึ่ง รายงานเศรษฐกิจโดยเฟดระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงในบางพื้นที่ จากผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้การใช้จ่ายผู้บริโภคชะลอลง ในขณะที่ภาคธุรกิจเผชิญความท้าทายจากอุปทานขาดแคลนตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัว อย่างไรก็ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นดีกว่า ส่งสัญญาณว่าภาคธุรกิจยังคงอยู่ในฝั่งขยายตัว

เงินเฟ้อยุโรปเดือนพฤษภาคมพุ่งสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ที่ 8.1%YoY โดยหลักยังคงมาจากราคาพลังงาน กดดันให้สมาชิกอีซีบีส่งสัญญาณสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยปีเตอร์ คาซิเมียร์ และโรเบิร์ต ฮอลซ์แมน เปิดรับถึงการขึ้น 50bps หลังเงินเฟ้อยุโรปพุ่งทำจุดสูงสุดใหม่ โดยคาซิเมียร์มองว่าอีซีบีจะขึ้นดอกเบี้ย 25 bps ในเดือนกรกฎาคม และอาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในเดือนกันยายน ด้านอิคนาซิโอ วิสโก สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่พาโบล เฮอนันเดส มองว่าจุดสมดุลของอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 1% และการขึ้นดอกเบี้ยควรจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ตลาดเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างไม่ทันตั้งตัว การเข้าซื้อสินทรัพย์จะเสร็จสิ้นในต้นไตรมาสสามและการขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นไม่นานหลังจากนั้น นอกจากนี้ โยอาคิม นาเจลได้กล่าวว่า อีซีบีจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม และจะมีเพิ่มอีกหลังจากนั้น

ผู้นำยุโรปเริ่มการเจรจาตกลงการแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย โดยจะห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียที่ขนส่งทางเรือ แต่จะให้ข้อยกเว้นกับประเทศฮังการี โดยในแพลนใหม่ยุโรปจะเริ่มยุติการการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในหกถึงแปดเดือน ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียพร้อมผลิตน้ำมันเพิ่ม เพื่อชดเชยอุปทานจากรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียเผชิญการถูกแบน พร้อมกันนี้ โอเปกกำลังพิจารณาอาจจะตัดรัสเซียออกจากโควต้าการผลิตของโอเปก พร้อมปรับคาดการณ์อุปทานน้ำมันส่วนเกินลดลงเหลือเพียง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

จีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ทำให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของภาคการผลิตจีนปรับเพิ่มขึ้น ด้านรัฐบาลประกาศมาตรการช่วยเหลือขนาดใหญ่ และเฉพาะเจาะจงช่วงภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าเงินเอเชียถูกกดดันจากดอลลาร์สหรัฐที่กลับมาแข็งค่าในระยะนี้

เงินบาทปิดตลาดที่ 34.35 ในวันพฤหัสที่ 2 มิถุนายน 2022 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี เริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นภายหลังจากที่ลงไปทดสอบแนวต้านบริเวณเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วันแถว 2.70% แต่ไม่สามารถผ่านไปได้ ประกอบกับตัวเลขที่ประกาศออกมาระหว่างสัปดาห์อย่างตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 56.1 จาก 55.4 ในเดือนก่อนหน้า และดีกว่าคาดการณ์ที่ 54.5 ส่งสัญญาณว่าภาคธุรกิจยังคงอยู่ในฝั่งขยายตัว ขณะที่มุมมองจากสมาชิกเฟดอย่างคุณบุลลาร์ดยังคงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 3.5% ในปีนี้ ในขณะที่คุณแมรี่ ดาลี่ สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในอีกสองการประชุมข้างหน้า และขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนั้นจนกว่าเงินเฟ้อจะชะลอลงมาอยู่ในระดับที่พอใจ รวมถึงผู้ว่าเฟด คุณคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ก็สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50bps จนกว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงใกล้ 2% ส่งผลให้ในช่วงท้ายสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปีปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่แถวบริเวณ 2.92% ขณะที่ตัวเลข Fed Fund Future ได้คาดการณ์ดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2022 อยู่แถวบริเวณ 2.80% หรือพูดง่ายๆ ว่านักลงทุนคาดหวังว่าเฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก 2% ในช่วงที่เหลือของปี 2022 นั้นเอง

ค่าเงินบาท ติดตามประกาศตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นในลักษณะที่ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันสูงขึ้น อย่างไรก็ตามดูเหมือนแรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศจะเริ่มกลับมาบ้าง โดยผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาล LB31DA ตัว Benchmark รุ่นอายุ 10ปี วงเงินประมูล 20,000 ล้านบาท ออกมาค่อนข้างดี สะท้อนผ่านช่วงผลการประมูลที่แคบที่ 2.87% - 2.88% เฉลี่ย 2.87% และ Bid coverage ratio สูงถึง 3.03 เท่า นับว่าเป็นผลที่ค่อนข้างดีหากเทียบกับในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 3,938 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 2,714 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,276 ล้านบาทและมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 4,500 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 02 มิถุนายน 2565 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.66% 1.59% 1.92% 2.39% 2.67% และ 2.98% ตามลำดับ