posttoday

ชัยชนะของอาจารย์ชัชชาติ

28 พฤษภาคม 2565

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*************

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ชัยชนะอย่างถล่มทลาย ได้คะแนนจากผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งถึง 51.85% เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดของบรรดา “เซียน” การเมืองทั้งหลาย ว่าจะชนะขาดขนาดนั้น และยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าคะแนนจะเกินล้าน เพราะผู้สมัครแข่งขันครั้งนี้มีประเภท “กระดูกแข็งๆ” หลายคน ทั้ง ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากประชาธิปัตย์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. ที่เพิ่งลาออกมาลงสมัครซึ่งเชื่อว่าจะได้รับแรงหนุนมากมายจากพรรคพลังประชารัฐ แม้จะประกาศตัวว่า สมัครในนามอิสระ และยังคาดว่าจะได้คะแนนเสียงจากตำรวจหลังจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตัดสินใจไม่ลงสมัคร ทั้งๆ ที่ “ออกตัว” และขึ้นป้ายขนาดใหญ่ ณ ที่ทำการแล้ว

นอกจากนั้น ยังมีคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร “ดาวสภา” จากพรรคก้าวไกล ที่มีลีลา “โดนใจ” ทั้งคนรุ่นใหม่และฐานเสียงพรรคก้าวไกล และยังมีคุณสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่า กทม. จากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งมีแรงหนุนจากกลุ่ม กปปส. ที่เคยนำพาคนกรุงเทพฯ ออกมาขับไล่รัฐบาลถึงราว 5 ล้านคน รวมทั้งแรงหนุนจากพรรคพลังประชารัฐด้วย นอกจากนั้นยังมีคุณรสนา โตสิตระกูล ที่เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของ กทม. ด้วยคะแนนสูงลิ่วถึง 743,397 คะแนน

การมีคู่แข่งหลายคนที่มีคุณสมบัติสูงและมีฐานเสียง “แน่นหนา” ระดับหนึ่ง คะแนนน่าจะแบ่งกระจายกันไป ผู้ชนะจึงมีความเป็นไปได้สูงที่คะแนนยากจะแตะถึงหลักล้าน แต่แล้วอาจารย์ชัชชาติกลับได้คะแนนสูงถึง 1,386,215 คะแนน ทำลายสถิติการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ที่ผู้ว่า กทม. ที่ได้คะแนนเกินล้านมีมาแล้ว 2 คน ได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช ชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 ได้ 1,016,096 คะแนน และ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ชนะเลือกตั้งเมื่อ 3 มีนาคม 2556 ได้ 1,256,349 คะแนน

การที่อาจารย์ชัชชาติได้ชัยชนะอย่างถล่มทลาย และได้คะแนนทำลายสถิติผู้ว่า กทม. ในอดีตทุกคนเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่สมควรจะวิเคราะห์ว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้

ประการแรก คือ คุณสมบัติส่วนตัวของอาจารย์ชัชชาติ ที่ “โดนใจ” ประชาชนได้มาก โดยอาจารย์ชัชชาติมีคุณสมบัติส่วนตัวที่โดดเด่นหลายเรื่อง เรื่องแรก การเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง จบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองและได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อปริญญาโทจาก เอ็มไอที ( MIT : Massachusetts Institute of Technology) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐ

มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐ ซึ่งโดดเด่นด้านวิศวะ โยธา อาจารย์ชัชชาติก็สร้างเกียรติประวัติจนมีชื่ออยู่ในหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ของมหาวิทยาลัย เกียรติประวัติเช่นนี้ ย่อมได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจากคนทั่วไปว่าจะมีสติปัญญาความรู้ความสามารถเข้ามาแก้ปัญหาที่ยากยิ่งของ กทม. ได้ การได้เรียนจบจากจุฬาฯ ก็ย่อมได้คะแนนไม่น้อยจากบรรดา “น้องพี่สีชมพู” ที่มีอยู่จำนวนไม่น้อยใน กทม. ด้วย

เรื่องที่สอง ทุนพระราชทานอานันทมหิดลนั้น ไม่มีข้อผูกพันให้ต้องกลับมา “ชดใช้ทุน” อย่างทุนของ กพ. เมื่อเรียนจบอาจารย์ชัชชาติสมัครเข้าทำงานเอกชนเพื่อหาประสบการณ์ในสหรัฐ เป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะทิ้งเงินเดือนสูงลิ่วกลับมาสมัครเข้าเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ จึงมีประสบการณ์จากทั้งภาคเอกชนในสหรัฐ และภาครัฐในไทย เพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือได้อีกส่วนหนึ่ง การได้เข้าไปเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ทำให้ได้เพื่อนและลูกศิษย์ที่รักและศรัทธา เป็นคะแนนนิยมอีกส่วนหนึ่งโดยคู่แฝดของอาจารย์ชัชชาติ คือ อาจารย์นายแพทย์ฉันชาย ก็เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทพอสมควรในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยมีดีกรีเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ที่จุฬาฯ ด้วย ชื่อชัชชาติ ฉันชาย ก็เป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงเป็นคุณสมบัติที่เสริมให้ได้รับความเชื่อถือและคะแนนนิยมอีกส่วนหนึ่ง

เรื่องที่สาม ก่อนจะเข้าสู่วงการเมือง ก็มีพื้นฐานเป็นนักวิชาการที่ทำงานกับรัฐมนตรี 2 ท่าน และเมื่อเข้าสู่วงการเมือง ก็ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจนได้รับการเชื้อเชิญเป็นรัฐมนตรีช่วยก่อนจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้เสนอโครงการรถไฟความเร็วสูง งบประมาณ 2.2 แสนล้าน แต่ถูก “ล้ม” ไปโดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ขัดรัฐธรรมนูญ” ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยเห็นต่าง แต่ก็จำใจต้อง “ยอมรับ” และผล คือ แทนที่ประเทศไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงใช้แล้วในเวลานี้ รัฐบาลต่อมาเอามาทำใหม่ แต่สร้างเป็นท่อนๆ ยังใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ โดยราคาแพงกว่าเดิมมากมาย เรื่องนี้จึงเป็น “ภาพจำ” ในทางลบของรัฐบาล คสช. และ “ทายาทอสูร” ที่สืบทอดอำนาจต่อมา แต่เป็นภาพจำในทางบวกต่ออาจารย์ชัชชาติ เสียดายโครงการของอาจารย์ชัชชาติ อยากให้อาจารย์ชัชชาติมีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถ เมื่ออาจารย์ชัชชาติมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. จึงมีคนจำนวนมากมายเทคะแนนให้

เรื่องที่สี่ อาจารย์ชัชชาติ เป็นลูกของ พล.ต.อ. เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลนายตำรวจ “น้ำดี” คนหนึ่ง แม่ก็นามสกุล “กุลละวณิชย์” นามสกุลเดียวกับพลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ ผู้มีฉายา “บิ๊กเสือ” นายทหารที่มีเกียรติประวัติดีในกองทัพและเลื่องชื่อในความจงรักภักดีจนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี อาจารย์ชัชชาติจึงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตำรวจและโยงใยกับทหาร จึงน่าจะได้รับการยอมรับและคะแนนเสียงส่วนหนึ่งจากกลุ่มนี้

เรื่องที่ห้า อาจารย์ชัชชาติ ถือว่าเกิดมาบน “กองเงินกองทอง” แต่มีลูกชายที่เกิดมาหูหนวก จึงได้ผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดและทุกข์ทรมานโดยไม่ยอมแพ้ และเพียรพยายามเสาะหาความรู้จนพบแพทย์ที่ทำการผ่าตัดรักษาให้จนสำเร็จ โดยตนเองกับภรรยาต้องช่วยกันฝึกฝนลูกอยู่นานแรมปีจนสามารถได้ยินและพูดได้ ซึ่งโอกาสเช่นนั้นอาจมีเพียง 1 ในล้าน ความสำเร็จนี้ต้องถือเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นอันหนึ่งของอาจารย์ชัชชาติ ที่ใครก็ตามที่รับรู้ย่อมเชื่อมั่นว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาที่ยากยิ่งอย่างปัญหาของ กทม. ได้

เรื่องที่หก อาจารย์ชัชชาติมีไลฟ์สไตล์ที่ “โดนใจ” คนที่รักสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อม โดยการรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย ขี่จักรยาน และสามารถทุ่มเททำงานหนัก หามรุ่งหามค่ำได้อย่างดี จึงได้คะแนนนิยมจากกระแสรักสุขภาพที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มาราว 4 ทศวรรษแล้ว

คุณสมบัติส่วนตัวเหล่านี้ คือพื้นฐานสำคัญสำหรับคนทำงานการเมือง แต่การที่อาจารย์ชัชชาติได้คะแนนอย่างถล่มทลาย มาจากปัจจัยร่วมอื่นๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป

***************